ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
methimazole กับคนท้อง

คนไข้เป็นโรคไทรอยด์เป็นพิษ แพทย์ให้รับประทานยา methimazole มาตลอด จนกระทั่งทราบว่าท้องได้ 1 เดือน แพทย์จึงเปลี่ยนยาเป็น PTU อยากทราบว่าในช่วงก่อนจะทราบว่าตั้งครรภ์ ยา methimazole จะมีผลอย่างไรกับเด็กบ้าง และมีสถิติหรือไม่

[รหัสคำถาม : 341] วันที่รับคำถาม : 11 ม.ค. 65 - 15:21:39 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ (hyperthyroidism) เกิดจากการมีระดับฮอร์โมนไทรอยด์ที่ผลิตจากต่อมไทรอยด์ในกระแสเลือดสูงกว่าปกติ ได้แก่ Triiodothyronine: T3 และ Thyroxine: T4 ซึ่งในระหว่างตั้งครรภ์ จะมีการผลิต Thyroxine (T4) และ Triiodothyronine (T3) เพิ่มขึ้นเกือบ 50%
ซึ่งจะส่งผลให้ ผู้ป่วย มีอาการแสดง ได้แก่ ใจสั่น มือสั่น เหนื่อยง่าย กินเยอะแต่น้ำหนักลด ขี้หงุดหงิด เหงื่อออกมาก ยาที่ใช้รักษาจะเป็นกลุ่ม thionamides ซึ่งที่มีใช้ในประเทศไทย คือ propylthiouracil (PTU) และ methimazole (MMI) โดยในการตั้งครรภ์จะใช้ขนาดยา propylthiouracil (PTU) 200-400 มิลลิกรัม แบ่งให้วันละ3 ครั้งและ methimazole (MMI) ในขนาด 10-20 มิลลิกรัมต่อวัน วันละครั้ง พบผลข้างเคียงที่ไม่รุนแรงจากการใช้ยาทั้งสองชนิด โดยพบประมาณร้อยละ 1-5 เช่น อาการคันตามตัว และผื่นแดง ปวดข้อ สำหรับ PTU อาจพบผลข้างเคียงที่รุนแรงได้ ที่สำคัญ คือ ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (agranulocytosis) ซึ่งจะเกิดแบบไม่ขึ้นกับปริมาณยา และภาวะตับอักเสบ[1]
ทั้ง MMI และ PTU จัดเป็น Pregnancy Category D หมายถึง มีหลักฐานเชิงเกี่ยวกับความเสี่ยงต่อทารกในครรภ์ของมนุษย์ แต่ประโยชน์จากการใช้ยาในสตรีมีครรภ์อาจเป็นที่ยอมรับได้แม้ว่าจะมีความเสี่ยง ซึ่งมักจะเป็นการใช้ยาเพื่อช่วยชีวิตมารดาหรือเป็นการใช้ยาเพื่อรักษาโรคที่รุนแรงซึ่งไม่มียาอื่นที่ปลอดภัยหรือมีประสิทธิภาพ[2] การใช้ยา MMI ขณะตั้งครรภ์โดยเฉพาะช่วงไตรมาสแรก (ช่วงอายุครรภ์ 6-10 สัปดาห์) จะก่อให้เกิดทารกวิรูปได้โดยเฉพาะเมื่อใช้ในขนาดสูง ≥15 มิลลิกรัมต่อวัน ความผิดปกติของทารกที่พบ ได้แก่ ภาวะไม่มีผิวหนังปกคลุมแต่กำเนิด (aplasia cutis congenita) ความผิดปกติบริเวณกะโหลกศีรษะและใบหน้าแต่กำเนิด (craniofacial malformations) ความพิการแต่กำเนิดของผนังหน้าท้องบริเวณ (exomphalos) และภาวะหลอดอาหารตีบตันแต่กำเนิด (esophageal atresia)[3] จากสถิติในการเกิดความผิดปกติในการใช้ MMI ในการตั้งครรภ์ พบว่า มีความเกี่ยวข้องกับความพิการแต่กำเนิดในเด็กทารก 3.4% (44 รายต่อ 5 ล้านคนต่อ 10 ปี) ซึ่งความถี่ของการเกิดความพิการแต่กำเนิดหลังการได้รับ MMI สูงกว่าการเกิดภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (agranulocytosis) และภาวะตับอักเสบในมารดาที่ได้รับยารักษาภาวะไทรอยด์เป็นพิษขณะตั้งครรภ์[4] สำหรับการใช้ยา PTU ในช่วงการตั้งครรภ์ไตรมาสแรก ไม่พบการเกิดทารกวิรูปและอุบัติการณ์ในการเกิดหรือพบภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ (hypothyroidism) ในเด็กแรกเกิด แต่จะพบการเกิดอุบัติการณ์ดังกล่าวหากมีการใช้ยาในช่วงการตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 2 และ 3 เนื่องจากการสร้าง ฮอร์โมนไทรอยด์ยังไม่เริ่มสร้างจนกว่าจะถึงสัปดาห์ที่ 11 หรือ 12 ของการตั้งครรภ์[3] รวมทั้งอาจพบอาการไม่พึงประสงค์ที่เป็นอันตรายต่อตับของมารดา ดังนั้นในผู้ป่วยที่ตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาสแรก ควรรักษาด้วย PTU เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดทารกวิรูปจากการได้รับ MMI และพิจารณาเปลี่ยนมาใช้ MMI แทนในการตั้งครรภ์ในไตรมาสที่ 2 และ 3[5,6] โดยในผู้ป่วยที่ได้รับ MMI อยู่ให้เปลี่ยนเป็น PTU ในอัตราส่วน MMI : PTU คือ 1 : 20 (เช่น 5 มิลลิกรัม MMI : 100 มิลลิกรัม PTU) อย่างไรก็ตามในผู้ที่ไม่สามารถทนอาการไม่พึงประสงค์ของ MMI สามารถรักษาด้วย PTU แทนได้แต่ลดขนาดยาลง โดยเริ่มใช้ขนาด 100-200 มิลลิกรัมต่อวัน และเมื่อควบคุมอาการให้อยู่ในระดับปกติ ได้แล้วให้ใช้ในขนาด 50-100 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งจะไม่ส่งผลต่อระดับสติปัญญาของทารก ร่วมกับการติดตามการทำงานของตับของมารดา[1]


เอกสารอ้างอิง
[1]. Erik K. Alexander, Elizabeth N. Pearce, Gregory A. Brent, Rosalind S. Brown, Herbert Chen,Chrysoula Dosiou,et al. 2017 Guidelines of the American Thyroid Association for the Diagnosis and Management of Thyroid Disease During Pregnancy and the Postpartum.Thyroid. 2017; 27:345-347.doi.org/10.1089/thy.2016.0457.
[2]. MIMS Online Thailand. Antithyroid drug [Internet]. 2016. Available from:
https://www.mims.com/thailand/drug/info/propylthiouracil.
[3]. Kahaly GJ , Bartalena L, Hegedüs L, Leenhardt L,Poppe K, Pearce SH. 2018 European Thyroid Association Guideline for the Management of Graves’ Hyperthyroidism. Eur. Thyroid. J.2018;7:177-178.
doi.org/10.1159/000490384.
[4]. Andersen SL, Olsen J, Laurberg P. Antithyroid Drug Side Effects in the Population and in Pregnancy.
J. Clin. Endocrinol. Metab. 2016 Apr;101(4):1606-14. doi: 10.1210/jc.2015-4274. Epub 2016 Jan 27. PMID: 26815881.
[5]. Hackmon R, Blichowski M, Koren G. The safety of methimazole and propylthiouracil in pregnancy: a systematic review. J. Obstet. Gynaecol. Can. 2012 Nov;34(11):1077-86.
doi: 10.1016/S1701-2163(16)35438-X. PMID: 23231846.
[6]. Karras S, Tzotzas T, Kaltsas T, Krassas GE. Pharmacological treatment of hyperthyroidism during lactation: review of the literature and novel data.
Ped. Endocrinol. Rev. 2010 Sep;8(1):25-33. PMID: 21037541.

วันที่ตอบ : 25 ม.ค. 65 - 14:13:06




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110