ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
ข้อแตกต่างbrufen&diclofenac

ทำไมคนไข้ที่มีอาการปวดตึงกล้ามเนื้อถึงเลือกให้diclofenac ทั้งที่brufenก้อเป็นNSAIDเหมือนกัน

[รหัสคำถาม : 343] วันที่รับคำถาม : 14 ม.ค. 65 - 13:53:13 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

ภาวะปวดตึงกล้ามเนื้อ (myalgia) มักเกิดขึ้นร่วมกับอาการกล้ามเนื้อล้า (muscle fatigue) กล้ามเนื้อเกร็ง
(cramp and spasm) กล้ามเนื้ออ่อนแรง (muscle weakness) โดยสาเหตุของอาการปวดกล้ามเนื้อมักเป็นผลมาจาก
การใช้กล้ามเนื้อทำกิจกรรมต่างๆ มากเกินหรือใช้ท่าเดิมซ้ำๆ จนเกิดการสะสมของของเสียในกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อหดตัว
และขาดออกซิเจนทำให้ปวดกล้ามเนื้อได้ โดยคำแนะนำของ American College of Physicians (ACP) และ
American Academy of family Physicians [AAFP] [1] แนะนำการใช้ในรูปแบบยาทาเฉพาะที่
topical Non-steroidal anti-inflammatory drugs (topical NSAIDs) เดี่ยวๆ หรือใช้ร่วมกับ menthol gel
เป็นการรักษาลำดับแรก (first-line therapy) ในกรณีที่มีอาการรุนแรงน้อย เนื่องจากยาทาเฉพาะที่ NSAIDs
ให้ผลลัพธ์ที่ดีทั้งในแง่ของประสิทธิภาพในการบรรเทาปวดที่เทียบเท่ายารูปแบบรับประทานและก่อให้เกิดผลข้างเคียงค่อนข้างน้อย
จากข้อมูลการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ (systematic review) และการวิเคราะห์อภิมาน (meta-analysis)[2]
เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยาทาเฉพาะที่ topical NSAIDs ในการรักษาอาการปวดกล้ามเนื้ออย่างเฉียบพลันในผู้ใหญ่
พบว่า ยา diclofenac ibuprofen ketoprofen และ piroxicam มีประสิทธิภาพในรักษาที่สูง
อาการข้างเคียงที่พบส่วนใหญ่เป็นอาการทางผิวหนัง[3 ]เช่น มีผื่น คันบริเวณผิวหนัง ผิวหนังอักเสบบริเวณที่ทา เป็นต้น ในระดับไม่รุนแรง
และเกิดขึ้นในระยะเวลาชั่วคราว พบอาการไม่พึงประสงค์ต่อทางเดินอาหารน้อยมาก
...
ในกรณีที่มีอาการปวดตึงกล้ามเนื้อรุนแรง แนะนำให้ใช้ยากลุ่ม NSAIDs ในรูปแบบยารับประทาน โดยยากลุ่ม
NSAIDs จะแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ traditional NSAIDs หรือ nonselective COX inhibitors ประกอบด้วยยา
ibuprofen diclofenac naproxen piroxicam mefenamic acid เป็นต้น และกลุ่ม selective COX-2 inhibitors
เช่น celecoxib etoricoxib เป็นต้น จากการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ (systematic review) ของการศึกษา
วิจัยทางคลินิกแบบสุ่มชนิดมีกลุ่มควบคุม (randomized, double-blind study)[4] เกี่ยวกับประสิทธิภาพการรักษาและ
การก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ โดยการให้ยารับประทานกลุ่ม NSAIDs เพียงครั้งเดียว พบว่ายา ibuprofen
diclofenac naproxen และ piroxicam มีประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการปวดได้เท่าเทียมกันขึ้นกับขนาดยาที่ได้รับ
ระยะเวลาที่ยาเริ่มออกฤทธิ์บรรเทาอาการปวดโดยเฉลี่ยภายใน 30-60 นาที หลังรับประทานยา[5] ยาส่วนใหญ่มีความถี่
ในการบริหารวันละ 2-3 ครั้งต่อวัน ยกเว้น piroxicam ที่สามารถบริหารวันละครั้งได้ การบริหารยา NSAIDs ในรูปแบบ
ยารับประทานมีข้อควรระวังในเรื่องการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ในระบบต่างๆ ดังนี้
: อาการไม่พึงประสงค์ทางระบบประสาท[6] เช่น ปวดศีรษะ มึนงง ซึม เป็นต้น พบว่า ยา Indomethacin
ก่อให้เกิดอาการทางระบบประสาทได้มากที่สุด
:อาการไม่พึงประสงค์ต่อระบบทางเดินอาหารที่ทำให้เกิดการอักเสบหรือเกิดแผลในกระเพาะอาหาร[7] พบว่า ยา
ในกลุ่ม selective COX-2 inhibitors เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ต่อทางเดินอาหารน้อยกว่ากลุ่ม
traditional NSAIDs โดยยากลุ่ม traditional NSAIDs ที่ก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ต่อทางเดินอาหารได้น้อยเมื่อ
เปรียบเทียบกับยาตัวอื่นในกลุ่ม คือ diclofenac ส่วนยา ketorolac ก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ต่อระบบทางเดินอาหาร
ได้สูงที่สุด
:อาการไม่พึงประสงค์ต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด[8] พบว่า ในยา กลุ่ม traditional NSAIDs naproxen
มีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดน้อยที่สุด และ diclofenac มีความเสี่ยงใน
การก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์สูงกว่า naproxen สำหรับยากลุ่ม selective COX-2 inhibitors
โดยเฉพาะ etoricoxib มีความเสี่ยงในการก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดได้มากที่สุด
...
ดังนั้นการใช้ยากลุ่ม NSAIDs เพื่อรักษาอาการปวดเกร็งกล้ามเนื้อในเบื้องต้น ควรพิจารณาเลือกใช้ในรูปแบบ
ยาทาเฉพาะที่ก่อนเป็นอันดับแรกเนื่องจากยามีประสิทธิภาพที่ดีและก่อให้เกิดผลข้างเคียงค่อนข้างต่ำ
ในกรณีที่มีอาการปวดกล้ามเนื้อระดับรุนแรง ให้เปลี่ยนเป็นยารูปแบบรับประทานแทน โดยเมื่อพิจารณาจากประสิทธิภาพการรักษา
และการก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ต่อระบบต่างๆ ตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น จึงนิยมเลือกใช้ยารับประทาน diclofenac
ในการบรรเทาอาการปวดตึงกล้ามเนื้อ

เอกสารอ้างอิง :
[1]. Qaseem A, et al. Nonpharmacologic and pharmacologic management of acute pain from non-low back,
musculoskeletal injuries in adults: A clinical guideline from the American College of Physicians
and American Academy of Family Physicians. Ann. Intern Med. 2020;173(9):739-748.
doi:10.7326/M19-3602.
[2]. Derry S, et al. Topical NSAIDs for acute musculoskeletal pain in adults. Cochrane Database of
Systematic Reviews 2015, Issue 6. Art. No.: CD007402. DOI: 10.1002/14651858.CD007402.pub3.
Accessed 22 November 2022.
[3]. Bamrungsawad N, et al. Safety of topical non-steroidal anti-inflammatory drugs (NSAIDs) using
the thai health product vigilance center database. Thai Bulletin Pharmaceutical Sciences [อินเทอร์เน็ต].
2020 [เข้าถึงเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2565];59-72. เข้าถึงได้จาก https://li01.tci-thaijo.org/index.php/TBPS/article/view/243019.
[4]. Ong CK, et al. An evidence-based update on nonsteroidal anti-inflammatory drugs. Clin. Med. Res. 2007 Mar;5(1):19-34.
doi: 10.3121/cmr.2007.698. PMID: 17456832; PMCID: PMC1855338.
[5]. Ghlichloo I, Gerriets V. Nonsteroidal Anti-inflammatory Drugs (NSAIDs) [Updated 2022 May 19].
In: StatPearls [Internet]. Treasure Island (FL): StatPearls Publishing; 2022 Jan. Available from:
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK547742/.
[6]. Marjoribanks J, et al. Nonsteroidal anti-inflammatory drugs for dysmenorrhoea. Cochrane
Database Syst Rev. 2015 Jul. 30;2015(7):CD001751. doi: 10.1002/14651858.CD001751.pub3. PMID:
26224322; PMCID: PMC6953236.
[7]. Lanas A, et al. Asociación Española de Gastroenterología. Risk of upper
gastrointestinal ulcer bleeding associated with selective cyclo-oxygenase-2 inhibitors, traditional non-aspirin non-steroidal
anti-inflammatory drugs, aspirin and combinations. Gut. 2006 Dec;55(12):1731-8. doi:
10.1136/gut.2005.080754. Epub 2006 May. 10. PMID: 16687434; PMCID: PMC1856452.
[8]. McGettigan P, Henry D. Cardiovascular risk with non-steroidal anti-inflammatory drugs:
systematic review of population-based controlled observational studies. PLoS Med. 2011
Sep;8(9):e1001098. doi: 10.1371/journal.pmed.1001098. Epub 2011 Sep. 27. PMID: 21980265;
PMCID: PMC3181230.

วันที่ตอบ : 09 ม.ค. 66 - 10:00:31




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110