ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
Zinc ที่ใช้รักษาสิว

Zinc ใช้รักษาสิว ใช้ขนาดเท่าไร?

[รหัสคำถาม : 346] วันที่รับคำถาม : 19 ม.ค. 65 - 21:15:48 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

สิว (Acne vulgaris) เกิดจากมีการผลิตไขผิวหนัง (sebum) มากกว่าปกติ, รูขุมขนอุดตันจากการสร้างเคราตินมากเกิน, และมีการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย Cutibacterium acnes ทำให้เกิดการอักเสบของสิว[1] ความรุนแรงของสิวแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ สิวระดับรุนแรงน้อย (ส่วนใหญ่เป็นสิวหัวขาวหรือสิวหัวดำ พบสิวตุ่มนูนและตุ่มหนองเล็กน้อย), สิวระดับรุนแรงปานกลาง (มีการกระจายของสิวหัวขาวและหัวดำ และพบพบสิวตุ่มนูนและตุ่มหนองมาก) และ สิวระดับรุนแรงมาก (มีสิวตุ่มนูนขนาดใหญ่ และมีสิวอักเสบเป็นตุ่มหนองขนาดใหญ่ (nodules, cysts) และมีแผลเป็น[2] ยาที่ใช้รักษาจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของสิว ดังนี้ 1) สิวระดับรุนแรงน้อย แนะนำให้ใช้ยาทาเฉพาะที่ เช่น Benzoyl Peroxide (BP) หรือ อนุพันธ์วิตามินเอ (Retinoid) หรือการใช้ยารูปแบบทาเฉพาะที่ร่วมกัน เช่น BP + ยาปฏิชีวนะ (เช่น clindamycin, erythromycin) หรือ Retinoid + BP หรือ Retinoid + BP + ยาปฏิชีวนะ 2) สิวระดับรุนแรงปานกลาง แนะนำให้ใช้ยารูปแบบทาเฉพาะที่หลายชนิดร่วมกัน (เช่น BP + ยาปฏิชีวนะ, Retinoid + BP, Retinoid + BP + ยาปฏิชีวนะ) หรือ ใช้ยาปฏิชีวนะรูปแบบรับประทาน (เช่น tetracycline, doxycycline, minocycline) ร่วมกับยารูปแบบทาเฉพาะที่ (เช่น Retinoid หรือ BP) และ 3) สิวระดับรุนแรงมาก แนะนำให้ใช้ยาปฏิชีวนะรูปแบบรับประทานร่วมกับยารูปแบบทาเฉพาะที่ หรือใช้ยา Isotretinoin รูปแบบรับประทาน[3]
สังกะสี (Zinc) เป็นแร่ธาตุที่มีในร่างกายมากเป็นอันดับสองรองจากธาตุเหล็ก (Iron) [4] มีหน้าที่หลายอย่าง เช่น ควบคุมการเผาผลาญอาหารในร่างกาย, เป็น cofactor ในการทำงานของเอนไซม์ต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการแบ่งตัวของเซลล์/การทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน/การสมานของแผล, ควบคุมกระบวนการอักเสบโดยยับยั้งการผลิตสารสื่อกลางที่ทำให้เกิดการอักเสบ เช่น ไนตริกออกไซด์, IL-6 และ TNF เป็นต้น และยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ 5alfa-reductase ส่งผลให้ฮอร์โมน dihydrotesterone (DHT) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของการเกิดสิวลดลง เป็นต้น[5]
สำหรับการใช้สังกะสี (zinc) ในการรักษาสิว จากการสืบค้นข้อมูล พบการศึกษา เช่น
1) การศึกษาแบบสุ่มซึ่งเปรียบเทียบ zinc sulfate 200 มิลลิกรัม (เท่ากับแร่ธาตุ zinc 45 มิลลิกรัม) รับประทานครั้งละ 1 เม็ด วันละ 2 ครั้ง เทียบกับยาหลอก พบว่า เมื่อประเมินโดยผู้ใช้ยาเอง เริ่มพบความแตกต่างของผลการรักษาระหว่างทั้งสองกลุ่ม ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 4 และมีความแตกต่างมากขึ้นในสัปดาห์ 12 ของการรักษา (P<0.05, 0.02 ตามลำดับ) ส่วนการประเมินโดยแพทย์ จะพบความแตกต่างของผลการรักษาระหว่างกลุ่มในสัปดาห์ที่ 12 เท่านั้น(P<0.01)[6]
2) การศึกษาแบบสุ่มในผู้ที่เป็นสิวระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง โดยเปรียบเทียบ zinc sulfate 220 มิลลิกรัม (เท่ากับ แร่ธาตุ zinc 50 มิลลิกรัม) กับยาหลอก รับประทานครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3 ครั้ง พบว่า ที่ 12 สัปดาห์หลังจากใช้ยา จำนวนสิวหัวหนองในกลุ่ม zinc sulfate มีการลดลงมากกว่ากลุ่มยาหลอก (ลดลงร้อยละ 37 และ ร้อยละ 0 ตามลำดับ, P=0.02 ) แต่จำนวนสิวอุดตันและสิวตุ่มนูนของทั้งสองกลุ่มไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ (zinc sulfate ลดลงร้อยละ 47, กลุ่มยาหลอลดลงร้อยละ 37) กลุ่ม zinc sulfate เกิดผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหารร้อยละ 40[7]
3) การศึกษาแบบสุ่มซึ่งเปรียบเทียบ zinc gluconate 30 มิลลิกรัม กับ minocycline 100 มิลลิกรัม เป็นระยะเวลา 3 เดือน พบว่า เมื่อประเมินผลในวันที่ 90 อัตราความสำเร็จของการรักษา (clinical success rate คือ มีการลดลงของสิวอักเสบมากกว่า 2 ใน 3 บนใบหน้า) ในกลุ่ม zinc gluconate เท่ากับร้อยละ 31.2 และ กลุ่ม minocycline เท่ากับ ร้อยละ 63.4 โดยมีช่วงความเชื่อมั่นของความแตกต่างที่ร้อยละ 90 เท่ากับ –40.86 ถึง –23.42 ส่วนผลลัพธ์อื่น ๆ เช่น จำนวนสิวหัวเปิด/ปิดบนใบหน้า พบว่า ในวันที่ 30, 60 และ 90 กลุ่ม zinc gluconate มีจำนวนสิวลดลงร้อยละ 31.78, 42.09 และ 49.84 ตามลำดับ ส่วนกลุ่ม Minocycline มีจำนวนสิวลดลง ร้อยละ 40.71, 53.33 และ 66.55 ตามลำดับ โดยมีความแตกต่างระหว่างกลุ่มของจำนวนสิวหัวเปิด/ปิดบนใบหน้า เท่ากับร้อยละ 8.9 ในวันที่ 30 (p = 0.002), ร้อยละ 11.2 ในวันที่ 60 (p<0.001) และ ร้อยละ 16.7 ในวันที่ 90 (p<0.001)[8]

โดยสรุป ขนาดยาของ Zinc ที่ใช้รักษาสิว ข้อมูลจากหลาย ๆ การศึกษามีความแตกต่างกันดังรายละเอียดข้างต้น อาการข้างเคียงที่อาจพบได้ เช่น คลื่นไส้, อาเจียน, ปวดท้อง[4,5,9] โดยทั่วไปในการรักษาสิว นอกจากการใช้ยาตามแนวทางการรักษาและเลือกให้เหมาะกับชนิดของสิวแล้ว ควรมีการปรับเปลี่ยนวิธีการปฏิบัติตัว เช่น ไม่ถูหรือล้างหน้าแรง ๆ, หลีกเลี่ยงความเครียด, เลือกใช้เครื่องสำอางที่เหมาะสม เป็นต้น[1] และควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา รวมทั้งมีการติดตามอาการไม่ประสงค์จากการยา


เอกสารอ้างอิง
[1] Pathogenesis, clinical manifestations, and diagnosis of acne vulgaris [Internet]. Hudson, Ohio: Hudson, Ohio: Wolters Kluwer UpToDate, Inc.; 2022 [cited 2022 Jan 27].
[2] Diagnosis-Acne [Internet]. National Health Service. [cited 2022 Jan 27]. Accessed on: https://www.nhs.uk/conditions/acne/diagnosis/
[3] Zaenglein AL, Pathy AL, Schlosser BJ, Alikhan A, Baldwin HE, Berson DS, et al. Guidelines of care for the management of acne vulgaris. J Am Acad Dermatol. 2016 May;74(5):945-73.e33.
[4] Saper RB, Rash R. Zinc: an essential micronutrient. Am Fam Physician. 2009 May 1;79(9):768-72. PMID: 20141096; PMCID: PMC2820120.
[5] Cervantes J, Eber AE, Perper M, Nascimento VM, Nouri K, Keri JE. The role of zinc in the treatment of acne: A review of the literature. Dermatol Ther. 2018 Jan;31(1).
[6] Hillström L, Pettersson L, Hellbe L, Kjellin A, Leczinsky CG, Nordwall C. Comparison of oral treatment with zinc sulphate and placebo in acne vulgaris. Br J Dermatol. 1977 Dec;97(6):681-4.
[7] Weimar VM, Puhl SC, Smith WH, tenBroeke JE. Zinc sulfate in acne vulgaris. Arch Dermatol. 1978 Dec;114(12):1776-8. PMID: 153730.
[8] Dreno B, Moyse D, Alirezai M, Amblard P, Auffret N, Beylot C, Bodokh I, Chivot M, Daniel F, Humbert P, Meynadier J, Poli F; Acne Research and Study Group. Multicenter randomized comparative double-blind controlled clinical trial of the safety and efficacy of zinc gluconate versus minocycline hydrochloride in the treatment of inflammatory acne vulgaris. Dermatology. 2001;203(2):135-40.
[9] Yee BE, Richards P, Sui JY, Marsch AF. Serum zinc levels and efficacy of zinc treatment in acne vulgaris: A systematic review and meta-analysis. Dermatol Ther. 2020 Nov;33(6):e14252.

วันที่ตอบ : 27 ก.พ. 65 - 17:58:10




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110