ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
ถ้าทานแอลกอฮอล์แล้ากินยาแก้แพ้ไดไหมครับ

ถ้ารับประทานเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์สามารถทานยาแก้แพ้ไดไหม

[รหัสคำถาม : 348] วันที่รับคำถาม : 19 ม.ค. 65 - 21:57:54 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

ยาต้านฮิสทามีน (antihistamines) มีข้อบ่งใช้หลายอย่าง ได้แก่ ช่วยบรรเทาอาการในโรคภูมิแพ้และรักษาอาการแพ้ จึงมักเรียกยาชนิดนี้ว่า ยาแก้แพ้ นอกจากนี้ยังใช้บรรเทาอาการในโรคหวัด โรคหืด เวียนศีรษะ และเมารถเมาเรือ1 ในที่นี้ขอกล่าวถึงยาต้านฮิสทามีนที่ใช้บรรเทาอาการในโรคภูมิแพ้และรักษาอาการแพ้เป็นหลัก
ยาต้านฮิสทามีน มีฤทธิ์ต้านสารฮิสทามีน (histamine) ซึ่งเป็นสารก่อภูมิแพ้ โดยมีกลไกการออกฤทธิ์ คือ ยาแย่งสารฮิสทามีน (histamine) ในการจับกับตัวรับฮิสทามีน (histamine1 receptor)2
ยาต้านฮิสทามีน2-4 แบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ
1. กลุ่มยาต้านฮิสทามีนที่ทำให้ง่วงนอนหรือสงบประสาทหรือรุ่นที่ 1 (sedating, first-generation antihistamines) เช่น brompheniramine, chlorpheniramine, dexchlorpheniramine, diphenhydramine เป็นต้น
2. กลุ่มยาต้านฮิสทามีนที่ไม่ทำให้ง่วงนอนหรือไม่ทำให้สงบประสาทหรือรุ่นที่ 2 (nonsedating, second-generation antihistamines) เช่น cetirizine, loratadine, fexofenadine, desloratadine, levocetirizine เป็นต้น บางแหล่งข้อมูลจัดยา fexofenadine, desloratadine และ levocetirizine ให้อยู่ในกลุ่มยาต้านฮิสทามีนรุ่นที่ 3
อาการไม่พึงประสงค์ของยาต้านฮิสทามีนที่สำคัญ4,5 มีดังนี้
- ฤทธิ์กดระบบปราสาทส่วนกลาง ทำให้เกิดอาการง่วงนอน ดังนั้นควรระมัดระวังการขับขี่ยวดยานพาหนะหรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล นอกจากนี้อาจพบอาการเวียนศีรษะ รู้สึกสับสน กระวนกระวาย อ่อนเพลีย และปวดศีรษะได้ พบมากในกลุ่มยาต้านฮิสทามีนที่ทำให้ง่วงนอนหรือยาต้านฮิสทามีนรุ่นที่ 1
- ฤทธิ์ต้านโคลิเนอร์จิก (cholinergic) ทำให้ปัสสาวะลำบาก และมีการคั่งของน้ำปัสสาวะ ตาหร่า เห็นภาพซ้อน มีอาการปาก จมูก และคอแห้ง และเสมหะเหนียว พบมากในกลุ่มยาต้านฮิสทามีนที่ทำให้ง่วงนอน เช่นกัน
ยาต้านฮิสทามีนมีฤทธิ์กดระบบปราสาทส่วนกลาง โดยเฉพาะกลุ่มยาต้านฮิสทามีนที่ทำให้ง่วงนอน ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยาต้านฮิสทามีนร่วมกับยาที่มีฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลางชนิดอื่น เช่น ยากลุ่ม barbiturates, tranquilizers ยาแก้ปวดกลุ่มสารเสพติด (narcotic analgesics) ยารักษาโรคซึมเศร้า (tricyclic antidepressants) รวมทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (alcohol)1,4
จากการศึกษาที่เป็นการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ (systematic review) ของการใช้ยาต้าน ฮิสทามีนรุ่นที่ 2 (มีฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลางน้อยกว่ายาต้านฮิสทามีนรุ่นที่ 1) ร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์6 โดยขอยกตัวอย่างยาต้านฮิสทามีนรุ่นที่ 2 ที่ใช้บ่อย (เช่น cetirizine) มีรายงานว่า เมื่อให้อาสาสมัครใช้ยา cetirizine (ขนาดปกติ 10 มิลลิกรัม) และภายใน 2 ชั่วโมงหลังจากนั้นให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (0.43 กรัม/น้ำหนักตัวของผู้ชายและ 0.36 กรัม/น้ำหนักตัวของผู้หญิง) หลังจากนั้นมีการทดสอบการขับรถของอาสาสมัครพบว่า การใช้ยา cetirizine ร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในอาสาสมัครทั้งสองเพศไม่มีผลต่อการขับรถอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพียงอย่างเดียว แต่มีการศึกษาที่ให้ผลขัดแย้งกัน โดย
เมื่อการใช้ยา cetirizine (ขนาดปกติ 10 มิลลิกรัม) ร่วมกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พบว่า ทำให้ประสิทธิภาพในการขับรถลดลงอย่างชัดเจน
สรุป หากมีการใช้ยาต้านฮิสทามีนหรือยาแก้แพ้ ควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากหากใช้ยานี้ร่วมกันเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะมีผลให้ฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลางเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อการทำงานและการขับขี่ยวดยานพาหนะได้

เอกสารอ้างอิง
1. McEvoy GK, Snow EK, Miller J, editors. Antihistamine drugs. In: AHFS Drug information. Bethesda: the American Society of Health-System Pharmacists; 2016. p. 1-8.
2. Weitz M, Davis KJ, editors. Histamine and antihistamines. In: Basic concepts in pharmacology [Internet]. 6th ed. New York: McGraw Hill; 2022 [cited 2022 May 16]. Available from https://www.accessmedicine.mhmedical.com.
3. Kennard L. Respiratory system. In: Brown MJ, Sharma P, Mir FA, et al., editors. Clinical pharmacology [Internet]. 20th ed. Philadelphia: Elsevier; 2019 [cited 2022 May 16]. Available from https://www.clinicalkey.com
4. Eiwegger T, Simons FER, Akdis CA. Histamine and antihistamines. In: Burks AW, Bacharier LB, Holgate ST, et al., editors. Middleton’s allergy: principles and practice. 9th ed. Edinburgh: Elsevier; 2020. p. 1487- 1517.
5. Hetland A, Carr DB. Medications and impaired driving: a review of the literature
Ann Pharmacother 2014; 48(4): 494–506.
6. Pasko P, Rodacki T, Domagała-Rodacka R, et al. Second generation H1-antihistamines interaction with food and alcohol—a systematic review. Biomed Pharmacother 2017; 93: 27-39.


วันที่ตอบ : 17 พ.ค. 65 - 14:15:03




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110