ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
ยาพาราสามารถระงับการปวดหัวไมเกรนได้จริงหรือไม่?

เท่าที่ทราบมา อาการไมเกรน จะมียาแก้ปวดไมเกรนโดยเฉพาะ จึงอยากทราบว่า กรณีที่ยาไมเกรนหมดหรือลืมพกติดตัว ยาพาราเซตามอล สามารถใช้ทดแทนได้หรือไม่ ถ้าใช่ ประสิทธิภาพของยาจะเท่าเทียมกันหรือไม่

[รหัสคำถาม : 349] วันที่รับคำถาม : 19 ม.ค. 65 - 22:09:05 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

ไมเกรนเป็นอาการปวดศรีษะเรื้อรัง มักจะปวดศีรษะข้างเดียว มีลักษณะเป็นอาการปวดตุบ บางรายอาจมีอาการรุนแรง และอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้อาเจียน กลัวแสง ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดอาการปวดศรีษะไมเกรน เช่น ความเครียด, ภาวะซึมเศร้า , การใช้ยารักษาไมเกรนแบบเฉียบพลันมากเกินไป, โรคอ้วน[1,2] ประมาณหนึ่งในสามจะเป็นไมเกรนที่มีอาการเตือน (migraine with aura) เช่น เห็นแสงกะพริบเป็นจุดหรือเส้น, สูญเสียการมองเห็นชั่วคราว, มีอาการชา เป็นต้น[3,4]
การรักษาอาการปวดศรีษะไมเกรนเฉียบพลันขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ ดังนี้ อาการปวดไมเกรนระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง สามารถใช้ยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล, กลุ่มยาต้านอักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ [NSAIDs] หากมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วม สามารถให้ยาต้านอาเจียนในรูปแบบรับประทานหรือเหน็บทวารสามารถร่วมด้วย เช่น metoclopramide[3,5] ส่วนอาการปวดไมเกรนระดับปานกลางถึงรุนแรง หรือการปวดไมเกรนเล็กน้อยถึงปานกลางที่ตอบสนองต่อยาแก้ปวดดังกล่าวข้างต้นไม่ดี ยาที่จัดเป็นยาทางเลือกแรกคือกลุ่มยาที่จำเพาะต่อไมเกรน เช่น ยากลุ่มทริปแทน(Triptans), ยากลุ่มจีแพนท์ (gepants) หรือ small-molecule CGRP receptor antagonists (เช่น ubrogepant และ rimegepant) , ยากลุ่ม selective serotonin (5- HT1F) receptor agonist (เช่น lasmiditan) หากมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย สามารถให้ยาต้านอาเจียนหรือยาที่จำเพาะต่อไมเกรนที่ไม่ใช่รูปแบบรับประทาน เช่น sumatriptan ชนิดฉีดเข้าใต้ผิวหนัง, sumatriptan และ zolmitriptan ชนิดพ่นจมูก หรือ dihydroergotamine ชนิดฉีด [3,5] ตัวอย่างยาจำเพาะต่อไมเกรนที่มีจำหน่ายในประเทศไทยในรูปแบบรับประทาน เช่น letriptan, sumatriptan และ ergotamine + caffein[6]
สำหรับประสิทธิภาพของยาพาราเซตามอลในการรักษาอาการปวดศรีษะไมเกรน มีการศึกษาเช่น
1) การศึกษาแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมในผู้ป่วยอายุมากกว่า 18 ปี โดยเปรียบเทียบยาพาราเซตามอล 1,000 มิลลิกรัม กับ ยาหลอก พบว่า หลังจากรับประทานยา 2 ชั่วโมง อัตราการตอบสนองต่อยาในกลุ่มพาราเซตามอลสูงกว่ากลุ่มยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (ร้อยละ 57.8 และ 38.7 ตามลำดับ, P=.002) ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการปวดปวดศรีษะหลังจากรับประทานยา 2 ชั่วโมงในกลุ่มพาราเซตามอลสูงกว่ากลุ่มยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (ร้อยละ 22.4 และ 11.3 ตามลำดับ, P=.01) ส่วนด้านความสามารถในการทำงานที่ลดลงจากอาการปวดศรีษะ และ อาการกลัวแสงและเสียงในกลุ่มที่ได้รับพาราเซตามอลดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเช่นเดียวกัน (P=.002 และ P=.02 ตามลำดับ) ผลข้างเคียงจากยา เช่น คลื่นไส้อาเจียน ไม่มีความแตกต่างกัน[7]
2) การศึกษาแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมเปรียบเทียบยาพาราเซตามอล 1,000 มิลลิกรัม กับ ยาหลอก ในผู้ป่วยปวดหัวไมเกรนเป็นครั้งคราวในระดับปานกลางถึงมาก อายุ 18-72 ปี พบว่า:
• หลังจากรับประทานยา 2 ชั่วโมง จำนวนผู้ป่วยที่มีอาการปวดลดลงหรือไม่มีอาการปวดในกลุ่มที่ได้รับพาราเซตามอล สูงกว่ากลุ่มยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (ร้อยละ 52.0 และ 32.0 ตามลำดับ, P=.001) ค่าเฉลี่ยการเปลี่ยนแปลงของความปวดที่ลดลงหรือหายจากอาการปวด มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<.001) (กลุ่ม acetaminophen และกลุ่มยาหลอกมีค่าเฉลี่ยความปวดที่ลดลง =0.82 และ 0.46 ตามลำดับ (pain intensity 0 = ไม่ปวด, 1=ปวดเล็กน้อย, 2=ปวดปานกลาง, 3=ปวดมาก) ค่าเฉลี่ยความแตกต่างของความรุนแรงของอาการที่เกี่ยวข้องกับไมเกรน (อาการคลื่นไส้, กลัวแสง, กลัวเสียง และ ด้านความสามารถในการทำงานที่ลดลงเนื่องจากอาการปวดศรีษะ) ก่อนรับประทานยาเทียบกับหลังจากการรับประทานยาที่ 2 ชั่วโมง พบว่า ในกลุ่มพาราเซตามอล (มีค่าเฉลี่ยความแตกต่างเท่ากับ 0.64, 0.69, 0.67, 0.56 ตามลำดับ) เหนือกว่ากลุ่มยาหลอก (มีค่าเฉลี่ยความแตกต่าง0.19, 0.37, 0.33, 0.24 ตามลำดับ) (P<.001)
• ที่ 6 ชั่วโมงหลังจากรับประทานยา พบว่า ค่าเฉลี่ยการเปลี่ยนแปลงของความปวดที่ลดลงหรือหายจากอาการปวดในกลุ่มที่ได้รับพาราเซตามอล (0.72, 0.95, 0.90, 0.78 ตามลำดับ) เหนือกว่ากลุ่มยาหลอก (0.30, 0.47, 0.45, 0.29 ตามลำดับ ) เช่นเดียวกัน (P<.001) จำนวนของผู้ที่มีความรุนแรงของอาการอื่นที่เกี่ยวข้องกับไมเกรน (เช่น คลื่นไส้, กลัวแสง, กลัวเสียง และด้านความสามารถในการทำงานที่ลดลงเนื่องจากอาการปวดศรีษะ) มีการลดลงหรือหายจากอาการในกลุ่มพาราเซตามอล (ร้อยละ 53.5, 42.3, 42.6, 39.3 ตามลำดับ) เหนือกว่ากลุ่มยาหลอก (28.9, 25.8, 26.1, 23.8 ตามลำดับ) (P≤.002) [8]
3) การศึกษาแบบการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบและการวิเคราะห์อภิมานเครือข่าย (Network Meta-Analysis) ซึ่งเปรียบเทียบประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยาที่ใช้ในการรักษาไมเกรน พบว่า ที่ 2 ชั่วโมงหลังรับประทานยา eletriptan และ sumatriptan สามารถลดอาการปวดหัวไมเกรน เท่ากับ ร้อยละ 49.7 และ 60.4ตามลำดับ ซึ่งมากกว่าพาราเซตามอล (ร้อยละ 37.7) และ ยา ergots (ร้อยละ 38.4) นอกจากนี ยังพบว่า จำนวนผู้ป่วยที่มีอาการปวดหัวไมเกรนลดลงอย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมงในกลุ่ม Eletriptan และ Sumatriptan (ร้อยละ 47.3 และ 37.6 ตามลำดับ) มีมากกว่ากลุ่ม พาราเซตามอล ( ร้อยละ 29.3) และกลุ่ม Ergots (ร้อยละ 7.9%)[9]

โดยสรุป จากแนวทางการรักษาอาการปวดศรีษะไมเกรน การเลือกใช้ยาจะขึ้นกับความรุนแรงของอาการปวด โดยพาราเซตามอลสามารถเลือกใช้ในกรณีที่มีอาการปวดไม่รุนแรง ส่วนผู้ที่ไม่ตอบสนองต่อยาพาราเซตามอลหรือกลุ่มยาต้านอักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) หรือผู้ที่มีอาการปวดระดับปานกลางถึงรุนแรง ควรเลือกใช้กลุ่มยาที่จำเพาะต่อไมเกรน เช่น Eletriptan, Sumatriptan หรือ ยากลุ่ม Ergots


เอกสารอ้างอิง
[1] Pathophysiology, clinical manifestations, and diagnosis of migraine in adults [Internet]. Hudson, Ohio: Hudson, Ohio: Wolters Kluwer UpToDate, Inc.; 2022 [cited 2022 Jan 26].
[2] May A, Schulte LH. Chronic migraine: risk factors, mechanisms and treatment. Nat Rev Neurol. 2016 Aug;12(8):455-64.
[3] Ailani J, Burch RC, Robbins MS; Board of Directors of the American Headache Society. The American Headache Society Consensus Statement: Update on integrating new migraine treatments into clinical practice. Headache. 2021 Jul;61(7):1021-1039.
[4] Mayans L, Walling A. Acute Migraine Headache: Treatment Strategies. Am Fam Physician. 2018 Feb 15;97(4):243-251. PMID: 29671521.
[5] Acute treatment of migraine in adults [Internet]. Hudson, Ohio: Hudson, Ohio: Wolters Kluwer UpToDate, Inc.; 2022 [cited 2022 Jan 23].
[6] ตรวจสอบการอนุญาตผลิตภัณฑ์ยา[อินเตอร์เน็ต]. นนทบุรี: สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข. [เข้าถึงเมื่อ 24 มกราคม 65] เข้าถึงได้จาก: http://164.115.28.123/FDA_SEARCH_ALL/MAIN/ SEARCH _CENTER_MAIN.aspx
[7] Lipton RB, Baggish JS, Stewart WF, Codispoti JR, Fu M. Efficacy and safety of acetaminophen in the treatment of migraine: results of a randomized, double-blind, placebo-controlled, population-based study. Arch Intern Med. 2000 Dec 11-25;160(22):3486-92.
[8] Prior MJ, Codispoti JR, Fu M. A randomized, placebo-controlled trial of acetaminophen for treatment of migraine headache. Headache. 2010 May;50(5):819-33.
[9] Nicolas S, Nicolas D. Triptans. [Updated 2021 Oct 30]. In: StatPearls [Internet]. Treasure Island (FL): StatPearls Publishing; 2022 Jan-. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK554507/

วันที่ตอบ : 04 ก.พ. 65 - 10:33:16




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110