ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
ความเสี่ยงในการเกิด LSD ในผู้ฉีดวัคซีนเข็มสี่เพิ่มขึ้นหรือไม่

การฉีดวัคซีนเข็มที่สี่ เป็นการกระตุ้นให้เกิดโรคพุ่มพวงหรือไม่

[รหัสคำถาม : 355] วันที่รับคำถาม : 21 ม.ค. 65 - 19:08:51 ถามโดย : นักศึกษา วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

โรคพุ่มพวง หรือที่หมายถึง โรค Systemic lupus erythematosus (SLE) มีความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้มีการสร้างภูมิต่อต้านต่อเซลล์และส่วนประกอบต่าง ๆ ของเซลล์ของตนเอง มีผลทำให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อและอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกาย อาการของโรคมีตั้งแต่อาการน้อยมาก จนถึงมีอาการรุนแรงมาก หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีจะถึงแก่ชีวิตได้ ระบบที่มีความผิดปกติที่พบบ่อย คือ ผิวหนัง, ข้อ และไต[1]
มีรายงานกรณีศึกษาที่บ่งชี้ว่าการฉีดวัคซีนโควิด 19 อาจจะกระตุ้นทำให้เกิดโรค SLE ได้
กรณีหญิงชาวญี่ปุ่นวัย 53 ปี มีประวัติเกี่ยวกับโรคหอบหืด โรค Vogt–Koyanagi–Harada และโรค Hashimoto ซึ่งเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับ autoimmune ผู้ป่วยมีอาการหายใจลำบาก เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลพบว่า มีเกล็ดเลือดต่ำและมีภาวะโลหิตจางเล็กน้อย เกิดขึ้นหลังจากได้รับวัคซีน BNT162b2 mRNA COVID-19 (Pfizer®) เข็มที่ 2 ไป 3 สัปดาห์ มีผลบวกจากการทดสอบคูมบ์ส มีภาวะ Hypocomplementemia และ lupus anticoagulant ซึ่งบ่งชี้ถึงความสัมพันธ์กับโรคเอสแอลอี[2]
กรณีหญิงอายุ 27 ปี เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ไม่เคยป่วยด้วยโรค SLE พบว่า 2 สัปดาห์หลังจากได้รับวัคซีน SARS-CoV-2 mRNA-1273 (Moderna) เข็มที่สอง ผู้ป่วยมีอาการอ่อนเพลีย น้ำหนักลด 2 กก. ปวดข้อต่อส่วนปลาย (proximal interphalangeal), ข้อต่อ metacarpophalangeal (MCP) ข้อมือ เข่า และข้อเท้า และมีอาการตึงข้อต่อในตอนเช้าเป็นเวลานาน (1-2 ชั่วโมง) ผู้ป่วยไม่มีประวัติไข้ เบื่ออาหาร ไวต่อแสง ผื่นมาลาร์ ผมร่วง แผลที่เยื่อเมือก ผู้ป่วยถูกวินิจฉัยว่าเป็น SLE ด้วยอาการอ่อนเพลีย ข้ออักเสบ ผลตรวจของ ANA, anti-ds-DNA anti- bodies, anti-SSA/Ro และ anti-SSB/La antibodies เป็นบวก อย่างไรก็ตามมารดาของผู้ป่วยมีประวัติเป็น SLE [3]
จากกรณีศึกษาที่พบ covid 19 vaccine กระตุ้นให้เกิด SLE ได้ ตั้งแต่การฉีดในเข็มที่ 2 จากวัคซีนชนิด mRNA vaccine[2,3] คาดว่าจากอนุภาคนาโนของ mRNA ถูกเคลื่อนย้ายไปยังต่อมน้ำเหลืองและถูกเซลล์เดนไดรต์กิน เมื่อเข้าไปในเซลล์เดนไดรต์ แล้ว mRNA จะถูกจดจำ ใน endosome by toll-like receptors (TLRs) และเมื่อถูกกระตุ้นเป็นครั้งที่ 2 จะนำไปสู่การผลิต INF ชนิดที่ 1 และไซโตไคน์ที่มีการอักเสบ[3] ซึ่งเป็นกลไกเดียวกับการเกิดโรค SLE อย่างไรก็ตามทุกรายที่เกิด มีปัจจัยเสี่ยงหรือมีแนวโน้มที่จะเกิดได้ เช่น มีญาติสายตรงเป็น SLE หรือเป็นโรคออโตอิมมูนอยู่แล้ว[2,3] สำหรับวัคซีนชนิดอื่นที่ไม่ใช่วัคซีนชนิด mRNA ยังไม่พบรายงานการเกิด SLE

เอกสารอ้างอิง
[1]. Systemic Erythematosus Lupus SLE[อินเตอร์เน็ต]. คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล. [cited 2022 Feb 25]. เข้าถึงได้จาก: https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail. asp?aid=326
[2]. Hidaka D, Ogasawara R, Sugimura S, Fujii F, Kojima K, Nagai J, Ebata K, Okada K, Kobayashi N, Ogasawara M, Imamura M, Ota S. New-onset Evans syndrome associated with systemic lupus erythematosus after BNT162b2 mRNA COVID-19 vaccination. Int. J. Hematol. 2021 Oct. 23:1–4.
[3]. Báez-Negrón L, Vilá LM. New-Onset Systemic Lupus Erythematosus after mRNA SARS-CoV-2 Vaccination. Case Rep. Rheumatol. 2022 Feb. 11;2022:6436839.
[4]. Iacobucci G. Covid-19: Fourth vaccine doses-who needs them and why? BMJ. 2022 Jan. 7;376:o30.

วันที่ตอบ : 17 มี.ค. 65 - 12:22:29




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110