ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
บุหรี่ไฟฟ้ากับบุหรี่ธรรมดา

อยากทราบบุหรี่ไฟฟ้ากับบุหรี่ธรรมดาทั้ง 2 แบบ มีสารที่อันตรายเหมือนกันไหมครับ

[รหัสคำถาม : 356] วันที่รับคำถาม : 25 ม.ค. 65 - 21:33:10 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

สารเคมีในบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้ามีบางส่วนที่มีความแตกต่างกัน โดยองค์ประกอบภายในน้ำยาของบุหรี่ไฟฟ้ามีดังนี้ กลีเซอรีน 82%, น้ำ 9%, สารแต่งกลิ่นรส 7% และนิโคติน 2% ซึ่งภายหลังจากการได้รับความร้อนและเกิดเป็นไอ ไอของบุหรี่ไฟฟ้ามีองค์ประกอบดังนี้ กลีเซอรีน 73%, น้ำ 15%, สารแต่งกลิ่นรส 11% และนิโคติน 1% และมีสารที่เป็นอันตรายประมาณ 2,000 ชนิด เช่น นิโคติน, โพรพิลีน ไกลคอล, โลหะหนัก เช่น ดีบุก, ตะกั่ว, สารก่อมะเร็งต่าง ๆ ที่มีอนุภาคขนาดเล็กที่ลงลึกเข้าไปในปอดได้ ส่วนบุหรี่ทั่วไปมีสารเคมีที่เป็นองค์ประกอบประมาณ 600 ชนิด ซึ่งภายหลังจากการได้รับความร้อนและเผาไหม้ ควันของบุหรี่มีองค์ประกอบดังนี้ กลิ่นรสและผลิตภัณฑ์จากการเผาไหม้ 41%, คาร์บอนมอนอกไซด์ 34%, น้ำ 20%, นิโคติน 3% และกลีเซอรีน 2% ประกอบไปด้วยสารอันตรายมากกว่า 7,000 ชนิด ซึ่งมีผลต่อการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย และมีอย่างน้อย 70 ชนิดที่เป็นสารก่อมะเร็ง (carcinogens) เช่น nicotine, hydrogen cyanide, formaldehyde, lead, arsenic, ammonia, tobacco-specific nitrosa-mines (TSNAs), polycyclic aromatic hydrocarbons (PAHs) โดยสารสำคัญที่ก่อให้เกิดการเสพติดในบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าคือนิโคติน (nicotine) นอกจากนี้บุหรี่ไฟฟ้าใช้หลักการเกิดเป็นละอองที่อุณหภูมิ 50-60 C ซึ่งเป็นความร้อนต่ำจึงไม่เกิดผลิตภัณฑ์จากการเผาไหม้ เช่น คาร์บอนมอนอกไซด์ หรือน้ำมันดิน (tar) [1,2]
...
จากการศึกษาในรูปแบบการวิเคราะห์อภิมาณ (meta-analysis) เพื่อศึกษาผลของบุหรี่ไฟฟ้าต่อผลกระทบด้านหัวใจและปอด (cardiopulmonary health) ได้รายงานความสัมพันธ์ระหว่างการใช้บุหรี่ไฟฟ้ากับอุบัติการณ์การเกิดโรคที่เพิ่มขึ้น โดยพบว่ากลุ่มที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหอบหืด 1.39-3.41 เท่า (OR, 1.39-3.41 [95% CI, 1.15-6.49]), โรคระบบทางเดินหายใจ 1.31-2.58 เท่า (OR, 1.31-2.58 [95% CI, 1.03-4.89]), COVID-19 5.05 เท่า (OR, 5.05 [95% CI, 1.82-13.96), หายใจมีเสียงหวีด 1.67 เท่า (OR, 1.67 [95% CI, 1.23-2.151), และโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย 1.79 เท่า (OR, 1.79 [95% CI, 1.20-2.66) เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้สูบบุหรี่ไฟฟ้า [3]
...
การสูบบุหรี่ทำให้เกิดโรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคปอด โรคเบาหวาน และ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) ซึ่งรวมถึงโรคถุงลมโป่งพองและหลอดลมอักเสบเรื้อรัง การสูบบุหรี่ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นวัณโรค โรคตาบางชนิด และ ปัญหาของระบบภูมิคุ้มกัน รวมถึงโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ นอกจากนี้ผู้ที่ได้รับควันบุหรี่มือสองยังก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ ได้เช่นกัน ได้แก่ โรคหลอดเลือดสมอง มะเร็งปอด และโรคหลอดเลือดหัวใจ เด็กที่ได้รับควันบุหรี่มือสองมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นต่อการเสียชีวิตอย่างกะทันหัน การติดเชื้อทางเดินหายใจเฉียบพลัน โรคหูชั้นกลาง โรคหอบหืดรุนแรง อาการระบบทางเดินหายใจ และการเจริญเติบโตของปอด [4]
...
นอกจากนี้ การใช้บุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่ควบคู่กันยังมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจที่สูงขึ้น 1.36 เท่า (OR, 1.36 [95% CI, 1.18-1.56), และเพิ่มปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ รวมถึงภาวะอ้วนลงพุง 1.57 เท่า (OR, 1.57 [95% CI, 1.03-2.40]) เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้สูบทั้งบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า [3]
...
เอกสารอ้างอิง
[1]. Centers for Disease Control and Prevention (CDC). Smoking & Tobacco Use About Electronic Cigarettes (E-Cigarettes). Available from: https://www.cdc.gov/tobacco/basic_information/e-cigarettes/about-e-cigarettes.html Assessed November 21, 2022.
[2]. Rana Tayyarah, Gerald A. Long, Comparison of select analytes in aerosol from e-cigarettes with smoke from conventional cigarettes and with ambient air. Regulatory Toxicology and Pharmacology [Journal on the Internet] 2014; Volume 70, Issue 3, 2014, 704-10.
[3]. Neczypor EW, Mears MU, Ghosh A, Sassano MF, Gumina RJ, Wold LE, et al. E-Cigarettes and Cardiopulmonary Health: Review for Clinicians. Circulation [Journal on the Internet] 2022 18;145(3):219-232.
[4]. Centers for Disease Control and Prevention (CDC). Smoking & Tobacco Use. Health Effects. Available from: https://www.cdc.gov/tobacco/data_statistics/fact_sheets/health_effects/effects_cig_smoking/. Assessed November 28, 2022.

วันที่ตอบ : 10 ม.ค. 66 - 17:24:49




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110