ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
ยาม่วง

อยากทราบว่า ยาม่วงสามารถรักษาแผลในช่องปากได้จริงไหมครับ

[รหัสคำถาม : 358] วันที่รับคำถาม : 27 ม.ค. 65 - 20:18:39 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

แผลในปาก เกิดจากหลายสาเหตุ และมีอาการแตกต่างกัน เช่น แผลร้อนใน (aphthous ulcer), แผลจากการติดเชื้อ, แผลในปากที่เกิดจากการใช้ยา เป็นต้น โดยแผลในปากที่พบบ่อย คือ แผลร้อนใน ซึ่งเป็นเป็นแผลตื้นๆ ตรงกลางแผลมีสีเหลือง และมีความเจ็บปวด มีปัจจัยกระตุ้น เช่น ความเครียด การบาดเจ็บ [1,2] ส่วนแผลในปากที่เกิดจากการติดเชื้อรา (oral candidiasis) จะมีลักษณะของรอยโรคสีขาวเป็นหย่อมๆ บนลิ้นหรือเยื่อบุกระพุ้งแก้ม มักพบในผู้ที่ภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ใช้ยากดภูมิคุ้มกัน, ได้รับยาเคมีบำบัด, ภาวะทุพโภชนาการ และ การใช้ยาปฏิชีวนะ เป็นต้น[3] ยาที่ใช้รักษาแผลในปากที่เกิดจากการติดเชื้อรามีทั้งยารับประทานและยาใช้เฉพาะที่ เช่น 1) กรณีอาการไม่รุนแรง อาจใช้ยาเฉพาะที่ เช่น clotrimazole รูปแบบเม็ดอม (troches) ขนาด 10 mg วันละ 5 ครั้ง หรือ miconazole 50 มิลลิกรัมรูปแบบเม็ดติดเยื่อบุช่องปาก (mucoadhesive buccal tablet) วันละ 1 ครั้ง นาน 7-14 วัน 2) กรณีมีอาการระดับปานกลางถึงรุนแรง ใช้ยา fluconazole รูปแบบรับประทานขนาด 100-200 มิลลิกรัม วันละครั้ง นาน 7-14 วัน ยาอื่น ๆ เช่น itraconazole รูปแบบสารละลาย, posaconazole รูปแบบยาน้ำแขวนตะกอน, voriconazole ชนิดรับประทาน เป็นต้น[4]
การใช้ยาม่วง หรือ Gentian violet ในการรักษาเชื้อราในช่องปาก จัดเป็น off-label use หรือการใช้ยานอกข้อบ่งใช้ที่ได้รับการรับรอง โดยมีการใช้รักษาเชื้อราในช่องปากในกรณีที่มีอาการไม่รุนแรง ทาบริเวณที่เป็นวันละสองครั้ง หรือ กลั้วปากและอมไว้ให้นานที่สุดก่อนบ้วนทิ้ง ใช้ยาติดต่อกัน 7 ถึง 14 วัน[5] สำหรับประสิทธิภาพของ Gentian violet ในการรักษาเชื้อราในช่องปาก มีการศึกษาเช่น
1. การศึกษาแบบสุ่มแบบเปิด (Open-label) ซึ่งเปรียบเทียบยา gentian violet, ketoconazole และ nystatin ในการรักษาเชื้อราในช่องปากและหลอดอาหารในผู้ติดเชื้อ HIV 141 รายที่ไม่ได้รับยาต้านเชื้อรามาก่อนภายใน 2 อาทิตย์ก่อนหน้านี้ แบ่งผู้เข้าร่วมการศึกษาออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ได้รับยาอมบ้วนปาก gentian violet (สารละลายความเข้มข้นร้อยละ 0.5 ในน้ำ) ปริมาณ 1.5 มิลลิลิตรวันละสองครั้ง (n=49), กลุ่มที่ได้รับยา ketoconazole 200 มิลลิกรัม วันละครั้งหลังอาหาร (n=45) และ กลุ่มที่ได้รับยายาอมบ้วนปาก nystatin 200,000 unit วันละ 4 ครั้ง (n=47) เป็นระยะเวลา 10 วัน หรือจนกว่าจะหาย พบว่า หลังจากใช้ยา 14 วัน กลุ่ม gentian violet, ketoconazole และ nystatin มีผู้ที่ตรวจไม่พบรอยโรคในช่องปากเท่ากับร้อยละ 42, 43 และ 9 ตามลำดับ โดยกลุ่ม nystatin ได้ผลน้อยกว่ากลุ่ม gentian violet และ ketoconazole อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ส่วนผู้ป่วยที่ตรวจไม่พบรอยโรคในหลอดอาหารในกลุ่ม gentian violet มี 2 ใน 22 ราย (ร้อยละ 9), กลุ่ม ketoconazole มี 5 ใน 21 ราย (ร้อยละ 24) และกลุ่ม nystatin มี 1 ใน 20 ราย (ร้อยละ 5 ) ซึ่งไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติเมื่อเทียบ ketoconazole กับผลรวมของกลุ่ม gentian และ nystatin [6]
2. การศึกษาแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมแบบเปิด (Open-label) เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพและความปลอดภัยของ gentian violet รูปแบบใช้เฉพาะที่ กับ Nystatin ในรูปแบบยาแขวนตะกอน ในการรักษาการติดเชื้อราในช่องปากในผู้ที่ติดเชื้อ HIV อายุมากกว่า 18 ปี ที่พบ pseudomembranous candidiasis จำนวน 221 ราย แบ่งผู้เข้าร่วมการศึกษาเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ได้รับ gentian violet 0.00165% รูปแบบใช้เฉพาะที่ วันละสองครั้ง (n= 92) และกลุ่มที่ได้รับยา Nystatin 500,000 unit ในรูปแบบยาแขวนตะกอน วันละ 4 ครั้ง (n=90) เป็นระยะเวลานาน 14 วัน พบว่า อัตราการรักษาหายหรืออาการดีขึ้นหลังจากการใช้ยาของทั้งสองกลุ่มไม่มีความแตกต่างกัน (กลุ่ม gentian violet ร้อยละ 68.5 เทียบกับกลุ่ม Nystatin ร้อยละ 67.8) ส่วนผลลัพธ์อื่น ๆ เช่น การประเมินความแตกต่างในการติดสีของยาบริเวณเยื่อเมือกในช่องปาก (staining) พบว่าในกลุ่ม gentian violet รายงานว่า ร้อยละ 61 ไม่มีการติดสี และร้อยละ 28 มีการติดเล็กน้อย (ส่วนใหญ่ที่ลิ้น) ร้อยละ 11 มีการติดสีระดับปานกลาง แต่ไม่พบการการติดสีของยาบริเวณเยื่อเมือกในช่องปากในกลุ่ม Nystatin[7]

โดยสรุป ยาม่วง (gentian violet) เป็นยาที่สามารถรักษาเชื้อราแคนดิดาในช่องปาก ซึ่งจัดเป็น off-label use โดยใช้ในผู้ที่มีอาการไม่รุนแรง ทาบริเวณแผลวันละสองครั้ง หรือกลั้วปากและอมไว้ให้นานที่สุดก่อนบ้วนทิ้ง ระยะเวลาที่ใช้ 7-14 วัน[5,6,7] ควรระมัดระวังการระคายเคืองในเด็กทารกหรือเด็กเล็ก ไม่ควรใช้ในความเข้มข้นสูง และไม่แนะนำให้ใช้ในระยะยาว[5] การศึกษาการใช้ gentian violet เพื่อรักษาเชื้อราแคนดิดาในช่องปากส่วนใหญ่เป็นการศึกษาในผู้ติดเชื้อ HIV ส่วนการรักษาแผลในช่องปากอื่น ๆ เช่น แผลร้อนใน จากการสืบค้นข้อมูลจากฐานข้อมูล Pubmed ยังไม่มีข้อมูลการศึกษาการใช้ gentian violet


เอกสารอ้างอิง
[1] Oral lesion [Internet]. Hudson, Ohio: Hudson, Ohio: Wolters Kluwer UpToDate, Inc.; 2022 [cited 2022 Jan 30].
[2] David RM. Management of Aphthous Ulcers. Am Fam Physician. 2000 Jul 1;62(1):149-154.
[3] Pappas PG, Kauffman CA, Andes DR, Clancy CJ, Marr KA, Ostrosky-Zeichner L, et al. Clinical practice guideline for the management of candidiasis: 2016 update by the infectious diseases society of America. Clinical Infectious Diseases. 2016;62(4):e1–50.
[4] Taylor M, Raja A. Oral Candidiasis. [Updated 2021 Jul 25]. In: StatPearls [Internet]. Treasure Island (FL): StatPearls Publishing; 2022 Jan-. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books /NBK545282/
[5] Gentian violet (Drug information) [Internet]. Hudson, Ohio: Hudson, Ohio: Wolters Kluwer UpToDate, Inc.; 2022 [cited 2022 Jan 29].
[6] Nyst MJ, Perriens JH, Kimputu L, Lumbila M, Nelson AM, Piot P. Gentian violet, ketoconazole and nystatin in oropharyngeal and esophageal candidiasis in Zairian AIDS patients. Ann Soc Belg Med Trop. 1992 Mar;72(1):45-52. PMID: 1567268.
[7] Mukherjee PK, Chen H, Patton LL, Evans S, Lee A, Kumwenda J, et al; Oral HIVAIDS Research Alliance (OHARA)AIDS Clinical Trials Group (ACTG) 5265 Team. Topical gentian violet compared with nystatin oral suspension for the treatment of oropharyngeal candidiasis in HIV-1-infected participants. AIDS. 2017 Jan 2;31(1):81-88.

วันที่ตอบ : 27 ก.พ. 65 - 18:04:33




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110