ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
ผมได้รับการรักษาโรคไซนัสอักเสบที่ รามาตรวจพบริดสิดวงจมูก หมอเลยได้สั่งจ่ายยา เพร

ผมได้รับการรักษาโรคไซนัสอักเสบที่ รามาตรวจพบริดสิดวงจมูก หมอเลยได้สั่งจ่ายยา เพรดนิโซโลนกินครั้งละ 4 เม็ด วันละ 3 มื้อ 1 อาทิตย์ จากนั้นอาทิตย์ที่ 2 ก็ลดขนาดยาเป็น กินครั้งละ 2 เม็ด วันละ 3 มื้อ อีก 1 อาทิตย์ หลังจากที่ผมกินยามื้อสุดท้าย เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา หลังจากหยุดยาไปในวันแรกก็มีอาการปวดหัวมาโดยตลอด ต้องกินพาราทุก 6 ชม. ติดต่อกัน วันนี้เข้าวันที่ 4 แล้วก็ยังมีอาการปวดหัวอยู่ ไม่ทราบว่า อาการปวดหัวที่เกิดขึ้น เกิดจากการหยุดยาเพรดนิโซโลนใช่มั๊ยครับ แล้วอาการนี้จะคงอยู่หลังจากหยุดยาไปอีกกี่วันครับ รบกวนตอบทีนะครับ ตอนนี้ล่าสุดผมต้องกินบูโรเฟนแล้วเพราะปวดหัวจนทำงานไม่ไหว

[รหัสคำถาม : 36] วันที่รับคำถาม : 22 ม.ค. 63 - 13:41:11 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

โรคไซนัสอักเสบแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน(มีอาการน้อยกว่า 12 สัปดาห์) และไซนัสอักเสบเรื้อรัง(มีอาการมากกว่าหรือเท่ากับ 12 สัปดาห์) อาการของโรคนี้เช่น คัดจมูกหรือแน่นจมูก น้ำมูกไหลลงคอ ความสามรถในการรับกลิ่นลดลงหรือสูญเสียไป ปวดหรือรู้สึกตื้อบริเวณใบหน้าหรือโหนกแก้ม ไซนัสอักเสบส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส มีเพียงร้อยละ 0.5 – 2 เท่านั้นที่เป็นไซนัสอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย[1,2] โดยจำแนกจากรูปแบบและระยะเวลาในการเกิดโรค[2] อย่างไรก็ตามมีบางรายอาจมีริดสิดวงจมูกร่วมด้วย (chronic rhinosinusitis with nasal polyp)[3] การรักษาไซนัสอักเสบที่มีริดสิดวงจมูกร่วมด้วย แนะนำให้ใช้ยาสเตียรอยด์ชนิดสูดพ่น สำหรับยาสเตียรอยด์ชนิดรับประทานจะใช้ในกรณีที่มีอาการรุนแรง[4]

Prednisolone เป็นยาในกลุ่ม corticosteroids มีฤทธิ์ต้านการอักเสบและกดภูมิคุ้มกัน ข้อบ่งใช้ของยานี้ เช่น รักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ multiple sclerosis โรคหอบหืด[5] ขนาดยยาโดยทั่วไปในผู้ใหญ่คือ 5 - 60 มิลลิกรัมต่อวัน ผลข้างเคียงจากยานี้ เช่น บวม นอนไม่หลับ มีอาการทางจิต Cushing’s syndrome กระดูกพรุน กดการเจริญเติบโต ต้อกระจก เลือดกำเดาไหล และปวดหัว[5] การใช้ยาขนาดสูงเป็นเวลานานจะกดการทำงานของต่อมหมวกไตทำให้ไม่สามารถสร้างสารคอร์ติซอล(cortisol)ในร่างกายได้ (cortisol มีความจำเป็นต่อร่างกาย เป็นสารที่ตอบสนองต่อความเครียด มีผลต่อเมตาบอลิซึมของคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมันซึ่งจะมีส่วนในการรักษาระดับกลูโคสในเลือด มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ยับยั้งการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน รักษาระดับความดันโลหิตไม่ให้ลดต่ำลง[6]) ผู้ที่ใช้ยา corticosteroid ในขนาดสูงเป็นเวลานาน หากหยุดยาทันทีจะทำให้เกิดอาการถอนยา โดยมีอาการ เช่น อ่อนแรง คลื่นไส้ เบื่ออาหาร ไข้ น้ำตาลในเลือดต่ำ น้ำหนักลด และปวดหัว[7] ผู้ที่เสี่ยงต่อการเกิดอาการถอนยา เช่น ผู้ที่ได้รับขนาดยา glucocorticoid ซึ่งเทียบเท่ากับ prednisolone มากกว่า 20 มิลลิกรัมต่อวันเป็นเวลานานกว่า 3 สัปดาห์ ผู้ที่ได้รับยา prednisone ในช่วงเย็นหรือก่อนนอนมากกว่าหรือเท่ากับ 5 มิลลิกรัมต่อวันหลายสัปดาห์ หรือผู้ป่วยที่มีอาการของ cushingoid (เช่น หน้ากลมเหมือนดวงจันทร์ คอมีหนอก หน้าท้องยื่น แขนขาเรียวลีบ) ส่วนการใช้ยาขนาดสูงในระยะเวลาน้อยกว่า 3 สัปดาห์ มีโอกาสการเกิดอาการถอนยาดังกล่าวน้อยมาก[7] ดังนั้นผู้ที่ใช้ยาสเตียรอยด์ขนาดสูงเป็นเวลานาน การหยุดยาควรค่อยๆลดขนาดยาลงเพื่อป้องกันการเกิดอาการถอนยาสเตียรอยด์[4,8]

จากการที่ผู้ถามมีอาการปวดหัวมากหลังจากหยุดใช้ยา prednisolone ข้อมูลเท่าที่ผู้ถามให้มา ไม่สามารถบอกได้แน่ชัดว่าเกิดจากสาเหตุใด ถึงแม้ว่าอาการถอนยาสเตียรอยด์อาจทำให้เกิดอาการปวดหัวในบางคน จึงแนะนำว่าควรไปพบแพทย์เพื่อประเมินอาการที่เป็นอยู่และได้รับการจัดการที่เหมาะสมต่อไป

เอกสารอ้างอิง
[1] Patel ZM, Hwang PH. Uncomplicated acute sinusitis and rhinosinusitis in adults: Treatment In: UpToDate, Post TW (Ed), UpToDate, Waltham, MA.
[2] Carlton DA, Beahm D, Suh JD, Chiu AG. Acute and Chronic Sinusitis. In: Lalwani AK. eds. Current Diagnosis & Treatment Otolaryngology—Head and Neck Surgery, 4e New York, NY: McGraw-Hill; . Retrieved 20 January,2020, from http://accessmedicine.mhmedical.com/content.aspxbookid=2744§ionid=229671881.
[3] EPOS 2012: European position paper on rhinosinusitis and nasal polyps 2012. A summary for otorhinolaryngologists. Rhinology [Internet]. 2012 [cited 2020 Jan 20];(1):1. Available from: http://search.ebscohost.com/login.aspx?direct=true&db=edsswe&AN=edsswe.oai.lup.lub.lu.se.fb6a1d75.9a2a.4642.9992.167b22197f45&site=eds-live
[4] Minhas, Rubin. 2009. BMJ best practice. Retrieve 20 January,2020, from http://www.bestpractice.bmj.com.
[5] American Pharmacists Association. Drug information handbook with international trade names index. 26th ed. Hudson, Ohio: Lexi-Comp; 2017.
[6] วิไลวรรณ ศรีวิมล. (2560). Introduction to Adrenal Gland and Hormones. สืบค้นเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2563. จากเว็บไซต์ https://meded.psu.ac.th/binla/class03/311_311/Adrenal_Gland/index.html
[7] Furst DE, Saag KG. Glucocorticoid withdrawal In: UpToDate, Post TW (Ed), UpToDate, Waltham, MA.
[8] Caplan A, Fett N, Werth V. Glucocorticoids. In: Kang S, Amagai M, Bruckner AL, Enk AH, Margolis DJ, McMichael AJ, Orringer JS. eds. Fitzpatrick's Dermatology, 9e New York, NY: McGraw-Hill; .Retrieve 20 January,2020, from http://accessmedicine.mhmedical.com/content.aspx?bookid=2570§ionid=210442435.
วันที่ตอบ : 23 ม.ค. 63 - 10:57:45




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110