ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
Vitamin B1 ในคนไข้ sepsis ช่วยได้จริงมั้ย

อยากทราบข้อบ่งใช้ ขนาด และประสิทธิภาพของการให้ Vitamin B1 ในผู้ป่วย Sepsis

[รหัสคำถาม : 364] วันที่รับคำถาม : 10 ก.พ. 65 - 10:46:38 ถามโดย : บุคลากร วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

ภาวะ Sepsis ที่เป็นความผิดปกติของอวัยวะที่คุกคามถึงชีวิต (life-threatening) มีสาเหตุมาจากการตอบสนองต่อการติดเชื้อที่ผิดปกติ ในแนวทางการดูแลผู้ป่วย Sepsis and Septic Shock 2021 (SSC: International Guidelines for Management of Sepsis and Septic Shock 2021) ไม่มีคำแนะนำในการใช้ thiamine (vitamin B1) ในการรักษาภาวะ sepsis[1]
Thiamine (vitamin B1) ถูกนำมาใช้ร่วมกับ high-dose vitamin C (IV) และ hydrocortisone ในการรักษาภาวะ sepsis [1] เนื่องจากการให้ vitamin C ในปริมาณสูงจะเกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่ทำให้เกิดการขาด glucose-6-phosphate dehydrogenase และไตบกพร่องซึ่งเกิดจาก calcium oxalate ที่มาจากการmetabolization เป็น oxalic acid,[2] Thiamine (vitamin B1) จึงใช้เป็นส่วนประกอบในสูตรเพื่อป้องกันการตกผลึกของ oxalate ในไต[3] การใช้สูตรผสมดังกล่าว vitamin C ทำหน้าที่เป็น antioxidant, anti-inflammatory เสริมสร้างภูมิคุ้มกันและเป็น co-factor ในการสังเคราะห์ endogenous catecholamines, steroidogenesis, สังเคราะห์ vasopressin และเสริมฤทธิ์ของตัวรับ adrenergic ซึ่งเมื่อร่วมกับ hydrocortisone อาจป้องกันความผิดปกติของ vascular endothelium ได้[4]
ประสิทธิภาพการให้ร่วมกันของ vitamin C (IV) hydrocortisone และthiamine (vitamin B1) มีการศึกษา retrospective ที่พบว่ามีความเป็นไปได้ที่การใช้สูตรนี้ในการลดอัตราการตายใน sepsis ได้ แต่ก็มีการศึกษาที่ไม่สนับสนุนการใช้[3] การศึกษา RCTs ในปี ค.ศ. 2020 ในผู้ป่วย sepsis หรือ septic shock จำนวน 68 รายได้รับ ascorbic acid 1,500 mg ทุก 6 ชั่วโมง thiamine 200 mg ทุก 12 ชั่วโมง และ hydrocortisone 50 mg ทุก 6 ชั่วโมง และ 69 รายได้รับ placebo โดยให้นานสูงสุด 4 วัน และแพทย์สามารถให้ corticosteroids ได้ตามความจำเป็นในการดูแลผู้ป่วยตามปกติ ผลการศึกษาพบว่ามีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญของเวลาที่ผู้ป่วยต้องใช้ vasopressors ในการแก้ไขภาวะช็อกในกลุ่ม interventions เทียบกับกลุ่ม placebo เท่ากับ 27±22 vs 53±38, P<0.001 ตามลำดับ แต่ไม่พบความแตกต่างของการเปลี่ยนแปลง SOFA score ของทั้ง 2 กลุ่ม และไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญในผลลัทธ์ของ ICU mortality, hospital mortality, procalcitonin clearance (PCT-c), hospital length of stay (LOS), ICU LOS และ ventilator-free days และ laboratory markers ในช่วง 4 วันแรก และไม่พบเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ส่วนผลการทำงานของไตพบว่าทั้ง 2 กลุ่มไม่ได้แตกต่างกัน[4] อีกการศึกษาที่เป็นรูปแบบ RCTs โดยศึกษาการเพิ่มจำนวนวันที่ไม่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจหรือ vasopressor ในผู้ป่วย sepsis จำนวน 252 ราย ที่ได้รับการรักษาแบบเดียวกับการศึกษาก่อนหน้า โดยให้ภายใน 4 ชั่วโมงหลังสุ่มแล้วให้ไปทุกๆ 6 ชั่วโมง นาน 96 ชั่วโมง หรือจนกว่าจะเสียชีวิตหรือออกจาก ICU ผู้ป่วย กลุ่มควบคุม (placebo) 249 ราย ผลศึกษาพบว่าไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติของจำนวนวันที่ไม่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจหรือ vasopressor สำหรับการเสียชีวิตใน 30 วันทุกสาเหตุอยู่ที่ร้อยละ 22 เทียบกับร้อยละ 24 ในกลุ่มควบคุม[5]
โดยสรุปการให้ thiamine ไม่ได้เป็นการรักษาภาวะ sepsis โดยตรง แต่จะให้เพื่อป้องกันการตกผลึกของ oxalate ในไต[2,4] จากการใช้ร่วมกับ high-dose vitamin C และ hydrocortisone ในการรักษาภาวะ sepsis ซึ่งข้อมูลจากการศึกษามีทั้งที่สนับสนุน และไม่สนับสนุนการใช้สูตรนี้ อย่างไรก็ตามแนวทางการดูแลผู้ป่วย Sepsis and Septic Shock 2021 (SSC: International Guidelines for Management of Sepsis and Septic Shock 2021) ไม่แนะนำการใช้ thiamine ร่วมกับ vitamin C และ hydrocortisone ในผู้ป่วยที่มีภาวะ sepsis และ septic shock[1]

เอกสารอ้างอิง
[1] Evans L, Rhodes A, Alhazzani W, Antonelli M, Coopersmith CM, French C, et al. Surviving Sepsis Campaign: International Guidelines for Management of Sepsis and Septic Shock 2021 [Internet]. 2021 [cited 16 Sep 2022]. Available from: https://journals.lww.com/ccmjournal/fulltext/2021/11000/surviving_sepsis_campaign__international.21.aspx.
[2] Kuhn SO, Meissner K, Mayes LM, et al. Vitamin C in sepsis [Internet]. 2018 [cited 22 Sep 2022]. Available from: https://journals.lww.com/co-anesthesiology/Fulltext/2018/02000/Vitamin_C_in_sepsis.11.aspx.
[3] Schmidt GA, Doerschug K. Investigational and ineffective therapies for sepsis. In: UpToDate, Post TW (Ed), UpToDate, Waltham, MA. (Accessed on Sep 15, 2022.)
[4] Iglesias J, Vassallo AV, Patel VV, Sullivan JB, Cavanaugh J, Elbaga Y. Outcomes of Metabolic Resuscitation Using Ascorbic Acid, Thiamine, and Glucocorticoids in the Early Treatment of Sepsis: The ORANGES Trial. Chest. 2020 Jul;158(1):164-173.
[5] Sevransky JE, Rothman RE, Hager DN, Bernard GR, Brown SM, Buchman TG, et al. Effect of Vitamin C, Thiamine, and Hydrocortisone on Ventilator- and Vasopressor-Free Days in Patients With Sepsis: The VICTAS Randomized Clinical Trial. JAMA. 2021 Feb 23;325(8):742-750.
วันที่ตอบ : 05 ต.ค. 65 - 16:06:29




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110