ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
ความแตกต่างของยา Eprex กับ Recormon

อยากทราบความแตกต่างของยา Eprex กับ Recormon ข้อบ่งใช้และวิธีการให้ยาครับ

[รหัสคำถาม : 365] วันที่รับคำถาม : 17 ก.พ. 65 - 01:42:08 ถามโดย : นักศึกษา วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

ยา EPO คือยาฮอร์โมน erythropoietin ผลิตโดยใช้เทคโนโลยีการตัดต่อดีเอ็นเอ (recombinant DNA) โดยมีการเรียงต่อของลำดับกรดอะมิโนเหมือนกับฮอร์โมน erythropoietin ที่ถูกสร้างในร่างกาย[1] ยา Eprex® (Epoetin-alfa) และ Recormon® (Epoetin-beta) เป็นยากลุ่ม Erythropoiesis-Stimulating Agent (ESA) ทำให้กระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง มีข้อบ่งใช้ในการรักษาภาวะโลหิตจาง จากโรคไตเรื้อรัง จากยาเคมีบำบัด หรือจากการใช้ยา zidovudine[2],[3] โดยมีขนาดและวิธีการให้ยา ดังนี้
- Epoetin-alfa : สำหรับรักษาภาวะโลหิตจางเนื่องจากโรคไตเรื้อรัง สามารถใช้ได้ทั้งรูปแบบฉีดเข้าหลอดเลือดดำหรือชั้นใต้ผิวหนัง โดยหากมีการได้รับการฟอกไตแล้ว แนะนำให้ใช้ขนาด 50-100 units/kg สัปดาห์ละ 3 ครั้ง แต่หากยังไม่ได้รับการฟอกไต แนะนำให้ขนาด 50-100 units/kg สัปดาห์ละ 1 ครั้ง สำหรับรักษาโลหิตจางเนื่องจากได้รับยาเคมีบำบัด แนะนำให้ฉีดเข้าชั้นใต้ผิวหนังขนาด 150 units/kg สัปดาห์ละ 3 ครั้ง หรือ 40,000 units สัปดาห์ละ 1 ครั้ง จนกระทั่งสิ้นสุดการให้ยาเคมีบำบัด และสำหรับการรักษาโลหิตจางเนื่องจากยา zidovudine แนะนำให้ใช้รูปแบบฉีดเข้าหลอดเลือดดำหรือชั้นใต้ผิวหนัง 100 units/kg สัปดาห์ละ 3 ครั้ง หลังจากให้ยาหาก Hb เพิ่มขึ้นน้อยกว่า 1 g/dL ใน 4 สัปดาห์ ให้พิจารณาเพิ่มขนาดยา 25% แต่หาก Hb เพิ่มขึ้นมากกว่า 1 g/dL ใน 2 สัปดาห์ อาจสามารถพิจารณาลดขนาดยาลง 25% นอกจากนี้ยังสามารถใช้เพื่อลด allogenic RBC transfusion ในผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดแบบไม่เร่งด่วน ที่ไม่เกี่ยวกับหัวและหลอดเลือด โดยให้รูปแบบฉีดเข้าชั้นใต้ผิวหนัง 300 units/kg วันละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 15 วัน โดยเริ่ม 10 วันก่อนผ่าตัด วันผ่าตัด และ 4 วันหลังจากผ่าตัด หรือ 600 units/kg สัปดาห์ละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 4 สัปดาห์ โดยให้ที่ 21, 14, และ 7 วันก่อนผ่าตัด และในวันผ่าตัด โดยห้ามใช้ในความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ได้ และใช้อย่างระมัดระวังในผู้ป่วยที่มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหรือหลอดเลือดสมองขาดเลือด หรือผู้ป่วยที่มีภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำส่วนลึก[2]
- Epoetin-beta : สำหรับรักษาภาวะโลหิตจางเนื่องจากโรคไตเรื้อรัง แนะนำให้รูปแบบฉีดเข้าชั้นใต้ผิวหนัง 20 units/kg สัปดาห์ละ 3 ครั้ง หรือ ฉีดเข้าหลอดเลือดดำ 40 units/kg สัปดาห์ละ 3 ครั้ง โดยหาก Hb เพิ่มขึ้นน้อยกว่า 0.25 g/dL/week ใน 4 สัปดาห์ พิจารณาเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า สัปดาห์ละ 3 ครั้งเช่นเดิม (Max dose 720 units/kg/week) เมื่อระดับ Hb ถึง 10-12 g/dL แล้ว พิจารณาลดขนาดยาลงครึ่งหนึ่ง แล้วให้ต่อเป็นเวลา 2-4 สัปดาห์แล้วจึงหยุดยา[3],[4] สำหรับรักษาโลหิตจางเนื่องจากได้รับยาเคมีบำบัด แนะนำให้รูปแบบฉีดเข้าชั้นใต้ผิวหนัง 30,000 units/week (450 units/kg/week) อาจให้แบบทุกวัน, สัปดาห์ละ 3 ครั้ง, หรือสัปดาห์ละ 1 ครั้ง จนถึง 4 สัปดาห์หลังจบการให้ยาเคมีบำบัด หากหลังจาก 4 สัปดาห์ ระดับ Hb เพิ่มขึ้นน้อยกว่า 1 g/dL ให้พิจารณาเพิ่มขนาดยาเป็น 60,000 units/week (900 units/kg/week) (Max dose 60,000 units/week) และเมื่อระดับ Hb เพิ่มขึ้นมากกว่า 2 g/dL ใน 4 สัปดาห์ หรือมีระดับ Hb ถึง 10-12 g/dL ให้พิจารณาลดขนาดยาลง 25-50% โดยห้ามใช้ในผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ได้ และใช้อย่างระมัดระวังในผู้ป่วยที่มีประวัติการชัก มีภาวะเกล็ดเลือดสูงกว่าปกติ หรือเป็นโรคตับวายเรื้อรัง และผู้ที่มีภาวะขาดกรดโฟลิกหรือวิตามิน B12 อาจทำให้ลดประสิทธิภาพของยาได้[3],[5]
สำหรับ epoetin-alfa และ epoetin-beta มีความแตกต่างตรงที่ epoetin-beta จะมี molecular weight มากกว่า (60,000 vs 32,000-40,000 Da) และมีจำนวน sialated glycan residue ที่น้อยกว่า ทำให้ในคนสุขภาพดี ยา epoetin-beta จะมี half-life ที่นานกว่า แต่ในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง พบว่า มีค่า half-life ไม่แตกต่างกัน[1] นอกจากนี้มีการศึกษารูปแบบ randomized controlled trial เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยา epoetin-alfa และ epoetin-beta ในการรักษาภาวะโลหิตจางในผู้ป่วยโรคไตเรื้อเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ได้รับการฟอกเลือก พบว่า ไม่มีความแตกต่างในการเปลี่ยนแปลงระดับ Hb ในทั้ง 2 กลุ่ม (0.74 vs 0.4 g/dL ในกลุ่ม epoetin-alfa และ epoetin-beta ตามลำดับ, p=0.21) นอกจากนี้ขนาดยาเฉลี่ยต่อน้ำหนักตัวต่อสัปดาห์เพื่อที่จะคงระดับ Hb ให้อยู่ในช่วงเป้าหมาย 10-12 g/dL ไม่มีความแตกต่างกันทั้ง 2 กลุ่ม (110 vs 117 units/kg/week ในกลุ่ม epoetin-alfa และ epoetin-beta ตามลำดับ, p=0.63) สำหรับการเปรียบเทียบความปลอดภัย พบว่า ไม่มีความแตกต่างในจำนวนผู้ป่วยที่เกิดอาการไม่พึงประสงค์เช่นกัน (21.79% vs 29.49% ในกลุ่ม epoetin-alfa และ epoetin-beta ตามลำดับ, p=0.36) โดยอาการไม่พึงประสงค์ที่พบบ่อย เช่น ความดันโลหิตสูง ปวดบริเวณที่ฉีด ปวดศีรษะ เป็นต้น[6]
โดยสรุป คือยา Eprex® (Epoetin-alfa) และ Recormon® (Epoetin-beta) เป็นยากลุ่มเดียวกัน (Erythropoiesis-Stimulating Agent) มีข้อบ่งใช้โดยทั่วไปเหมือนกัน คือ รักษาภาวะโลหิตจางเนื่องจากโรคไตเรื้อรัง หรือจากยาเคมีบำบัด มีวิธีการบริหารยาส่วนใหญ่ที่เหมือนกัน คือ สัปดาห์ละ 3 ครั้ง แต่ขนาดการให้ยาทั้งสองอาจมีความแตกต่างกันเล็กน้อย นอกจากนี้ยา epoetin-beta จะมี molecular weight ที่มากกว่ายา epoetin-alfa และมีจำนวน sialated glycan residue ที่น้อยกว่า ทำให้ในคนสุขภาพดียา epoetin-beta จะมี half-life ที่นานกว่า แต่ไม่ได้แตกต่างกันในผู้ป่วยที่เป็นโรคไตเรื้อรัง

เอกสารอ้างอิง
[1]. ทรงยศ ชญานินปรเมศ. Erythropoietics timulating agent (ESA). วารสารวิชาการแพทย์ เขต 11. 2558;29(3):487-97.
[2]. Epoetin alfa. In: Lexi-drugs online [database on the Internet]. Hudson (OH): Lexicomp, Inc.; 2021 [updated 24 January 2022; cited 25 January 2022]. Available from: http://online.lexi.com.
[3]. MIMS Online [Internet]. Bangkok: MIMS Thailand; 2022. Recormon [cited 25 January 2022]. Available from: https://www.mimsonline.com.th.
[4]. Locatelli F, Pozzoni P, Vecchio LD. Recombinant human epoetin beta in the treatment of renal anemia. Ther. Clin. Risk. Manag. 2007;3(3):433-9.
[5]. Cheer SM, Wagstaff AJ. Epoetin beta: a review of its clinical use in the treatment of anaemia in patients with cancer. Drugs. 2004;64(3):323-46.
[6]. Azmandian J, Abbasi MR, Pourfarziani V, Nasiri AA, Ossareh S, Ezzatzadegan Jahromi S, et al. Comparing therapeutic efficacy and safety of epoetin beta and epoetin alfa in the treatment of anemia in end-stage renal disease hemodialysis patients. Am. J. Nephrol. 2018;48(4):251-259.

วันที่ตอบ : 17 ก.พ. 65 - 23:35:23




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110