ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
ยา tafluprost กับ latanoprost

ยา tafluprost กับ latanoprost มีความแตกต่างกันอย่างไร

[รหัสคำถาม : 366] วันที่รับคำถาม : 17 ก.พ. 65 - 01:48:01 ถามโดย : นักศึกษา วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

โรคต้อหิน เป็นความผิดปกติที่มีความดันในลูกตาสูง ทำให้เส้นประสาทตามีความผิดปกติ เกิดจากมีการอุดตันของทางระบายน้ำในลูกตา ทำให้น้ำหล่อเลี้ยงในลูกตาไม่สามารถไหลเวียนออกได้ตามปกติ ความดันในลูกตาจึงเพิ่มสูงขึ้น และส่งผลให้ประสาทตาถูกทำลายในที่สุด[1] โดยทั่วไปจะแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ โรคต้อหินมุมเปิด (อาการจะค่อยเป็นค่อยไป ไม่ปวด มักเป็นที่ตาทั้งสองข้าง)[1],[2] และโรคต้อหินมุมปิด (อาการจะเกิดขึ้นเฉียบพลัน ปวดตามาก และตามัวลงอย่างรวดเร็ว)[1],[3]
การรักษาโรคต้อหินมุมปิด (angle-closure glaucoma) ยาที่แนะนำคือ ยาหยอดตากลุ่ม beta blockers (เช่น timolol), alpha-2 adrenergic agonists (เช่น apraclonidine), และ carbonic anhydrase inhibitors (เช่น acetazolamide)[3],[4] ส่วนการรักษาโรคต้อหินมุมเปิด (open-angle glaucoma) จะแนะนำให้ใช้ยาหยอดตากลุ่ม prostaglandin analogs ยากลุ่มนี้มีประสิทธิภาพสูง สามารถลดความดันในลูกตาได้ประมาณร้อยละ 25-33 มีความปลอดภัย และสะดวกเนื่องจากบริหารยาเพียงวันละ 1 ครั้ง ยาหยอดตากลุ่ม prostaglandin analogs เป็นยาที่ควรเลือกใช้ลำดับแรกในการรักษาโรคต้อหินมุมเปิด หากไม่มีข้อห้ามในการใช้ยาหรือข้อจำกัดด้านราคา ส่วนยากลุ่มอื่น ๆ ที่สามารถใช้ได้ เช่น ยาหยอดตากลุ่ม beta blockers (เช่น timolol และ betaxolol), alpha adrenergic agonists (เช่น brimonidine), และ carbonic anhydrase inhibitors (เช่น dorzolamide)[2],[5]
ยา tafluprost และ latanoprost เป็นยาหยอดตากลุ่ม prostaglandin F2-alpha analog มีข้อบ่งใช้ในการรักษาภาวะความดันในลูกตาสูงในผู้ป่วยโรคต้อหินมุมเปิด วิธีใช้คือ หยอดตา 1 หยดในข้างที่เป็น วันละ 1 ครั้ง ตอนเย็น ยากลุ่มนี้ออกฤทธิ์โดยกระตุ้น prostaglandin F receptor ทำให้ trabecular meshwork เกิดการหดตัวและเพิ่มการไหลเวียนออกของน้ำในลูกตาผ่านทาง uveoscleral pathway ส่งผลให้ความดันในลูกตาลดลง[6],[7] คุณสมบัติของยาทั้ง 2 ชนิด มีรายละเอียดโดยย่อดังนี้
- ยา tafluprost เริ่มออกฤทธิ์ที่ 2-4 ชั่วโมงหลังจากใช้ มีฤทธิ์สูงสุด (peak effect) ที่ 12 ชั่วโมง[6] ส่วนยา latanoprost จะเริ่มออกฤทธิ์ที่ 3-4 ชั่วโมงหลังจากใช้ยา และมีฤทธิ์สูงสุดที่ 8-12 ชั่วโมง[7]
- ยาทั้ง 2 ชนิด สามารถถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายผ่านทางกระจกตา tafluprost จะถูกกำจัดออกจากร่างกายทางปัสสาวะร้อยละ 27-38 และอุจจาระร้อยละ 44-58[6] ส่วนยา latanoprost ถูกขับออกจากร่างกายทางปัสสาวะเป็นส่วนใหญ่ (ร้อยละ 88)[7]
- ยาทั้ง 2 ชนิด ไม่จำเป็นต้องปรับขนาดยาตามการทำงานของตับและไต แต่ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาในหญิงที่ตั้งครรภ์ เนื่องจากอาจมีความเสี่ยงทางทฤษฎีในการเกิดการแท้งบุตรและการคลอดก่อนกำหนด จึงแนะนำให้ใช้ยาอื่นแทนโดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรก ส่วนในหญิงให้นมบุตรยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่า ยาสามารถผ่านทางน้ำนมแม่ได้หรือไม่ จึงควรใช้อย่างระมัดระวังในหญิงที่กำลังให้นมบุตร แต่เนื่องจากยาทั้งคู่มีค่าครึ่งชีวิตสั้น จึงอาจใช้ยาได้หลังจากที่ให้นมบุตรเสร็จ[6],[7] และควรประเมินถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับประโยชน์ที่ได้รับ
สำหรับการศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพและอาการไม่พึงประสงค์ของ latanoprost และ tafluprost ในการรักษาโรคต้อหิน เช่น
1) การศึกษาแบบ systematic review และ network meta-analysis ซึ่งเปรียบเทียบประสิทธิภาพของ latanoprost, tafluprost และยาหลอก ในการลดความดันในลูกตาในผู้ป่วยโรคต้อหินชนิดมุมเปิด พบว่า ภายใน 3 เดือนของการใช้ยา latanoprost สามารถลดความดันในลูกตาได้มากกว่ายาหลอก 4.85 mmHg (mean difference (MD) -4.85, 95%CI -5.46 to -4.24) ส่วน tafluprost สามารถลดความดันในลูกตาได้มากกว่ายาหลอก 4.37 mmHg (MD -4.37, 95%CI -5.83 to -2.94) สำหรับการเปรียบเทียบประสิทธิภาพระหว่างยา latanoprost และ tafluprost ในการลดความดันในลูกตาที่ 3 เดือน พบว่า ไม่มีความแตกต่างของค่าเฉลี่ยการลดความดันในลูกตาระหว่างยาสองชนิดนี้ (MD -0.48, 95%CI -1.83 to 0.91)[8]
2) การศึกษาแบบ randomized controlled trial เปรียบเทียบความปลอดภัยระหว่าง tafluprost และ latanoprost ที่มีส่วนผสมและไม่มีส่วนผสมของสารกันเสีย (ได้แก่สาร benzalkonium chloride และ sodium phosphate) พบว่า กลุ่มที่ได้รับ latanoprost ที่ไม่มีสารกันเสียเป็นส่วนประกอบ มีคะแนนของอาการแสบตา คันตา ตาแห้ง ตาไวต่อแสง และปวดตาน้อยกว่ากลุ่มอื่น ๆ รองลงมาคือกลุ่มที่ได้รับยา tafluprost ส่วนกลุ่มที่ได้รับ latanoprost ที่มีส่วนผสมของสารกันเสียจะมีคะแนนอาการแสบตา ตาแห้ง และปวดตามากที่สุด แต่อย่างไรก็ตาม ไม่พบความแตกต่างระหว่างทั้ง 3 กลุ่มเกี่ยวกับอาการตาพร่ามัว หรือรู้สึกเหมือนมีอะไรเข้าตา การเกิดอาการอาการไม่พึงประสงค์มากที่สุดในกลุ่ม latanoprost ที่มีส่วนผสมของสารกันเสียพบ คาดว่าอาจมีสาเหตุจากสารกันเสีย benzalkonium chloride[9]
กล่าวโดยสรุป คือ ทั้งยา tafluprost และ latanoprost เป็นยากลุ่มเดียวกัน (prostaglandin F2-alpha analog) มีข้อบ่งใช้ วิธีการบริหารยาเหมือนกัน และมีประสิทธิภาพในการลดความดันในลูกตาใกล้เคียงกัน แต่อาจแตกต่างกันตรงที่ผลิตภัณฑ์ latanoprost บางชนิดอาจส่วนผสมของสารกันเสีย benzalkonium chloride จึงอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ เช่น อาการแสบตา คันตา ตาแห้ง ตาไวต่อแสง และปวดตา ได้มากกว่ายา tafluprost และ latanoprost ที่ไม่มีส่วนผสมของสารกันเสีย นอกจากนี้สาร benzalkonium chloride ยังสามารถถูกดูดซึมได้โดยคอนแทคเลนส์ ดังนั้น จึงแนะนำให้ถอดคอนแทคเลนส์ก่อนบริหารยา latanoprost และรอประมาณ 15 นาทีก่อนใส่คอนแทคเลนส์กลับเข้าไปใหม่

เอกสารอ้างอิง
[1]. Jacobs DS. Open-angle glaucoma: Epidermiology, clinical presentation, and diagnosis. In: Post TW, ed. UpToDate. Waltham: UpToDate; 2022. (Accessed on January 17, 2022)
[2]. Gedde SJ, Vinod K, Wright MM, Muir KW, Lind JT, Chen PP, et al; American academy of ophthalmology preferred practice pattern glaucoma panel. Primary open-angle glaucoma preferred practice pattern®. Ophthalmology. 2021;128(1):P71-P150.
[3]. Khondkaryan A, Francis BA. Angle-closure glaucoma [internet]. San Francisco, CA: The American Academy of Ophathalmology; 2013 [cited 17 January 2022]. Available from: https://www.aao.org/munnerlyn-laser-surgery-center/angleclosure-glaucoma-19.
[4]. Weizer JS. Angle-closure glaucoma. In: Post TW, ed. UpToDate. Waltham: UpToDate; 2022. (Accessed on January 17, 2022)
[5]. Jacobs DS. Open-angle glaucoma: Treatment. In: Post TW, ed. UpToDate. Waltham: UpToDate; 2022. (Accessed on January 17, 2022)
[6]. Tafluprost. In: Lexi-drugs online [database on the Internet]. Hudson (OH): Lexicomp, Inc.; 2021 [updated 16 January 2022; cited 17 January 2022]. Available from: http://online.lexi.com.
[7]. Latanoprost. In: Lexi-drugs online [database on the Internet]. Hudson (OH): Lexicomp, Inc.; 2021 [updated 16 January 2022; cited 17 January 2022]. Available from: http://online.lexi.com.
[8]. Li T, Lindsley K, Rouse B, Hong H, Shi Q, Friedman DS, et al. Comparative effectiveness of first-line medications for primary open-angle glaucoma: a systematic review and network meta-analysis. Ophthalmology. 2016;123(1):129-40.
[9]. Kim JM, Park SW, Seong M, Ha SJ, Lee JW, Rho S, et al. Comparison of the safety and efficacy between preserved and preservative-free latanoprost and preservative-free tafluprost. Pharmaceuticals (Basel). 2021;14(6):501.

วันที่ตอบ : 17 ก.พ. 65 - 23:35:48




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110