ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
ยา carbocysteine ในเด็กอายุ 7 เดือน

เด็กอายุ 7 เดือน ให้กินยา carbocysteine เกินจากที่หมอสั่ง โดยปกติหมอให้รับประทานครั้งละ 2.5 ซีซี แต่ให้กินไป 5 ซีซี จึงอยากทราบว่าจะเป็นอันตรายต่อเด็กอย่างไรบ้าง

[รหัสคำถาม : 367] วันที่รับคำถาม : 17 ก.พ. 65 - 01:55:04 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

Carbocysteine เป็นยาละลายเสมหะ (mucolytics) มีข้อบ่งใช้ตามเอกสารกำกับยาของบริษัทผู้ผลิตคือ บรรเทาอาการไอเนื่องจากหลอดลมอักเสบเรื้อรัง หอบหืด หรือถุงลมโป่งพอง[1] ขนาดยาที่แนะนำในเด็กอายุ 2-5 ปี คือ 65-125 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง, เด็กอายุ 6-12 ปี คือ 250 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง และผู้ใหญ่ 2,250 มิลลิกรัมต่อวัน โดยแบ่งรับประทานวันละ 3 ครั้ง และหากอาการดีขึ้นสามารถลดขนาดยาลงเหลือ 1,500 มิลลิกรัมต่อวัน อาการไม่พึงประสงค์ที่อาจพบจากยานี้ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดหัว เวียนหัว ท้องเสีย (ร้อยละ 0.1-1) เลือดออกในทางเดินอาหาร (น้อยกว่าร้อยละ 0.01) ใจสั่น (น้อยกว่าร้อยละ 0.01) ปวดกล้ามเนื้อ (ร้อยละ 0.01-0.1) หายใจหอบเหนื่อย หลอดลมหดเกร็ง (ร้อยละ 0.01-0.1) เป็นต้น[2] ในกรณีที่ได้รับยาเกินขนาดจะทำให้เกิดอาการปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียนรุนแรงได้ ยานี้ควรใช้อย่างระมัดระวังในผู้ที่มีประวัติเป็นโรคหอบหืด ผู้ที่มีภาวะระบบทางเดินหายใจล้มเหลวรุนแรง ผู้ป่วยอัมพาตหรือมีปัญหาทางสมอง ผู้ที่เป็นแผลในทางเดินอาหาร ยานี้มีข้อห้ามใช้ในเด็กที่อายุน้อยกว่า 2 ปี ผู้ป่วยที่กำลังเป็นโรคแผลในกระเพาะอาหาร และผู้ที่แพ้ยา carbocysteine หรือสารประกอบอื่น ๆ ในตำรับ[2],[3]
จากการสืบค้นข้อมูล มีการศึกษารูปแบบรายงานผู้ป่วย (case reports) ในเด็กอายุ 0-6 ปี จำนวน 59 ราย ที่เกิดอาการไม่พึงประสงค์ต่อระบบทางเดินหายใจหลังจากได้รับยา carbocysteine หรือ acetylcysteine โดยเด็กมีอายุเฉลี่ย 8.6 เดือน น้ำหนักเฉลี่ย 7.9 กิโลกรัม พบว่า ระยะเวลาการใช้ยาเฉลี่ยก่อนเกิดอาการไม่พึงประสงค์ 5.9 วัน ขนาดยา carbocysteine ที่ใช้มีขนาดยาเฉลี่ย 181 มิลลิกรัมต่อวัน หรือ 23 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน ส่วน acetylcysteine มีขนาดยาที่ใช้เฉลี่ย 182 มิลลิกรัมต่อวัน หรือ 27 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน สำหรับอาการไม่พึงประสงค์ต่อระบบทางเดินหายใจ พบว่า มีอาการของระบบทางเดินหายใจแย่ลงในผู้ที่มีภาวะหลอดลมฝอยอักเสบ 35 ราย (ร้อยละ 59), มีเสมหะในหลอดลมมากขึ้น 19 ราย (ร้อยละ 32), หายใจลำบาก 18 ราย (ร้อยละ 31), ไอรุนแรงขึ้นหรือนานขึ้น 11 ราย (ร้อยละ 19), อาเจียนเป็นเมือก 8 ราย (ร้อยละ 14), ปอดอักเสบ 3 ราย (ร้อยละ 5), หลอดลมอักเสบเฉียบพลัน 2 ราย (ร้อยละ 3), และหลอดลมหดเกร็ง 1 ราย และพบว่า มีเด็กจำนวน 51 ราย (ร้อยละ 86) ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลหรือต้องอยู่ในโรงพยาบาลนานขึ้นเนื่องจากอาการไม่พึงประสงค์[4]
นอกจากนี้ มีการศึกษารูปแบบการวิเคราะห์อภิมาน (meta-analysis)[5] เพื่อประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการใช้ยา acetylcysteine และ carbocysteine สำหรับบรรเทาอาการต่าง ๆ ของโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนและส่วนล่างที่ไม่ใช่โรคหลอดลมหรือโรคปอดเรื้อรัง ในเด็กอายุน้อยกว่า 18 ปี โดยรวบรวมข้อมูลจากการศึกษารูปแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (randomised controlled trials) และรูปแบบรายงานผู้ป่วย (case reports) จำนวน 34 การศึกษา พบว่า มี 2 การศึกษาซึ่งเป็นการศึกษาประสิทธิภาพของ carbocysteine ในเด็กที่อายุน้อยกว่า 2 ปี ไม่พบความแตกต่างในการบรรเทาอาการไอเมื่อเทียบกับยาหลอก สำหรับการประเมินความปลอดภัยในผู้ป่วยอายุน้อยกว่า 2 ปี จากการศึกษา 4 การศึกษาในผู้ป่วยเด็ก 174 รายที่ได้รับ carbocysteine หรือ acetylcysteine ไม่พบรายงายการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ในกลุ่มตัวอย่าง แต่อย่างไรก็ตาม มีการศึกษา 1 การศึกษารูปแบบเก็บข้อมูลไปข้างหน้า (prospective study) ในเด็กอายุน้อยกว่า 1 ปี จำนวน 57 รายที่ได้รับ carbocysteine หรือ acetylcysteine เป็นระยะเวลา 2 เดือนเพื่อบรรเทาอาการติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนบนและส่วนล่างเฉียบพลัน พบว่า มีเด็ก 6 รายที่มีเสมหะในหลอดลมมากขึ้นหลังจากได้รับยา acetylcysteine (3 ราย) และ carbocysteine (3 ราย) โดยเด็กมีอายุระหว่าง 2.5-7.5 เดือน (อายุเฉลี่ย 4.9 เดือน) และเกิดอาการหลังจากได้รับยาเฉลี่ย 4.5 วัน ขนาดยาที่ใช้เฉลี่ย 26 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน และมีเด็ก 2 รายที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลเนื่องจากอาการไม่พึงประสงค์ต่อระบบทางเดินหายใจ
โดยทั่วไป ไม่แนะนำให้ใช้ยา carbocysteine ในเด็กที่อายุน้อยกว่า 2 ปี ยกเว้นแพทย์สั่งและอยู่ในความดูแลของแพทย์ เนื่องจากยังมีข้อมูลจำกัดทั้งด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัย ข้อมูลจากการศึกษาข้างต้น ยานี้มีรายงานทำให้มีเสมหะในหลอดลมมากขึ้นในเด็กบางราย การใช้ยานี้ในเด็กเล็กจึงควรอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ หากต้องการลดเสมหะในเด็กเล็ก แนะนำให้ดื่มน้ำอุ่นมาก ๆ และอาจดูดเสมหะด้วยลูกยางในกรณีจำเป็นตามคำแนะนำของแพทย์[6]
ในประเทศไทยมีรูปแบบยาน้ำ carbocysteine หลายรูปแบบและหลายความแรง เช่น รูปแบบยาน้ำแขวนตะกอน 200 และ 500 มิลลิกรัมใน 5 มิลลิลิตร และรูปแบบยาน้ำใส 100, 250, และ 450 มิลลิกรัมใน 5 มิลลิลิตร[7] จากคำถามของผู้ถามซึ่งไม่ได้ระบุรูปแบบของยาน้ำและความแรง จึงไม่สามารถบอกได้ว่ารับประทานไป 5 มิลลิลิตรนั้น จะได้รับยาไปปริมาณเท่าใด นอกจากนั้น จากการสืบค้นข้อมูล ไม่พบการกำหนดขนาดยาสำหรับเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี ส่วนขนาดที่แนะนำสำหรับเด็กอายุ 2-5 ปี คือ ครั้งละ 65-125 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง ดังนั้น ควรสังเกตอาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้น หากมีอาการผิดปกติ ควรไปพบแพทย์

เอกสารอ้างอิง
[1]. Solmax Kids [package insert]. Bangkok: Great Eastern Drug Co., Ltd; 2015.
[2]. Typharm Limited. Carbocisteine 250 mg/ 5 ml syrup SmPC. 2022 [cited 20 January 2022] Available from: https://www.medicines.org.uk/emc/product/8602/smpc.
[3]. MIMS Online [Internet]. Bangkok: MIMS Thailand; 2022. Carbocysteine [cited 20 January 2022]. Available from: https://www.mimsonline.com.th.
[4]. Mallet P, Mourdi N, Dubus JC, Bavoux F, Boyer-Gervoise MJ, Jean-Pastor MJ, et al. Respiratory paradoxical adverse drug reactions associated with acetylcysteine and carbocysteine systemic use in paediatric patients: a national survey. PLoS. One. 2011;6(7):e22792.
[5]. Chalumeau M, Duijvestijn YC. Acetylcysteine and carbocysteine for acute upper and lower respiratory tract infections in paediatric patients without chronic broncho-pulmonary disease. Cochrane. Database. Syst. Rev. 2013;(5):CD003124.
[6]. U.S. Food & Drug Administration. Use caution when giving cough and cold products to kids [internet]. 2018 [cited 20 January 2022]. Available from: https://www.fda.gov/drugs/special-features/use-caution-when-giving-cough-and-cold-products-kids.
[7]. กระทรวงสาธารณสุข. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา. Carbocisteine (ข้อมูลยา/ผลิตภัณฑ์สมุนไพร) [อินเทอร์เน็ต]. [เข้าถึงเมื่อ 20 มกราคม 2565]. เข้าถึงได้จาก: http://ndi.fda.moph.go.th/drug_info/index?name=carbocisteine.

วันที่ตอบ : 17 ก.พ. 65 - 23:36:19




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110