ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
กินน้ำมันปลาสามารถช่วยลดน้ำหนักได้จริงหรือไม่

เคยเห็นคนแชร์เกี่ยวกับการกินน้ำมันปลาเพื่อลดน้ำหนัก อยากทราบว่าน้ำมันปลาช่วยในการลดน้ำหนักได้จริงหรือไม่

[รหัสคำถาม : 369] วันที่รับคำถาม : 21 ก.พ. 65 - 14:40:41 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

น้ำมันปลา (fish oil) สกัดมาจากปลาทะเล เป็นกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัว (Polyunsaturated Fatty Acid; PUFA) ในกลุ่ม omega-3 fatty acids ชนิดที่สำคัญได้แก่ Eicosapentaenoic Acid (EPA) และ Docosahexaenoic Acid (DHA) มักใช้น้ำมันปลาเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อช่วยลดการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ในปัจจุบันมีการนำน้ำมันปลามาใช้กันอย่างแพร่หลายในการช่วยลดระดับไตรกลีเซอไรด์ (triglycerides) ในเลือด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกาแนะนำให้ใช้น้ำมันปลาในผู้ที่มีระดับไตรกลีเซอไรด์สูงในเลือดอย่างรุนแรง โดยให้ใช้ไม่เกิน 4 กรัมต่อวัน ผลข้างเคียงของน้ำมันปลาที่พบบ่อย คือ เกิดอาการคลื่นไส้ นอกจากนี้อาจทำให้เกิดผื่นที่ผิวหนัง เลือดกำเดาไหล หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือค่าเอนไซม์ในตับเพิ่มขึ้น1, 2
จากการค้นข้อมูลพบการวิเคราะห์อภิมาน (meta-analysis) ซึ่งเป็นการศึกษาเปรียบเทียบข้อมูลจากหลายงานวิจัยที่ทำการศึกษาในเรื่องที่เหมือนกันหรือคล้ายกัน โดยงานวิจัยที่รวบรวมข้อมูลเป็นงานวิจัยเชิงสุ่มและมีกลุ่มควบคุม (randomized controlled trial) จาก 21 งานวิจัยและมีอาสาสมัครทั้งหมด 1,329 คนพบว่า เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม น้ำมันปลาไม่มีความสัมพันธ์กับน้ำหนักที่ลดลงของอาสาสมัครในกลุ่มศึกษา (ผลต่างของค่าเฉลี่ยมาตรฐาน (Standardized Mean Differences; SMDs = -0.07; 95% Confidence Interval (CI) -0.21, 0.07; P = 0.31) และไม่มีความสัมพันธ์กับค่าดัชนีมวลกายที่ลดลงในกลุ่มศึกษาด้วยเช่นกัน (Body Mass Index; BMI) (SMD = -0.09; 95% CI -0.22, 0.03; P = 0.14) ทั้งจากการใช้น้ำมันปลาอย่างเดียวหรือใช้น้ำมันปลาร่วมกับการแทรกแซงเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำรงชีวิต อย่างไรก็ตาม พบว่า กลุ่มศึกษามีเส้นรอบเอวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ (SMD = -0.23; 95% CI -0.40, -0.06; P = 0.008) ในผู้ใช้น้ำมันปลาร่วมกับการแทรกแซงเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และมีอัตราส่วนของรอบเอวต่อรอบสะโพก (Waist-to-hip Ratio; WHR) ลดลงอย่างมีนัยสำคัญในผู้ใช้น้ำมันปลาอย่างเดียวหรือใช้น้ำมันปลาร่วมกับการแทรกแซงเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม3
สรุป จากหลักฐานที่มีอยู่ในปัจจุบันยังไม่สามารถกล่าวได้ว่า น้ำมันปลาช่วยลดน้ำหนักในผู้ที่มีน้ำหนักเกินหรือผู้ที่มีภาวะอ้วน แต่น้ำมันปลาอาจช่วยลดไขมันบริเวณท้องได้ โดยเฉพาะการใช้ร่วมกับการแทรกแซงเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม อย่างไรก็ตาม ควรมีการศึกษาในประเด็นนี้ต่อไปในอนาคตเพื่อให้ทราบผลของน้ำมันปลาที่ชัดเจนมากขึ้น

เอกสารอ้างอิง
1. Mozaffarian D, Freeman MW, Givens J. Fish oil [Internet]. Waltham: UpToDate; 2022 [cited 2022 Jul 10]. Available from: https://www.uptodate.com.
2. Elsevier. Fish oil [Internet]. Elsevier: ClinicalKey; 2022 [cited 2022 Jul 10]. Available from: https://www.clinicalkey.com.
3. Du S, Jin J, Fang W, et al. Overweight/obese Adults? A meta-analysis of randomized
controlled trials. PLoS One 2015;10(11):e0142652.


วันที่ตอบ : 11 ก.ค. 65 - 11:27:01


No : 2

น้ำมันปลา (Fish oil) เป็นแหล่งของกรดไขมันโอเมก้า-3 (omega-3 fatty acids) ได้แก่ Alpha-linolenic acid (ALA), Eicosapentaenoic acid (EPA) และ Docosahexaenoic acid (DHA) ซึ่งเป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวที่มีความจำเป็นต่อร่างกายและร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นเองได้ จึงต้องได้รับจากการบริโภคอาหารเท่านั้น โดย EPA และ DHA พบมากในปลาหรือสัตว์ทะเลที่มีเปลือก เช่น กุ้ง หอย ปู ส่วน ALA พบได้ในน้ำมันเมล็ดแฟลกซ์ (flaxseed oil) และวอลนัท[1]
พบผลของน้ำมันปลาต่อการลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจ คาดว่าจากการที่น้ำมันปลามีฤทธิ์ในการต้านการอักเสบ มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระปกป้องเซลล์หลอดเลือด ยับยั้งการแข็งตัวของเลือด และลดระดับไขมันในเลือด[2] จึงมีข้อบ่งชี้ในการใช้เพื่อลดไขมันในผู้ที่มีระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงมากกว่า 500 mg/dL ให้รับประทานน้ำมันปลารูปแบบ omega-3-acid ethyl esters ขนาด 4 กรัมต่อวัน ส่วนการใช้เป็นอาหารเสริม ให้รับประทานน้ำมันปลาขนาด 1,000 มิลลิกรัม/แคปซูล ครั้งละ 1-2 แคปซูล วันละ 3 ครั้ง[3]
ในแง่ผลของน้ำมันปลาต่อการลดน้ำหนัก จากการศึกษาแบบ meta-analysis ในปี ค.ศ. 2017 ผลต่อการได้รับน้ำมันปลาในผู้ใหญ่ที่มีภาวะน้ำหนักเกินมีดัชนีมวลกาย (BMI) 25-29.9 kg/m2 และผู้ที่มีภาวะอ้วนมี BMI ≥30 kg/m2 โดยได้รับน้ำมันปลาขนาดตั้งแต่ 1.5 กรัม/วัน จนถึงสูงสุด 6 กรัม/วัน เป็นเวลา 3-24 สัปดาห์ เปรียบเทียบกับการได้รับยาหลอก พบว่ากลุ่มที่ได้รับน้ำมันปลามีเส้นรอบเอวเฉลี่ยลดลง 0.53 เซนติเมตรอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่น้ำหนักตัวและค่า BMI ของทั้งสองกลุ่มไม่แตกต่างกัน[4] และจากการศึกษาแบบ meta-analysis ในปี ค.ศ. 2021 ถึงผลของน้ำมันปลาในเด็กที่มีภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วนและกลุ่มวัยรุ่น โดยได้รับน้ำมันปลาขนาดตั้งแต่ 250 มิลลิกรัม/วัน จนถึงสูงสุด 3,360 มิลลิกรัม/วัน เป็นเวลา 3-52 สัปดาห์ พบว่ากลุ่มที่ได้รับน้ำมันปลามี BMI เฉลี่ยลดลง 0.96 kg/m2 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่น้ำหนักตัวและเส้นรอบเอวของทั้งสองกลุ่มไม่แตกต่างกัน[5] ทั้งนี้ โดยสรุปคือยังไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดของผลของการได้รับน้ำมันปลาต่อการลดน้ำหนัก
โดยส่วนมากการรับประทานน้ำมันปลาขนาด 2-5.4 กรัมต่อวันสามารถทนต่ออาการไม่พึงประสงค์ได้ โดยอาการไม่พึงประสงค์ส่วนใหญ่ของน้ำมันปลามักเกิดผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหาร มีรายงานการเกิดอาการคลื่นไส้ ท้องเสีย และอาหารไม่ย่อย นอกจากนี้ น้ำมันปลาอาจทำให้ค่าเอนไซม์ตับสูงขึ้น อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะในผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Atrial fibrillation) และควรระมัดระวังการใช้น้ำมันปลาในผู้ที่กำลังได้รับยาต้านการแข็งตัวของเลือดเนื่องจากน้ำมันปลาอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดเลือดออกได้[3]

เอกสารอ้างอิง
[1]. Mozaffarian D. Fish oil: Physiologic effects and administration. In: Post TW, ed. UpToDate. Waltham: UpToDate; 2022. [Accessed on June 22, 2022]
[2]. Liao J, Xiong Q, Yin Y, Ling Z, Chen S. The Effects of Fish Oil on Cardiovascular Diseases: Systematical Evaluation and Recent Advance. Front Cardiovasc Med. 2022 Jan 5;8:802306.
[3]. Omega-3 Fatty Acids. In: Specific Lexicomp Online Database [database on the internet]. Hudson (OH): Lexicomp Inc.: 2022 [updated 2022 Jun 20; cited 2022 Jun 21]. Available from: https://online.lexi.com. Subscription required to view.
[4]. Zhang YY, Liu W, Zhao TY, Tian HM. Efficacy of Omega-3 Polyunsaturated Fatty Acids Supplementation in Managing Overweight and Obesity: A Meta-Analysis of Randomized Clinical Trials. J Nutr Health Aging. 2017;21(2):187-192.
[5]. Wu S, Zhu C, Wang Z, Wang S, Yuan P, Song T, Hou X, Lei Z. Effects of Fish Oil Supplementation on Cardiometabolic Risk Factors in Overweight or Obese Children and Adolescents: A Meta-Analysis of Randomized Controlled Trials. Front Pediatr. 2021 Apr 27;9:604469.

วันที่ตอบ : 18 ก.ค. 65 - 13:27:35




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110