ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
สามารถใช้ยาคลายกล้ามเนื้อ 2 ตัวร่วมกันได้ไหม เช่น orphenadrine กับ tolperisone

สามารถใช้ยาคลายกล้ามเนื้อ 2 ตัวร่วมกันได้ไหม เช่น orphenadrine กับ tolperisone

[รหัสคำถาม : 37] วันที่รับคำถาม : 22 ม.ค. 63 - 14:39:50 ถามโดย : นักศึกษา วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

ยาคลายกล้ามเนื้อ (muscle relaxants) ที่ได้รับการรับรองจาก USFDA สำหรับข้อบ่งใช้ spasticity เช่น baclofen, dantrolene และ tizanidine และสำหรับข้อบ่งใช้ muscle spasm เช่น carisoprodol, chlorzoxazone, cyclobenzaprine, metaxalone, methocarbamol และ orphenadrine citrate[1] ในที่นี้จะกล่าวถึงรายละเอียดโดยย่อเฉพาะยา 2 ชนิด คือ orphenadrine citrate และ tolperisone เท่านั้น

Orphenadrine citrate มีข้อบ่งใช้ตามเอกสารกำกับยาของบริษัทผู้ผลิต คือ ใช้สำหรับเสริมการรักษาร่วมกับการทำกายภาพบำบัดเพื่อบรรเทาอาการปวดเฉียบพลันเกี่ยวกับกล้ามเนื้อและกระดูก และการพัก (rest) [1,2] ด้านข้อบ่งใช้อื่นๆ ของยานี้ เช่น ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็ง[3,4] ยานี้มีข้อห้ามใช้ เช่น ผู้ป่วยที่เป็นต้อหิน (glaucoma) ลำไส้อุดตัน (duodenal obstruction) โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (myasthenia gravis) และผู้ที่แพ้ยานี้[1,2] อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา เช่น ปากแห้ง ตาพร่า ปัสสาวะคั่ง คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียน ง่วงซึม ปวดศีรษะและอาจแพ้ยาได้[1,2,4] สำหรับกลไกการออกฤทธ์ของยายังไม่ทราบแน่ชัด[1]

Tolperisone มีข้อบ่งใช้ตามเอกสารกำกับยาของบริษัทผู้ผลิต คือ post-stroke spasticity[4,5] อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา เช่น วิงเวียน ง่วงซึม สับสน ปากแห้ง คลื่นไส้ อาเจียน และอาจเกิดการแพ้ยาได้[4,5] ยานี้มีกลไกการออกฤทธ์ที่ระบบประสาทส่วนกลางออกฤทธิ์ยับยั้ง sodium และ calcium channels ส่งผลให้ลดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ[4]

สำหรับประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยาคลายกล้ามเนื้อ พบหลายการศึกษา[6,7] เช่น

1) การศึกษาแบบ systematic review ในปี 2004 เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของยา orphenadrine
ในการบรรเทาอาการปวดหลังส่วนล่างแบบเฉียบพลัน (acute low back pain) เปรียบเทียบกับยาหลอก (placebo) ในผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังส่วนล่างแบบเฉียบพลัน โดยรวบรวมการศึกษาแบบ randomized trials 4 การศึกษา พบว่ามี 1 การศึกษาที่แสดงให้เห็นว่ายา orphenadrine มีประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการปวดหลังส่วนล่างแบบเฉียบพลันมากกว่ายาหลอกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (pain intensity ; p < 0.01, pain relief ; p < 0.01) ส่วนอีก 3 การศึกษา พบว่าไม่มีความแตกต่างกับยาหลอกในการบรรเทาอาการปวดหลังส่วนล่างแบบเฉียบพลัน ในด้านผลข้างเคียงของยา พบรายงาน เช่น วิงเวียน และง่วงซึม[6]

2) การศึกษาแบบ prospective placebo-controlled double-blind trial เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของยา tolperisone เปรียบเทียบกับยาหลอกในผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีอาการปวดเนื่องจากกล้ามเนื้อหดเกร็ง (painful reflex muscle spasms) ผู้ป่วยจะได้รับยา tolperisone ขนาด 300 มิลลิกรัมต่อวัน เป็นเวลา 21 วัน โดยเทียบกับยาหลอก พบว่า กลุ่มที่ได้รับยา tolperisone (56 คน) มีคะแนนระดับการรับรู้ความเจ็บปวดด้วยแรงกด (pressure pain threshold) 2.1 กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร ส่วนกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (56 คน) มีคะแนน 1.5 กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร ซึ่งแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p = 0.03) พบอาการไม่พึงประสงค์จากยา tolperisone เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียนและง่วงซึม ซึ่งไม่แตกต่างกับยาหลอก[7]

อย่างไรก็ตามจากการสืบค้นข้อมูล ไม่พบการศึกษาที่มีการใช้ยาคลายกล้ามเนื้อ 2 ชนิดร่วมกัน
เอกสารอ้างอิง
1. Orphenadrine citrate. USFDA [Internet]. Accessed on 10 Jan 2020. Available at : https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2008/013055s021lbl.pdf.
2. Orphenadrine citrate (Norflex®). Summary of product characteristics [Internet]. Accessed on 10 Jan 2020. Available at : https://pdf.hres.ca/dpdpm/00015942.pdf.
3. MIMS Online Thailand. Muscle relaxants [Internet]. Accessed on 10 Jan 2020. Available at : http://www.mims.com/thailand/drug/info/musclerelaxants.
4. Corbett AH, Dana WJ, Fuller MA, Gallagher JC, Golembiewski JA, Gonzales JP et al. Drug information handbook with international trade names index. 26th ed.
Ohio:Lexi-comp; 2017-2018.
5. Tolperisone. Summary of product characteristics [Internet]. Accessed on 10 Jan 2020. Available at : https://www.ema.europa.eu/en/documents/other/tolperisone product-information-approved-chmp-21-june-2012-pending-endorsement-european-commission_en.pdf.
6. Chou R, Peterson K, Helfand M. Comparative efficacy and safety of skeletal muscle relaxants for spasticity and musculoskeletal conditions: a systematic review. J Pain Symptom Manage. 2004 Aug;28(2):140-75. doi:10.1016/ j.jpain symman.2004.05.002. PubMed PMID : 15276195.
7. Pratzel HG, Alken RG, Ramm S. Efficacy and tolerance of repeated oral doses of tolperisone hydrochloride in the treatment of painful reflex muscle spasm: results of a prospective placebo-controlled double-blind trial. Pain. 1996 Oct;67 (2-3):417-25. doi:10.1016/0304-3959(96)03187-9. PubMed PMID : 8951937.
วันที่ตอบ : 22 ม.ค. 63 - 14:44:25




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110