ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
เปรียบเทียบผลการรักษา เมื่อใช้ guaifenesin syrup กับ ammone syrup ในเด็ก

เนื่องจาก ใน รพ.ชุมชน มียาน้ำแก้ไอ 2 ตัว คือ gg syrup กับ ammone syrup จึงอยากทราบว่ามีการศึกษาประสิทธิภาพระหว่างสองตัวนี้หรือไม่ และต่างกันอย่างไร เพื่อเป็นข้อมูลในการพิจารณายาออกจาก รพ.

[รหัสคำถาม : 372] วันที่รับคำถาม : 10 มี.ค. 65 - 11:32:58 ถามโดย : บุคลากร วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

Guaifenesin หรือ glyceryl guaiacolate เป็นยาที่องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริการองรับให้ใช้เพื่อบรรเทาอาการไอแบบมีเสมหะ โดยยาจะไปออกฤทธิ์เพิ่มสารคัดหลั่งในทางเดินหายใจ ลดความหนืดของเสมหะ ทำให้เสมหะถูกขับออกมาได้ง่ายขึ้น ยาถูกจัดอยู่ในกลุ่มยาขับเสมหะ การใช้ยาให้เกิดประสิทธิภาพดีต้องให้ผู้ป่วยดื่มน้ำร่วมด้วยให้มาก ขนาดยาที่ใช้สำหรับเด็กอายุ 2 ปี ถึงอายุ <6 ปี คือ 50-100 mg ทุก 4 ชั่วโมง เด็กอายุ 6 ปี ถึงอายุ <12 ปี คือ 100-200 mg ทุก 4 ชั่วโมง และเด็กอายุ ≥12 ปี คือ 200-400 mg ทุก 4 ชั่วโมง อาการข้างเคียงจะพบได้น้อย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง เวียนศีรษะ ปวดหัว ง่วงนอน เป็นต้น[1-2]
Ammon chloride หรือ ammonium chloride เป็นยาที่มีฤทธิ์ขับเสมหะ โดยยาจะไปออกฤทธิ์เพิ่มสารคัดหลั่งในทางเดินหายใจ ลดความหนืดของเสมหะ ทำให้เสมหะถูกขับออกมาได้ง่ายขึ้นเช่นเดียวกันกับ guaifenesin[3] มักถูกใช้ในรูปแบบผสมกับยาขับเสมหะตัวอื่นหรือยาแก้ไอตัวอื่น แต่องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกาไม่ได้ยอมรับให้ใช้เป็นยาช่วยขับเสมหะ[4] ทั้งนี้ไม่พบข้อมูลการศึกษาที่ศึกษาถึงประสิทธิภาพของยา guaifenesin และ ammonium chloride ที่ช่วยบรรเทาอาการไอขับเสมหะในเด็ก[4-8] รวมถึงไม่พบข้อมูลที่เปรียบเทียบประสิทธิภาพของยาทั้ง 2 ชนิด (guaifenesin และ ammonium chloride) พบเพียงการศึกษาประสิทธิภาพของ guaifenesin 1 การศึกษาในผู้ใหญ่ซึ่งเป็นการศึกษาแบบสุ่มในปี ค.ศ. 1982 การใช้ guaifenesin syrup 600 mg ทุก 6 ชั่วโมงเป็นเวลา 30 ชั่วโมง ในผู้ป่วยที่มีอาการไอจากโรคหวัด สามารถลดความหนืดของเสมหะได้มากกว่าการใช้ได้มากกว่าน้ำกระสายยาอย่างมีนัยสำคัญ (% improve 96 vs 54; p=0.001) แต่ความถี่ในการไอ ความรุนแรงของการไอ ความรู้สึกเจ็บหน้าอก และปริมาณเสมหะของทั้ง 2 กลุ่มไม่แตกต่างกัน[9]
โดยสรุป คือ ควรพิจารณาเลือกใช้ยา guaifenesin เนื่องจากเป็นยาที่องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริการองรับให้ใช้เพื่อบรรเทาอาการไอแบบมีเสมหะ ส่วน ammonium chloride ยังไม่มีการรองรับให้นำไปใช้ในการเป็นยาช่วยขับเสมหะ รวมถึงไม่มีการศึกษาที่จะสามารถพิจารณาถึงประสิทธิภาพของยาทั้ง 2 ชนิดในเด็กได้

เอกสารอ้างอิง
[1]. Lexicomp, Inc. guaifenesin: Drug information. In:Post TW, ed.UpToDate.Waltham: UpToDate; 2017 (Accessed on August 9, 2022).
[2]. Guaifenesin. In: In Depth Answers [database on the Internet]. Greenwood Village (CO): IBM Corporation; 2022 [cited 2022 August 31]. Available from: www.micromedexsolutions.com. Subscription required to view.
[3]. Brayfield A, Cadart CRM, Crehan EE. Martindale: The Complete Drug Reference. Ed.38. London: Pharmaceutical Press, 2014. 1651-1656.
[4]. McEvoy GK, Snow EK, Miller J. AHFS Drug Information Essentials. USA: American Society of Health-System Pharmacists, 2016. 2789-2790.
[5]. Pappas DE, Edwards MS, Torchia MM. The common cold in children: Management and prevention. In: UpToDate, Post TW (Ed), UpToDate, Waltham, MA. (Accessed on August 13, 2022).
[6]. Manti S, Tosca MA, Licari A, Brambilla I, Foiadelli T, Ciprandi G, Marseglia GL. Cough Remedies for Children and Adolescents: Current and Future Perspectives. Paediatr Drugs. 2020 December;22(6):617-634.
[7]. Kang, C. Acute cough remedies for children: so many options, not enough evidence. Drugs Ther Perspect 37, 358–362 (2021).
[8]. Smith SM, Schroeder K, Fahey T. Over-the-counter (OTC) medications for acute cough in children and adults in community settings. Cochrane Database Syst Rev. 2014 November 24;2014(11):CD001831.
[9]. Kuhn JJ, Hendley JO, Adams KF, Clark JW, Gwaltney JM Jr. Antitussive effect of guaifenesin in young adults with natural colds. Objective and subjective assessment. Chest. 1982 December;82(6):713-8.
วันที่ตอบ : 31 ส.ค. 65 - 13:38:36




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110