ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
Favipiravir ในผู้ป่วยโรคตับอักเสบบี

ผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบบี สามารถรับประทานยา favipiravir ได้หรือไม่ อย่างไร มีการปรับขนาดยาหรือป่าว

[รหัสคำถาม : 373] วันที่รับคำถาม : 16 มี.ค. 65 - 17:59:50 ถามโดย : บุคลากร วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

Favipiravir เป็นยาต้านไวรัสที่ออกฤทธิ์ยับยั้ง RNA-dependent RNA polymerases ของเชื้อ SARS-CoV-2[1] มีข้อบ่งใช้ในผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19 ที่มีอาการไม่รุนแรงและไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรงหรือมีปัจจัยเสี่ยง 1 ข้อ หรือผู้ป่วยที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงแต่มีภาวะปอดอักเสบระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง [2] ซึ่งปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง ได้แก่ 1) อายุมากกว่า 60 ปี 2) โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง 3) โรคไตเรื้อรัง 4) โรคหัวใจและหลอดเลือด 5) โรคหลอดเลือดสมอง 6) เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ 7) ภาวะอ้วน 8) ตับแข็ง 9) ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ 10) ผู้ติดเชื้อเอชไอวี [2]
ขนาดยาที่แนะนำโดยทั่วไปในผู้ใหญ่ คือ วันที่ 1 รับประทาน 1,800 มิลลิกรัม (9 เม็ด) วันละ 2 ครั้ง วันต่อมา 800 มิลลิกรัม (4 เม็ด) วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 5-10 วัน แต่หากผู้ป่วยมีน้ำหนักตัวมากกว่า 90 กิโลกรัม วันที่ 1 รับประทาน 2,400 มิลลิกรัม (12 เม็ด) วันละ 2 ครั้ง วันต่อมา 1,000 มิลลิกรัม (5 เม็ด) วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 5-10 วัน ขนาดยาในเด็กอายุน้อยกว่า 18 ปี วันที่ 1 รับประทาน 70 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน วันละ 2 ครั้ง วันต่อมา 30 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 5 วัน ควรเริ่ม favipiravir ภายใน 5 วัน ตั้งแต่เริ่มมีอาการจึงจะได้ผลดี[2] อาการไม่พึงประสงค์จากยา เช่น ภาวะกรดยูริกในเลือดสูง (hyperuricemia) ความอยากอาหารลดลง ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน เอนไซม์ตับเพิ่มขึ้น [3]
หลังจากเข้าสู่ร่างกาย favipiravir จะถูกแปรรูปที่ตับและขับออกจากร่างกายผ่านทางปัสสาวะเป็นหลัก[1] ยานี้มีข้อห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร และควรใช้ยาอย่างระมัดระวังในผู้ป่วยโรคเกาต์เนื่องจากยาอาจส่งผลให้มีกรดยูริกในเลือดสูงขึ้น [1,3] นอกจากนี้ มีการศึกษาพบว่า ระดับยา favipiravir ในเลือดจะเพิ่มขึ้น 2.1 เท่า 2.0 เท่า และ 3.7 เท่า ในผู้ป่วยที่การทำงานของตับบกพร่องระดับเล็กน้อย ปานกลาง และรุนแรง ตามลำดับ [4]
จากการศึกษาเชิงสังเกต (retrospective observational study) ในผู้ป่วย COVID-19 ที่รักษาตัวในโรงพยาบาลในประเทศไทยและได้รับ favipiravir จำนวน 63 ราย พบว่าในวันที่ 7 ของการรักษา ผู้ป่วยมีอาการทางคลินิกดีขึ้น ทั้งในกลุ่มผู้ป่วยทั้งหมด กลุ่มผู้ป่วยที่ไม่ใช้อุปกรณ์ช่วยหายใจ และกลุ่มผู้ป่วยที่ใช้อุปกรณ์ช่วยหายใจ คิดเป็นร้อยละ 66.7, ร้อยละ 92.5 และ ร้อยละ 47.2 ตามลำดับ โดยในการศึกษานี้มีผู้ป่วยโรคตับเรื้อรังจำนวน 3 คน พบว่าผู้ป่วยทั้ง 3 คนมีอาการทางคลินิกดีขึ้นในวันที่ 7 ของการรักษา อาการไม่พึงประสงค์จาก favipiravir ที่พบ ได้แก่ ท้องเสีย คลื่นไส้อาเจียน ตับอักเสบ ภาวะคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ (QT prolongation) และไม่มีรายงานการเกิดผลข้างเคียงรุนแรงที่อันตรายถึงแก่ชีวิต [5]
มีรายงานผู้ป่วยเพศชายอายุ 50 ปี ซึ่งมีภาวะตับแข็งจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี (hepatitis B-related cirrhosis) และได้รับยาการรักษาด้วยยา entecavir ผู้ป่วยมีระดับเอนไซม์ตับปกติก่อนได้รับยา favipiravir แต่หลังจากได้รับยา favipiravir เพื่อรักษาการติดเชื้อ COVID-19 (วันที่ 1 รับประทาน 3,600 มิลลิกรัม หลังจากนั้น 1,600 มิลลิกรัม เป็นเวลา 10 วัน) พบว่าผู้ป่วยมีระดับเอนไซม์ตับสูงขึ้น เกิดภาวะท้องมานและดีซ่านหลังได้รับยา 2 สัปดาห์ ผู้ป่วยเกิดโรคตับชนิดคอเลสเตซิส (cholestatic liver disease) ร่วมกับมีผลตรวจ HBV DNA เป็นลบ และผลการตรวจวินิจฉัยโรคด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) พบการเกิดภาวะตับแข็งร่วมกับมีความดันหลอดเลือดดำพอร์ทัลตับสูง (cirrhosis with portal hypertension) [6]
นอกจากนี้ ข้อมูลจากเอกสารกำกับยาระบุว่า เมื่อให้ยา favipiravir ในผู้ที่มีการทำงานของตับบกพร่องระดับเล็กน้อยและปานกลางในขนาด 1200 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้งเป็นเวลา 1 วันตามด้วย 800 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้งเป็นเวลา 4 วัน เปรียบเทียบกับผู้ที่มีสุขภาพดี พบว่าความเข้มข้นยาสูงสุดในเลือด (maximum concentration ; Cmax) และพื้นที่ใต้กราฟของความเข้มข้นของยากับเวลา (area under the concentration-time curve ; AUC) ในวันที่ 5 เพิ่มขึ้น 1.6 และ 1.7 เท่าตามลำดับ ในคนที่การทำงานของตับบกพร่องระดับเล็กน้อย และเพิ่มขึ้น 1.4 และ 1.8 เท่าตามลำดับ ในคนที่การทำงานของตับบกพร่องระดับปานกลาง และเมื่อให้ยา favipiravir ในผู้ที่มีการทำงานของตับบกพร่องระดับรุนแรงในขนาด 800 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้งเป็นเวลา 1 วันตามด้วย 400 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้งเป็นเวลา 4 วัน เปรียบเทียบกับผู้ที่มีสุขภาพดี พบว่า Cmax และ AUC ในวันที่ 3 เพิ่มขึ้น 2.1 และ 6.3 เท่าตามลำดับ [7]
ดังนั้น ผู้ป่วยที่มีภาวะตับอักเสบหรือการทำงานของตับบกพร่องจึงควรได้รับการปรับลดขนาดยา จากแนวทางเวชปฏิบัติการรักษาผู้ป่วย COVID-19 ประเทศไทย แนะนำว่าผู้ป่วยที่มีการทำงานของตับบกพร่องระดับปานกลางถึงรุนแรง ควรได้รับการปรับขนาดยา โดยวันที่ 1 ให้รับประทาน 800 มิลลิกรัม (4 เม็ด) วันละ 2 ครั้ง วันต่อมา 400 มิลลิกรัม (2 เม็ด) วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 10 วัน[2] ส่วนข้อมูลจากเอกสารกำกับยา ไม่ได้มีการระบุขนาดยาในผู้ป่วยที่มีการทำงานของตับบกพร่อง [7] และจาก review article แนะนำการปรับขนาดยาโดย 1) ผู้ป่วยที่มีการทำงานของตับบกพร่องระดับเล็กน้อย วันที่ 1 ให้รับประทาน 1200 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ตามด้วย 800 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 13 วัน 2) ผู้ป่วยที่มีการทำงานของตับบกพร่องระดับปานกลาง วันที่ 1 ให้รับประทาน 1200 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ตามด้วย 800 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 5 วัน 3) ผู้ป่วยที่มีการทำงานของตับบกพร่องระดับรุนแรง วันที่ 1 ให้รับประทาน 800 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ตามด้วย 400 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 2-3 วัน [4]

เอกสารอ้างอิง
[1]. Joshi S, Parkar J, Ansari A, Vora A, Talwar D, Tiwaskar M, Patil S, Barkate H. Role of favipiravir in the treatment of COVID-19. Int J. Infect. Dis. 2021 Jan;102:501-508.
[2]. กรมการแพทย์. แนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 24 วันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2565. [Internet]. Accessed on 17 Jul 2022. Available from: https://covid19.dms.go.th/Content/Select_Landding_page?contentId=175
[3]. Favipiravir. In: Specific Lexicomp Online Database [database on the internet]. Hudson (OH): Lexicomp Inc.: 2022 [updated 2022 May 27; cited 2022 Jul 16]. Available from: https://online.lexi.com. Subscription required to view.
[4]. Marra F, Smolders EJ, El-Sherif O, Boyle A, Davidson K, Sommerville AJ, Marzolini C, Siccardi M, Burger D, Gibbons S, Khoo S, Back D. Recommendations for Dosing of Repurposed COVID-19 Medications in Patients with Renal and Hepatic Impairment. Drugs R. D. 2021 Mar;21(1):9-27.
[5]. Rattanaumpawan P, Jirajariyavej S, Lerdlamyong K, Palavutitotai N, Saiyarin J. Real-World Effectiveness and Optimal Dosage of Favipiravir for Treatment of COVID-19: Results from a Multicenter Observational Study in Thailand. Antibiotics (Basel). 2022 Jun 15;11(6):805.
[6]. Kumar P, Kulkarni A, Sharma M, Rao PN, Reddy DN. Favipiravir-induced Liver Injury in Patients with Coronavirus Disease 2019. J. Clin. Transl. Hepatol. 2021 Apr 28;9(2):276-278.
[7]. Toyama Chemicals. Summary of Product Characteristics of Avigan. Accessed on 23 Jul 2022. Available from: https://www.google.com/url?sa=t&rct=j&q=&esrc=s&source=web&cd=&cad=rja&uact=8&ved=2ahUKEwiUsO6z9ZD5AhVyTGwGHVdfBZAQFnoECAYQAQ&url=https%3A%2F%2Fwww.sukl.cz%2Ffile%2F92989_1_1%2F&usg=AOvVaw1q5CIOKVWwqkm29Jnx9tav.

วันที่ตอบ : 27 ก.ค. 65 - 12:47:06




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110