ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
การใช้ยา

ยาแก้ไอสมุนไพร ที่มีส่วนผสมของ การบูร สามารถใช้ในเด็ก ได้หรือ และถ้าใช้ได้ควรมีส่วนผสมของการบูรเท่าไร

[รหัสคำถาม : 374] วันที่รับคำถาม : 18 มี.ค. 65 - 14:54:48 ถามโดย : บุคลากร วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

การบูร (camphor) เป็นสารประกอบกลุ่ม terpenoid hydrocarbon มีรสร้อนปร่า มักใช้เป็นส่วนประกอบของยาใช้ภายนอก เช่น ยาสูดดมเพื่อบรรเทาอาการไอ อาการหวัดและคัดจมูก หรือผสมในยาถูนวดเพื่อบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ นอกจากนี้ยังมีการใช้การบูรร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ ในหลายตำรับ ตามที่ปรากฎในบัญชียาจากสมุนไพรที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ในบัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. 2564 และบางตำรับสามารถนำมาใช้ในเด็กตั้งแต่อายุ 6 ปีขึ้นไป ได้แก่ ยาธาตุบรรจบ สำหรับบรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และยามันทธาตุ สำหรับบรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้ธาตุไม่ปกติ โดยควรระวังการใช้ยาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของตับไต เนื่องจากอาจเกิดการสะสมของการบูรและเกิดพิษได้ [1] นอกจากนี้อาจมีการนำการบูรไปใช้เป็นส่วนผสมของยาต่าง ๆ เนื่องจากตามตำรายาไทย การบูรยังมีสรรพคุณ ช่วยขับเหงื่อ ขับเสมหะ ขับปัสสาวะ แก้ไข้หวัด บำรุงธาตุ บำรุงหัวใจ เป็นต้น [2]
...
การบูร ที่เป็นส่วนประกอบของยาใช้ภายนอกสามารถถูกดูดซึมได้ดีผ่านผิวหนังและเยื่อบุต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็กซึ่งมีชั้นผิวหนังบาง ส่วนการบูรที่อยู่ในยากินสามารถถูกดูดซึมได้ดีและอาจเกิดความเป็นพิษได้ภายใน 5 ถึง 20 นาที หากได้รับการบูรเกินขนาด และสามารถแพร่กระจายไปยังเนื้อเยื่อของระบบอวัยวะต่าง ๆ ได้ดี เนื่องจากมีปริมาตรการกระจายยาสูง 2 - 4 ล./กก. มีความสามารถในการจับกับโปรตีนได้ร้อยละ 61 ค่าครึ่งชีวิตของการบูรในผู้ใหญ่ประมาณ 90 – 170 นาที [3,4]
...
อาการ และอาการแสดงของผู้ที่ได้รับการบูรเกินขนาดทางปากได้แก่ การระคายเคือง แสบร้อนภายในช่องปากและทางเดินอาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง มีความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลาง เช่น กระวนกระวาย มึนงง สับสน กล้ามเนื้อกระตุกหรือชัก ซึ่งมักเกิดเมื่อได้รับการบูรมากกว่า 30-50 มก./กก. และอาจทำให้ผู้ป่วยชักต่อเนื่องอย่างควบคุมไม่ได้ (refractory seizure) การหายใจล้มเหลว หากได้รับการบูรมากกว่า 60 มก./กก. [3] และมีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิตจากการได้รับการบูรเกินขนาด 6 ราย ได้รับการบูรขนาดเฉลี่ย 199 มก./กก. (พิสัย 64-570 มก./กก.) [5] American Association of Poison Control Centers มีคำแนะนำว่า ผู้ที่ได้รับการบูรมากกว่า 30 มก./กก. ควรได้รับการประเมินและรักษาอย่างเร่งด่วน [4] นอกจากนี้ยังมีรายงานการเสียชีวิตในเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 6 ปี ที่ได้รับการบูรขนาด 500-1,000 มก. [6]
...
ดังนั้น ควรใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของการบูรในเด็กอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 6 ปี หรือเด็กที่มีการทำงานของตับ หรือไตบกพร่องควรหลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีการบูรเป็นส่วนประกอบ เนื่องจากอาจเกิดผลข้างเคียงได้ง่ายแม้ได้รับปริมาณการบูรเพียงเล็กน้อย หากจำเป็นต้องใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวในเด็ก ท่านอาจต้องทราบอายุ น้ำหนัก และโรคประจำตัวของเด็ก รวมถึงปริมาณของการบูรที่มีอยู่ในสูตรตำรับ พร้อมทั้งให้คำแนะนำการใช้ยาเพื่อป้องกันการได้รับการบูรเกินขนาดและเฝ้าระวังผลข้างเคียงหรือพิษจากการบูรที่อาจเกิดขึ้น
...
เอกสารอ้างอิง
[1] คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ. ประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เรื่อง บัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. 2564 [อินเตอร์เน็ต]. 31 พฤษภาคม 2564. (เข้าถึงเมื่อ 27 มีนาคม 2565). เข้าถึงจาก http://ndi.fda.moph.go.th/uploads/file_news/20210723999860392.pdf
[2] ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. การบูร [อินเตอร์เน็ต]. (เข้าถึงเมื่อ 27 มีนาคม 2565). เข้าถึงจาก : http://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=19
[3] Yin S. Camphor poisoning in children [Internet]. 2021 Mar 12 [cited 2022 Mar 27]. Available from: https://www.uptodate.com/contents/camphor-poisoning-in-children
[4] Manoguerra AS, Erdman AR, Wax PM, Nelson LS, Caravati EM, Cobaugh DJ, et al. Camphor Poisoning: an evidence-based practice guideline for out-of-hospital management. Clin Toxicol (Phila). 2006;44(4):357-70.
[5] Geller RJ, Spyker DA, Garrettson LK, Rogol AD. Camphor toxicity: development of a triage strategy. Vet Hum Toxicol. 1984;26 (Suppl 2):8-10.
[6] Love JN, Sammon M, Smereck J. Are one or two dangerous? Camphor exposure in toddlers. J Emerg Med. 2004 Jul;27(1):49-54.
วันที่ตอบ : 27 มี.ค. 65 - 16:32:59




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110