ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
nitaquin

1. ยา nitaquin 250 mg สามารถหักแบ่งครึ่ง รับประทานได้หรือไม่
2) สามารถให้ยา nitaquinกับคนไข้เพื่อรักษาคนโรครูมาตอยด์ ไม่เกินวันละกี่มิลลิกรัมต่อวัน

[รหัสคำถาม : 375] วันที่รับคำถาม : 21 มี.ค. 65 - 08:49:38 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

NITAQUIN คือ ยา chloroquine phosphate ขนาด 250 mg ขึ้นทะเบียนยาในประเทศไทยรูปแบบ Compressed tablet เป็นยาเม็ดชนิดรูปแบบไม่เคลือบ สามารถปลดปล่อยตัวยาทันทีหลังรับประทาน (Immediate release; IR)[1-2] รูปแบบยาเม็ดลักษณะนี้สามารถ หัก แบ่ง หรือบดเม็ดยาได้เนื่องจากไม่ทำให้เสียคุณสมบัติใดๆ ทางเภสัชจลนศาสตร์ของยา[3] ดังนั้นในการใช้ยาหากจำเป็นต้องแบ่งครึ่งเม็ดยาก็สามารถทำได้
Chloroquine เป็นยาที่อยู่ในกลุ่ม Disease modifying anti-rheumatic drugs (DMARDs) ใช้เพื่อชะลอการดำเนินไปของโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ซึ่งขนาดยาที่แนวเวชปฏิบัติเพื่อการวินิจฉัยและการดูแลรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ สมาคมรูมาติสซั่มแห่งประเทศไทย ปี พ.ศ. 2557 แนะนำให้ใช้ในผู้ใหญ่ คือ เริ่มต้น 125-250 mg/day สามารถเพิ่มขนาดยาได้ครั้งละ 125 mg ทุก 12 สัปดาห์ ขนาดสูงสุดที่แนะนำ คือ 250 mg/day[4] โดยแนะนำให้หยุดยาหากอาการไม่ดีขึ้นหลังจากใช้ยา 6 เดือน อาการข้างเคียงที่อาจพบได้ เช่น ความผิดปกติของจอประสาทตา ผมร่วง ปวดหัว ผื่นผิวหนัง คัน คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย เป็นต้น[5-6] อย่างไรก็ตาม Chloroquine เป็นยาที่มีข้อบ่งชี้อื่นๆ อีก เช่น รักษาโรคมาลาเรีย โรคแพ้ภูมิตัวเอง (SLE) เป็นต้น ซึ่งขนาดยาและขนาดยาสูงสุดที่แนะนำไว้ในแต่ละข้อบ่งชี้อาจมีความแตกต่างกัน เช่น โรคแพ้ภูมิตัวเอง (SLE) ขนาดสูงสุดที่แนะนำใช้ คือ 2.3 mg/kg/day[5]
ทั้งนี้เนื่องจากการใช้ chloroquine ในระยะเวลาที่นานๆ จนมีระดับยาสะสมในร่างกายสูง อาจจะก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง ได้แก่ ความผิดปกติของจอประสาทตา (retinopathy) โรคกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ (cardiomyopathy)[5] พบการใช้ chloroquine จนมีขนาดสะสมเป็น 100 g หรือใช้ 250 mg/day เป็นระยะเวลานาน 1 ปี ทำให้เกิดความผิดปกติของจอประสาทตา[6] พบการใช้ chloroquine จนมีขนาดสะสมเป็น 1,277-1,843 g หรือใช้ 250 mg/day เป็นระยะเวลา 13 ปี อาจทำให้เกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติได้[7] ดังนั้นหากต้องใช้ยาในข้อบ่งชี้ที่นาน เช่น SLE ทาง American Academy of Ophthalmology (AAO) แนะนำให้ใช้ขนาดสูงสุดอยู่ที่ 2.3 mg/kg/day เป็นต้น[5]
โดยสรุปคือ ยาเม็ด NITAQUIN 250 mg สามารถหักแบ่งครึ่งเม็ดยาในการรับประทานได้ โดยขนาดที่แนวเวชปฏิบัติเพื่อการวินิจฉัยและการดูแลรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ สมาคมรูมาติสซั่มแห่งประเทศไทย ปี พ.ศ. 2557 แนะนำ คือ เริ่มต้น 125-250 mg/day ขนาดยาสูงสุดที่แนะนำไว้ คือ 250 mg/day อย่างไรก็ตามหากต้องใช้ยาในระยะเวลานานๆ มีข้อมูลแนะนำให้ใช้ขนาดสูงสุดอยู่ที่ 2.3 mg/kg/day โดยคำนวณตามน้ำหนักตัวของผู้ป่วย โดยก่อนเริ่มใช้ยาผู้ป่วยควรได้รับการตรวจจอประสาทตา คลื่นไฟฟ้าหัวใจ และติดตามการตรวจตา และจอประสาทตาทุก 12 เดือน[4-5]

เอกสารอ้างอิง
[1]. MIMS Thailand. (2022). Nitaquin. In MIMS Online. https://www.mims.com/thailand/drug/info/nitaquin.
[2]. MIMS Thailand. (2021). Thailand national list of essential medicines (NLAEM). MIMS Online. Retrieved August 5, 2022, https://pubmiddleware.mims.com/resource/document/B3E5D074-DFF7-4D38-8DF7-A52200A5680E/pdf/A15_A120_MIMS_2_2021_NLEM_for%20web.pdf?client=MIMS%20Publication-Topic&email=&country=Thailand&referenceId=Thailand%20National%20List%20of%20Essential%20Medicines%20(NLEM)
[3]. Saygisever-Faikoglu K, Faikoglu G, Ozcan FO, Uskur T, Yillar DO, Berk B, Ugur PK. The pharmacological perspective on tablet splitting or crushing. Pharmacy & Pharmacology International Journal. 2022 Feb;10(1):22-27.
[4]. คณะกรรมการจัดทําแนวเวชปฏิบัติ เพื่อการวินิจฉัยและการดูแลรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์. สมาคมรูมาติสซั่มแห่งประเทศไทย ปี พ.ศ. 2557:17-35.
[5]. Lexicomp, Inc. chloroquine: Drug information. In:Post TW, ed.UpToDate.Waltham: UpToDate; 2017 (Accessed on August 5, 2022).
[6]. Brayfield A, Cadart CRM, Crehan EE. Martindale: The Complete Drug Reference. Ed.38. London: Pharmaceutical Press, 2014. 650.
[7]. Doyno C, Sobieraj DM, Baker WL. Toxicity of chloroquine and hydroxychloroquine following therapeutic use or overdose. Clin Toxicol (Phila). 2021 Jan;59(1):12-23.
วันที่ตอบ : 23 ส.ค. 65 - 16:21:35




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110