ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
วิตามิน C

วิตามิน ซี มีประโยชน์อย่างไรบ้าง ควรกินวันละกี่เม็ด กินตอนไหนดี หากกินติดต่อกันนานๆ จะมีโทษไหม

[รหัสคำถาม : 376] วันที่รับคำถาม : 21 มี.ค. 65 - 13:33:41 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

วิตามินซีหรือที่รู้จักในชื่อ ascorbic acid เป็นวิตามินที่ละลายน้ำ ซึ่งมีอยู่ตามธรรมชาติในผักและผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว (เช่น ส้มและเกรปฟรุต) วิตามินซีมีประโยชน์มากมาย โดยจำเป็นต่อการการสังเคราะห์คอลลาเจนซึ่งเป็นโปรตีนที่จำเป็นต่อการสมานแผล  แอลคาร์นิทีน และสารสื่อประสาทบางชนิด และยังเกี่ยวข้องกับการเผาผลาญโปรตีน เมื่อวิตามินซีเข้าสู่ร่างกายจะทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยปกป้องเซลล์จากอนุมูลอิสระ ซึ่งจะเกิดจากการที่ร่างกายเปลี่ยนอาหารที่รับประทานเข้าไปเป็นพลังงาน หรือได้รับมาจากควันบุหรี่ มลพิษทางอากาศ และแสงอัลตราไวโอแลตจากดวงอาทิตย์ ช่วยเพิ่มการดูดซึมธาตุเหล็กจากอาหาร พืช[1] ใช้รักษาแผลไฟไหม้ทำให้แผลหายเร็วขึ้น และใช้ในผู้ที่เป็นโรคลักปิดลักเปิด (เลือดออกตามไรฟัน)[2]

โดยปริมาณของวิตามินซีที่ควรได้รับต่อวันตาม Recommended Dietary Allowances (RDA) ในผู้ที่อายุมากกว่า 18 ปี ผู้ชาย 90 มก.  ผู้หญิง 75 มก. ต่อวัน และไม่ควรเกิน 2,000 มก. ต่อวัน[2]  ซึ่งในประชากรทั่วไปมักจะได้รับวิตามินซีอย่างเพียงพอจากการรับประทานอาหาร[1]

มีการศึกษาเกี่ยวกับการใช้วิตามินซีในการป้องกันและรักษาอาการหวัด พบว่าในการใช้เพื่อป้องกันการเป็นหวัด การรับประทานวิตามินซีในขนาด 250 – 1,000 มก./วัน  เป็นระยะเวลาตั้งแต่ 2 สัปดาห์ขึ้นไปในคนทั่วไป ไม่สามารถป้องกันการเกิดหวัดได้ แต่ป้องกันได้ในผู้ที่ออกกำลังกายอย่างหนัก โดยลดอัตราการเกิดหวัดได้ร้อยละ 50 ในคนทั่วไปการรับประทานวิตามินซี ขนาด 500 – 1,000 มก./วัน อย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกวันตั้งแต่ 2 สัปดาห์ขึ้นไป จะทำให้จำนวนวันในการเป็นหวัดลดลง ในผู้ใหญ่พบว่าลดลงร้อยละ 8 และในเด็กลดลงร้อยละ 14 และยังช่วยลดความรุนแรงของอาการหวัด  การใช้วิตามินซีเพื่อรักษาอาการหวัดพบว่าไม่ได้ช่วยลดระยะเวลาของการเป็นหวัด[3]

การใช้วิตามินซีในการรักษาผู้ติดเชื้อโควิด 19 จากการสืบค้นข้อมูล พบว่าการใช้วิตามินซีในปริมาณสูง 50 มก./กก./วัน ถึง 24 กรัม/วัน  ในผู้ป่วยอายุมากกว่า 18 ปี ที่ติดเชื้อโควิด 19 ที่มีอาการรุนแรง (ผู้ที่เข้ารับการรักษาใน ICU ค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด < ร้อยละ 94) หรือผู้ที่ติดเชื้อโควิด 19 ที่อาการไม่รุนแรง  โดยให้ร่วมกับการรักษามาตรฐานเปรียบเทียบกับผู้ป่วยที่ได้รับการรักษามาตรฐานอย่างเดียว (การใช้ยาต้านไวรัส ยาฆ่าเชื้อ ยาลดไข้หรือยาต้านมาลาเรีย) ผลลัพธ์ที่ได้ไม่แตกต่างกัน การใช้วิตามินซีไม่ได้ลดอัตราการเสียชีวิต หรือลดระยะเวลาการพักรักษาตัวใน ICU ระยะเวลาการนอนโรงพยาบาล  หรือการใช้เครื่องช่วยหายใจ แสดงให้เห็นว่าการใช้วิตามินซีในการรักษาผู้ติดเชื้อโควิด 19 ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์[4]

โดยสรุปการรับประทานวิตามินซีเสริมควรทำในผู้ที่มีความจำเป็นต้องได้รับ เช่น ผู้ที่เป็นโรคจากการขาดวิตามินซี (โรคลักปิดลักเปิด) หรือผู้ที่มีแผลไฟไหม้ การใช้วิตามินซีเพื่อประโยชน์ในการป้องกันการเป็นหวัด หรือเพื่อรักษาในกรณีติดเชื้อโควิด-19 พบว่าไม่ทำให้เกิดประโยชน์ นอกจากนี้อาจต้องระวังผลข้างเคียงจากการใช้วิตามินซีในปริมาณสูง ได้แก่ อาการปวดท้อง ท้องเสีย คลื่นไส้ [1,2,3,4]

เอกสารอ้างอิง
[1]. Vitamin C. In: Fact Sheet for Consumers [database on the Internet]. Bethesda, Maryland: National Institutes of Health [update 22 Mar. 2021; cited 23 Nov. 2022]. Available from: https://ods.od.nih.gov/factsheets/VitaminC-Consumer/.
[2]. Ascorbic Acid. In Lexi-Drugs Multinational [database on the internet]. Hudson(OH): Lexicomp, Inc.: n.d [update 08 Nov. 2022; cited 23 Nov. 2022]. Available from: https://online.lexi.com/lco/action/doc/retrieve/docid/multinat_f/4668925.
[3]. Hemilä H, Chalker E. Vitamin C for preventing and treating the common cold. Cochrane Database Syst. Rev. 31 Jan. 2013;2013(1):CD000980. doi: 10.1002/14651858.CD000980.pub4. PMID: 23440782; PMCID: PMC8078152.
[4]. Rawat D, Roy A, Maitra S, Gulati A, Khanna P, Baidya DK. Vitamin C and COVID-19 treatment: A systematic review and meta-analysis of randomized controlled trials. Diabetes Metab. Syndr. 2021 Nov.-Dec. 15(6):102324. doi: 10.1016/j.dsx.2021.102324. Epub 28 Oct. 2021. PMID: 34739908; PMCID: PMC8552785.

วันที่ตอบ : 02 ก.พ. 66 - 16:00:03




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110