ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
ยาคุมฉุกเฉิน

ช่วงบ่ายผู้ป่วยมีเพศสัมพันธ์เมื่อ 2 ชม ก่อน มาขอซื้อยาคุมฉุกเฉินเพื่อกินทันที และตั้งใจมีเพศสัมพันธ์อีกครั้งในช่วงเย็นวันเดียวกัน อยากทราบว่าหลังจากกินยาคุมฉุกเฉินแบบรวมเม็ดทันทีตอนนี้ หลังกิจกรรมครั้งที่สอง ควรกินอีกเม็ดหรือไม่ มีอันตรายต่อคนไข้หรือไม่

[รหัสคำถาม : 380] วันที่รับคำถาม : 12 เม.ย. 65 - 09:04:47 ถามโดย : บุคลากร วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

การใช้ยาคุมฉุกเฉินเป็นการคุมกำเนิดเพื่อลดความเสี่ยงของการตั้งครรภ์หลังการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่มีการป้องกัน ยาที่ใช้ คือ levonorgestrel ขนาด 1.5 mg รับประทานครั้งเดียว ควรใช้ยาไม่เกิน 72 ชั่วโมงหลังการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน[1,2] แต่หากมีความจำเป็นอาจจะใช้ในเวลาที่เกินจากที่กำหนดแต่สูงสุดที่ 120 ชั่วโมง (5 วัน) อย่างไรก็ตามประสิทธิภาพของยา levonorgestrel จะสูงกว่าหากใช้ยาภายใน 72 ชั่วโมง[1] โดยยามีกลไกในการป้องกันการตั้งครรภ์คือ เพิ่มความข้นเหนียวของมูกช่องคลอด (cervical mucus) ทำให้ยับยั้งการผ่านของอสุจิไปยังมดลูก ยับยั้งการตกไข่จากการลดการหลั่งฮอร์โมน follicle stimulating hormone (FSH) และ luteinizing hormone (LH) และเปลี่ยนแปลงเยื่อบุโพรงมดลูกทำให้มีผลต่อการฝังตัวอ่อน ซึ่งยาจะไม่มีประสิทธิภาพหากมีการฝังตัวของตัวอ่อนเกิดขึ้นแล้ว ยาทำให้มีอาการไม่พึงประสงค์ เช่น อ่อนล้า (ร้อยละ 13) ประจําเดือนมามาก (ร้อยละ 31) คลื่นไส้ (ร้อยละ 14) อาเจียน เป็นต้น[2]
การใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินในหนึ่งรอบประจำเดือน สามารถใช้ได้มากกว่า 1 ครั้ง[1,3] โดยไม่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพ โดยเฉลี่ยยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน (levonorgestrel) จะลดการตั้งครรภ์สำหรับการมีเพศสัมพันธ์แต่ละครั้งได้ร้อยละ 59 ถึงร้อยละ 95 ประสิทธิภาพขึ้นอยู่กับวันที่ใช้ยาในรอบเดือนของผู้หญิงและระยะเวลาที่ใช้หลังจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีการป้องกัน โดยที่ไม่มีหลักฐานที่บ่งชี้ว่ายาคุมกำเนิดฉุกเฉินจะมีประสิทธิภาพน้อยลงเมื่อใช้ซ้ำหลายครั้ง ทั้งนี้ยาจะป้องกันการคุมกำเนิดในช่วงเวลาสั้น ๆ หากมีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีการป้องกันหลังจากรับประทานยาคุมกำเนิดฉุกเฉินจึงยังมีความเสี่ยงที่จะตั้งครรภ์ได้อีก แต่หากมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกันภายใน 24 ชั่วโมง หลังรับประทานยาคุมกำเนิดฉุกเฉินก็ไม่จำเป็นต้องรับประทานยาซ้ำ[3] โดยจากการศึกษาการใช้ยา levonorgestrel 0.75 มก. หลายครั้งในหนึ่งรอบเดือน ในด้านความปลอดภัยพบว่าไม่มีรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่ร้ายแรง ผลข้างเคียงหลักที่พบคือ ประจำเดือนมาไม่ปกติ โดยที่ไม่มีหลักฐานที่แสดงถึงความสอดคล้องของความสัมพันธ์ระหว่างประจำเดือนมาไม่ปกติกับความถี่ในการรับประทานยาหรือปริมาณยาที่ใช้ และไม่พบความสัมพันธ์ที่สอดคล้องกันระหว่างการเกิดผลข้างเคียงกับความถี่ในการรับประทานยาหรือปริมาณยาที่ใช้เช่นกัน[4]
โดยสรุปสามารถใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินได้มากกว่า 1 ครั้งในหนึ่งรอบประจำเดือน และหากมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกันภายใน 24 ชั่วโมง หลังรับประทานยาคุมกำเนิดฉุกเฉินไม่จำเป็นต้องรับประทานยาซ้ำ[3] โดยอาจเกิดอาการไม่พึงประสงค์ เช่น ประจําเดือนมามาก (ร้อยละ 31) คลื่นไส้ (ร้อยละ 14) อาเจียน เป็นต้น[2]

[1]. Turok D. Emergency contraception. In: UpToDate, Post TW (Ed), UpToDate, Waltham, MA. (Accessed on Oct. 03, 2022).
[2]. Levonorgestrel (Systemic). In: Lexi-Drugs Online [database on the Internet]. Hudson (OH): Lexicomp Inc.: publication year [updated 4 Oct. 2022; cited 5 Oct. 2022]. Available from: https://online.lexi.com/lco/action/doc/retrieve/docid/multinat_f/5873161?cesid=1iPkhroz0vl&searchUrl=%2Flco%2Faction%2Fsearch%3Fq%3DLevonorgestrel%26t%3Dname%26acs%3Dfalse%26acq%3DLevonorgestrel#doa.
[3]. International Consortium for Emergency Contraception. Repeated Use of Emergency Contraceptive Pills: The Facts. [Internet]. 2015 [cited 23 Oct. 2022]. Available form: https://www.cecinfo.org/publications-and-resources/icec-publications/repeated-use-emergency-contraceptive-pills-facts/?fbclid=IwAR1WyzYJ6zQHPOowcDZarqLbP9JlGvbAUSQyxg_OT-vf2Cb-Fvc0IIA8dr4.
[4]. Halpern V, Raymond EG, Lopez LM. Repeated use of pre- and postcoital hormonal contraception for prevention of pregnancy. Cochrane Database Syst Rev. 2014 Sep. 26;2014(9):CD007595.

วันที่ตอบ : 09 พ.ย. 65 - 13:58:15


No : 2

ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินที่มีตัวยาสำคัญ คือ Levonorgestrel (LNG) เป็นยาในกลุ่มโพรเจสติน (progestins) ซึ่งเป็นสารสังเคราะห์เลียนแบบโพรเจสเตอโรน (progesterone) มี 2 รูปแบบ ได้แก่ แบบที่มีตัวยา 0.75 mg/เม็ด บรรจุ 2 เม็ด/กล่อง และแบบที่มีตัวยา 1.5 mg/เม็ด บรรจุ 1 เม็ด/กล่อง[1] โดยกลไกการออกฤทธิ์ของ LNG สำหรับการป้องกันการตั้งครรภ์ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มีสมมติฐานว่ายามีผลต่อการหนาตัวของมูกบริเวณปากมดลูกเพื่อยับยั้งการผ่านเข้ามาและการอยู่รอดของสเปิร์ม ยาป้องกันการตกไข่โดยยับยั้งการเพิ่มสูงขึ้นของ luteinizing hormone (LH) นอกจากนี้ยาอาจเปลี่ยนแปลงเยื่อบุโพรงมดลูกที่อาจส่งผลต่อการฝังตัว[2-3] โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (USFDA) ยอมรับให้ใช้ยา LNG ภายใน 72 ชั่วโมงในผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน หรือผู้ที่คาดว่าจะล้มเหลวจากการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด โดยขนาดที่แนะนำคือ รับประทาน 1.5 mg ครั้งเดียว ภายใน 72 ชั่วโมง หรือรับประทานครั้งละ 0.75 mg 2 ครั้งห่างกัน 12 ชั่วโมงหลังทานยาเม็ดแรก[7] และหากมีอาการอาเจียนหลังจากรับประทานยาภายใน 2 ชั่วโมง จำเป็นต้องรับประทานยาเดิมซ้ำ[4] จากการศึกษาประสิทธิภาพและความปลอดภัยของ LNG เมื่อรับประทานยาขนาด 1.5 mg ครั้งเดียว ภายใน 72 ชั่วโมงหลังจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน พบว่ายามีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ได้ 92.99% และมีอาการข้างเคียงจากการใช้ยา เช่น อาเจียน วิงเวียน ปวดท้องน้อย คลื่นไส้ ปวดศีรษะ ปวดเต้านม และประจำเดือนมาผิดปกติ[5] แต่สำหรับการรับประทานยา LNG 1.5 mg ซ้ำอีกครั้งภายใน 1 วัน ยังไม่พบการศึกษาหรือข้อมูลที่ชัดเจนถึงประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ด้วยวิธีดังกล่าวได้ จึงจำเป็นต้องพิจารณาความปลอดภัยจากการใช้ยาแทน ซึ่งมีข้อมูลกล่าวถึงการใช้ยา LNG ซ้ำแต่ไม่ได้ระบุช่วงเวลา พบว่าเกิดผลข้างเคียง เช่น มีภาวะเลือดออกผิดปกติบ่อยครั้ง ปวดศีรษะ คลื่นไส้ และปวดท้องหรืออุ้งเชิงกราน[6] นอกจากนี้องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าการใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินบ่อยครั้งทำให้เกิดผลข้างเคียงจากยาได้เพิ่มมากขึ้น และทำให้ได้รับฮอร์โมนในปริมาณที่สูงในหนึ่งรอบเดือน[7] ดังนั้นจึงไม่แนะนำให้ใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินเป็นประจำ โดยหากต้องการมีเพศสัมพันธ์อีกครั้งภายวันเดียวกันหลังจากรับประทานยาคุมกำเนิดฉุกเฉินไปแล้ว แนะนำให้ใช้วิธีการคุมกำเนิดอื่นร่วมด้วย เช่น ถุงยางอนามัย ทั้งนี้ควรตระหนักถึงความเสี่ยงที่อาจตั้งครรภ์ได้เนื่องจากไม่มีวิธีการคุมกำเนิดใดที่สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ 100% ดังนั้นควรหมั่นสังเกตความผิดปกติของรอบเดือนหลังจากการมีเพศสัมพันธ์ หากพบความผิดปกติแนะนำให้ตรวจการตั้งครรภ์หรือปรึกษาแพทย์

เอกสารอ้างอิง
[1]. MIMS Thailand. (2022). Emergency OC. In MIMS Online.
Available from: https://www.mims.com/thailand/drug/search?q=emergency%20oc&mtype=brand.
[2]. Turok D. Emergency contraception. In: UpToDate, Post TW, ed. UpToDate. Waltham, MA. (Accessed on 2022 Nov. 20).
[3]. Levonorgestrel (systemic). In: Lexi-drugs online [database on the Internet]. Hudson (OH): Lexicomp, Inc.; [cited 2022 Nov. 20]. Available from: http://online.lexi.com.
[4]. Vrettakos C, Bajaj T. Levonorgestrel. In: StatPearls [Internet]. Treasure Island (FL): StatPearls Publishing; 2022 [cited 2022 Nov. 19]. Available from: http://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK539737/.
[5]. Arowojolu AO, Okewole IA, Adekunle AO. Comparative evaluation of the effectiveness and safety of two regimens of levonorgestrel for emergency contraception in Nigerians. Contraception. 2002 Oct.;66(4):269–73.
[6]. Faculty of Sexual and Reproductive Healthcare (FSRH). Combined hormonal contraception. January 2019. [cited 2022 Nov. 20]. Available at: fsrh.org/standards-and-guidance/documents/combined-hormonal-contraception.
[7]. World Health Organization. Emergency contraception (A Guide for service delivery) [Internet]. 1998 [cited 2022 Nov. 30]. Available from: https://apps.who.int/iris/bitstream/handle/10665/64123/WHO_FRH_FPP_98.19.pdf?sequence=1.

วันที่ตอบ : 17 ม.ค. 66 - 11:10:07




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110