ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
Spironolactone สำหรับสาวข้ามเพศ

พอดีหนูตัดสินใจที่จะข้ามเพศ และได้ปรึกษากับเพื่อนที่เป็นทรานส์เหมือนกันแต่เพื่อนนั้นอาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกา ให้คำแนะนำว่าให้กินตัว spironolactone เพราะที่นู้นเขาไม่อนุมัติให้ใช้ androcur ในการข้ามเพศ หนูก็พยายามหาซื้อแบ้วแต่มันหาซื้อยากมาก จนมาเจอยาตัวนึงชื่อ aldactone ไม่ทราบว่าสามารถนำมาใช้ทดแทนกันได้มั้ยคะ แล้วถ้าเกิดว่าหนูใช้แค่ spironolactone/aldactone โดยที่ไม่ได้ใช้ร่วมกับ estrogen/estradiol จะเป็นอะไรมั้ยคะ ขอบคุณค่ะ

[รหัสคำถาม : 382] วันที่รับคำถาม : 08 พ.ค. 65 - 13:15:47 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

การให้ฮอร์โมนเพื่อการข้ามเพศมีเป้าหมายหลักอยู่ 2 ประการ คือ
1. เพื่อลดระดับของฮอร์โมนเพศเดิมในร่างกาย
2. เพื่อเสริมฮอร์โมนเพศและให้ร่างกายมีลักษณะเป็นไปตามเพศสภาพที่ต้องการ
การใช้ฮอร์โมนในผู้หญิงข้ามเพศ โดยเฉพาะผู้ที่ยังไม่ได้รับการผ่าตัดแปลงเพศ แนะนำให้ใช้ฮอร์โมน 2 ชนิดคู่กันคือ Estrogen และ Anti-androgen เนื่องจากหญิงข้ามเพศที่ยังไม่ได้ตัดอัณฑะยังมีฮอร์โมน androgen ที่สร้างจากอัณฑะที่ทำให้เกิดขนดกหรือผิวมันได้หรือลักษณะทางเพศสภาพเดิม[1,2] อย่างไรก็ตามในปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปอย่างแน่ชัดในการเปรียบเทียบประสิทธิภาพและความปลอดภัยของการใช้ฮอร์โมน Anti-androgen และ Estradiol เพียงอย่างเดียวหรือร่วมกันในหญิงข้ามเพศ[3]

ฮอร์โมนที่มีการใช้ในหญิงข้ามเพศมี 2 กลุ่ม คือ
1. ฮอร์โมนเอสโตรเจน(Estrogen) แนะนำให้ใช้ Estradiol ชนิดรับประทาน เป็น 17β-estradiolhemihydrate (Estrofem) หรือestradiol valerate (Progynova) ขนาดยาที่ใช้คือ 2-6 มิลลิกรัม/วัน ไม่แนะนำให้ใช้เอสโตรเจนที่อยู่ในยาคุมกำเนิดแบบรับประทานเช่น ยาคุมกำเนิดชนิดฮอรโมนรวมที่ประกอบด้วยเอสโตรเจนและโปรเจสตริน เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนสามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนโรคหลอดเลือดดำอุดตันสูงกว่า 17β-estradiol hemihydrate อีกทั้งเอสโตรเจนไม่สามารถวัดระดับในเลือดได้ แนวทางในปัจจุบันไม่แนะนำการให้ฮอร์โมนโปรเจสตรินในหญิง ข้ามเพศเพราะอาจทำให้เกิดหลอดเลือดดำอุดตัน,โรคหลอดเลือดหัวใจเพิ่มขึ้น,น้ำหนักเพิ่มหรือไขมันในเลือดสูงเป็นต้น[1,2] และยังไม่มีข้อมูลการศึกษาที่ดีพอที่จะช่วยยืนยันถึงประโยชน์หรือความเสี่ยงของการให้โปรเจสเตอโรนในหญิงข้ามเพศที่ชัดเจน[1]
2. ฮอร์โมนแอนติเอนโดรเจน (anti-androgens) ที่มีแนะนำให้ใช้ในหญิงข้ามเพศในประเทศไทย มี 2 ชนิด คือ spironolactone (Aldactone®) และ cyproterone acetate (Androcur®) โดยขนาดยาที่แนะนำคือ Spironolactone ขนาด100-300 มิลลิกรัม/วัน Cyproterone acetate ขนาด 25-50 มิลลิกรัม/วัน อย่างไรก็ตามยังไม่มีการศึกษาเปรียบเทียบการลดระดับฮอร์โมนชายเพื่อการข้ามเพศ ระหว่าง spironolactone และ cyproterone acetate

การปรับขนาดฮอร์โมนจะต้องปรับตามเป้าหมายระดับฮอร์โมนในเลือด คือระดับ Testosterone น้อยกว่า 50 นาโนกรัม/เดซิลิตร และระดับ Estradiol 100-200 พิโคกรัม/มิลลิลิตร[1,2] การให้ฮอร์โมนข้ามเพศควรพิจารณาในผู้ที่ต้องการข้ามเพศเป็นราย ๆ เพื่อคำนึงถึงประโยชน์เทียบกับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น ดังนั้นผู้ที่ต้องการใช้ฮอร์โมนเพื่อข้ามเพศควรอยู่ภายใต้การดูแลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

เอกสารอ้างอิง
[1]. คู่มือการให้บริการสุขภาพคนข้ามเพศประเทศไทย.ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านสุขภาพคนข้ามเพศ (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2563)
[2]. Hembree WC, Cohen-Kettenis PT, Gooren L, Hannema SE, Meyer WJ, Murad MH, Rosenthal SM, Safer JD, Tangpricha V, T'Sjoen GG. Endocrine Treatment of Gender-Dysphoric/Gender-Incongruent Persons: An Endocrine Society Clinical Practice Guideline. J Clin Endocrinol Metab. 2017 Nov 1;102(11):38693903.doi:10.1210/jc.2017-01658.
[3]. Haupt C, Henke M, Kutschmar A, Hauser B, Baldinger S, Saenz SR, Schreiber G. Antiandrogen or estradiol treatment or both during hormone therapy in transitioning transgender women. Cochrane Database Syst Rev. 2020 Nov 28;11(11):CD013138. doi: 10.1002/14651858.CD013138.pub2.

วันที่ตอบ : 02 ม.ค. 67 - 15:04:21




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110