ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
drug of choice in BPH

คุณพ่อ อายุ 79 ปี เป็นโรคต่อมลูกหมากโต เคยใช้ ยา alfuzosin มาตลอดได้ผลดี ตอนนี้ eGFR <30 ยังไม่ได้ฟอกไต ยังสามารถใช้ยาต่อได้หรือไม่ หรือ มียาอื่นที่ดีและ ปลอดภัยให้เลือกมั้ย

[รหัสคำถาม : 383] วันที่รับคำถาม : 11 พ.ค. 65 - 18:05:04 ถามโดย : บุคลากร วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

โรคต่อมลูกหมากโต (benign prostatic hyperplasia) พบประมาณร้อยละ 60 ในชายอายุ 60 ปี และร้อยละ 80 ในชายอายุ 80 ปี ทำให้มีการอุดตันที่คอกระเพาะปัสสาวะ (benign prostatic obstruction) และเกิดอาการของระบบทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง[1] เช่น ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะกลางคืน ปัสสาวะออกช้า กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ปัสสาวะไม่พุ่ง เป็นต้น[2] อาการจะรุนแรงมากขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น[1]
จากแนวทางการรักษาโรคต่อมลูกหมากโต ยาที่แนะนำให้ใช้เป็นทางเลือกแรกในการเริ่มรักษาคือ ยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งตัวรับแอดรีเนอร์จิกชนิดแอลฟา (Alpha-adrenergic receptor blockers) เช่น alfuzosin, doxazosin, silodosin, tamsulosin, terazosin การเลือกยาจะขึ้นอยู่หลายปัจจัย เช่น อายุ, โรคร่วม, ผลข้างเคียงของยา แต่หากผู้ป่วยมีภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศร่วมด้วย อาจเริ่มรักษาด้วยยากลุ่มยับยั้งเอนไซม์ฟอสโฟไดเอสเตอเรสชนิดที่ 5 (Phosphodiesterase type 5 inhibitors เช่น ยา tadalafil) หากใช้ยากลุ่มที่ออกฤทธิ์ยับยั้งตัวรับแอดรีเนอร์จิกชนิดแอลฟาแล้วไม่ได้ผลหรือไม่สามารถทนต่อยาได้ อาจพิจารณาใช้ยากลุ่มอื่น เช่น ยากลุ่มที่ยับยั้งเอนไซม์ 5-แอลฟารีดักเตส (5-alpha-reductase inhibitors) หรือยากลุ่มยับยั้งเอนไซม์ฟอสโฟไดเอสเตอเรสชนิดที่ 5 (Phosphodiesterase type 5 inhibitors) [1]
ยา alfuzosin ออกฤทธิ์ยับยั้งตัวรับแอดรีเนอร์จิกชนิดแอลฟา มีข้อบ่งใช้คือ รักษาโรคต่อมลูกหมากโต อาการไม่พึงประสงค์ที่อาจพบได้ เช่น เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดหัว หลังจากเข้าสู่ร่างกาย ยานี้จะถูกแปรรูปที่ตับ และขับออกจากร่างกายทางอุจจาระเป็นหลัก alfuzosin ไม่จำเป็นต้องปรับขนาดยาตามการทำงานของไต แต่ต้องใช้อย่างระมัดระวังในผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตผิดปกติ (creatinine clearance น้อยกว่า 30 มิลลิลิตรต่อนาที) ยานี้ห้ามใช้ยาในผู้ป่วยที่เป็นโรคตับบกพร่องระดับปานกลางหรือรุนแรง และควรใช้ยาอย่างระมัดระวังในผู้ป่วยโรคตับบกพร่องระดับในระดับเล็กน้อย [3]
ส่วนยาชนิดอื่น ๆ ในกลุ่มออกฤทธิ์ยับยั้งตัวรับแอดรีเนอร์จิกชนิดแอลฟา มีรายละเอียดโดยย่อ ดังนี้
- ยา doxazosin อาการไม่พึงประสงค์ที่พบ เช่น เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย บ้านหมุน บวมน้ำ อ่อนแรง ง่วงซึม ปวดศีรษะ เป็นต้น หลังจากเข้าสู่ร่างกาย ยาจะถูกแปรรูปที่ตับและขับออกจากร่างกายทางอุจจาระเป็นหลัก doxazosin ไม่จำเป็นต้องปรับขนาดยาตามการทำงานของไต ควรใช้ยานี้อย่างระมัดระวังในผู้ป่วยโรคตับบกพร่องระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง และไม่แนะนำให้ใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่เป็นโรคตับบกพร่องระดับรุนแรง [4]
- ยา terazosin อาการไม่พึงประสงค์ที่พบ เช่น เวียนศีรษะ ง่วงซึม กล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นต้น หลังจากเข้าสู่ร่างกาย ยานี้จะถูกแปรรูปที่ตับและขับออกจากร่างกายทางอุจจาระเป็นหลัก terazosin ไม่จำเป็นต้องปรับขนาดยาตามการทำงานของไตและไม่จำเป็นต้องปรับขนาดยาในผู้ป่วยโรคตับบกพร่อง [5]
- ยา silodosin อาการไม่พึงประสงค์ที่พบ เช่น การหลั่งน้ำอสุจิย้อนทาง (retrograde ejaculation) ความดันโลหิตต่ำขณะเปลี่ยนท่า เวียนศีรษะ ท้องเสีย เป็นต้น หลังจากเข้าสู่ร่างกาย ยานี้จะถูกแปรรูปที่ตับและขับออกจากร่างกายทางอุจจาระเป็นหลัก ยานี้จำเป็นต้องปรับขนาดยาตามการทำงานของไต กล่าวคือ หาก creatinine clearance (CrCl) 30-50 มิลลิลิตรต่อนาที แนะนำให้ใช้ silodosin 4 มิลลิกรัม รับประทานวันละ 1 ครั้ง แต่หาก CrCl น้อยกว่า 30 มิลลิลิตรต่อนาที ไม่แนะนำให้ใช้ยานี้ สำหรับผู้ป่วยโรคตับบกพร่องระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง ไม่จำเป็นต้องปรับขนาดยา แต่ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่เป็นโรคตับบกพร่องระดับรุนแรง [6]
- ยา tamsulosin อาการไม่พึงประสงค์ที่พบ เช่น ความดันโลหิตต่ำขณะเปลี่ยนท่า อสุจิไม่หลั่ง เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ เป็นต้น หลังจากเข้าสู่ร่างกาย ยานี้จะถูกแปรรูปที่ตับและขับออกจากร่างกายทางปัสสาวะเป็นหลัก ยานี้ไม่จำเป็นต้องปรับขนาดยาตามการทำงานของไต แต่ให้ใช้ยาด้วยความระมัดระวัง หากมี CrCl น้อยกว่า 10 มิลลิลิตรต่อนาที สำหรับผู้ป่วยโรคตับบกพร่องไม่จำเป็นต้องปรับขนาดยา [7]
มีการศึกษาถึงประสิทธิภาพของยาในกลุ่มที่ออกฤทธิ์ยับยั้งตัวรับแอดรีเนอร์จิกชนิดแอลฟา (alfuzosin, doxazosin, tamsulosin, และ terazosin)[8-9] ในการรักษาต่อมลูกหมากโต ตัวอย่างเช่น
1) การศึกษารูปแบบสุ่ม (randomized controlled trial; RCT) เพื่อประเมินประสิทธิภาพและการทนต่อยา alfuzosin รูปแบบทยอยปลดปล่อยตัวยา (sustained release; SR) 10 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้งก่อนนอน, tamsulosin 0.4 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้งก่อนนอน และ silodosin 8 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้งตอนเช้า เป็นเวลานาน 12 สัปดาห์ ในผู้ป่วยที่เป็นโรคต่อมลูกหมากโตและมีอาการทางระบบทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง และมีอายุ 45 ปีขึ้นไป พบว่า ประสิทธิภาพของยาทั้งสามชนิดไม่มีความแตกต่างกัน กล่าวคือ
- คะแนนการประเมินอาการต่อมลูกหมากโตจากแบบสอบถาม (International Prostate Symptom Score; IPSS): กลุ่ม alfuzosin, tamsulosin และ silodosin มีค่าลดลงจากเริ่มต้นร้อยละ 88.18, 72.12 และ 82.23 ตามลำดับ (p=0.242)
- อาการปัสสาวะไม่สุด: กลุ่ม alfuzosin, tamsulosin และ silodosin มีค่าลดลงจากค่าเริ่มต้นร้อยละ 94.01, 77.37 และ 80.83 ตามลำดับ (p=0.088)
- อาการปัสสาวะบ่อยครั้ง: กลุ่ม alfuzosin, tamsulosin และ silodosin มีค่าลดลงจากค่าเริ่มต้นร้อยละ 88.59, 74.30 และ 85.92 ตามลำดับ (p=0.483)
- อาการปัสสาวะออก ๆ หยุด ๆ หลายครั้ง: กลุ่ม alfuzosin, tamsulosin และ silodosin มีค่าลดลงจากค่าเริ่มต้นร้อยละ 94.65, 83.38 และ 98.62 ตามลำดับ (p=0.330)
- อาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่: กลุ่ม alfuzosin, tamsulosin และ silodosin มีค่าลดลงจากเริ่มต้น ร้อยละ 80.18, 66.20 และ 87.85 ตามลำดับ (p=0.730)
- อาการปัสสาวะไม่พุ่ง: กลุ่ม alfuzosin, tamsulosin และ silodosin มีค่าลดลงจากเริ่มต้น ร้อยละ 96.90, 83.89 และ 94.69 ตามลำดับ (p=0.178)
- การต้องออกแรงเบ่งปัสสาวะ: กลุ่ม alfuzosin, tamsulosin และ silodosin มีค่าลดลงจากเริ่มต้น ร้อยละ 96.00, 83.50 และ 100.00 ตามลำดับ (p=0.174)
- อาการปัสสาวะกลางคืน: กลุ่ม alfuzosin, tamsulosin และ silodosin มีค่าลดลงจากเริ่มต้น ร้อยละ 60.32, 42.43 และ 49.01 ตามลำดับ (p=0.724)
- คะแนนคุณภาพชีวิต: กลุ่ม alfuzosin, tamsulosin และ silodosin ดีขึ้นจากค่าเริ่มต้น ร้อยละ 90.06, 77.75 และ 87.87 ตามลำดับ (p=0.375)
- อัตราการไหลสูงสุดของปัสสาวะ: กลุ่ม alfuzosin, tamsulosin และ silodosin มีค่าเพิ่มขึ้นจากเริ่มต้น ร้อยละ 25.34, 31.11 และ 13.46 ตามลำดับ (p=0.170)[8]
2) การศึกษารูปแบบ systematic review และ meta-analysis ซึ่งรวบรวมการศึกษาจำนวน 17 การศึกษา เพื่อประเมินประสิทธิภาพของยากลุ่มยับยั้งตัวรับแอดรีเนอร์จิกชนิดแอลฟา-1 (α1-Blockers) ประกอบด้วย terazosin 1-10 มิลลิกรัมต่อวัน, doxazosin 1-4 มิลลิกรัมต่อวัน, tamsulosin 0.2-0.4 มิลลิกรัมต่อวัน, alfuzosin 5-10 มิลลิกรัมต่อวัน, naftopidil 50-75 มิลลิกรัมต่อวัน, silodosin 8 มิลลิกรัมต่อวัน นาน 4-112 สัปดาห์ ในการรักษาผู้ป่วยต่อมลูกหมากโตและอาการทางระบบทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง ผลการศึกษาพบว่า โดยภาพรวม ค่าดัชนีการอุดกั้นที่คอกระเพราะปัสสาวะ (bladder outlet obstruction index) ลดลงจากค่าเริ่มต้น 14.19 (95% CI –18.25 ถึง –10.13; p < 0.0001) ความดันที่กล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะขณะที่ปัสสาวะมีอัตราการไหลสูงสุด (detrusor pressure at Qmax [PdetQmax]) ลดลงจากค่าเริ่มต้น 11.39 เซนติเมตรน้ำ (95% CI –15.37 ถึง –7.40; p < 0.0001) และปัสสาวะมีอัตราการไหลสูงสุด (urodynamic Qmax) เพิ่มขึ้นจากค่าเริ่มต้น 2.27 มิลลิลิตรต่อวินาที (95% CI 1.89–2.65; p < 0.0001)
เมื่อพิจารณาค่าดัชนีการอุดกั้นที่คอกระเพราะปัสสาวะของยาแต่ละชนิด พบว่า
- Alfuzosin 5-10 มิลลิกรัมต่อวัน (ใช้นาน 12-96 สัปดาห์): ค่าดัชนีลดลงจากค่าเริ่มต้น 14.88 (95% CI –26.68 to –3.08; p = 0.01)
- Doxazosin 1-4 มิลลิกรัมต่อวัน (ใช้นาน 4-12 สัปดาห์): ค่าดัชนีลดลงจากค่าเริ่มต้น 19.41 (95% CI –34.93 to –3.89; p = 0.01)
- Naftopidil 50-75 มิลลิกรัมต่อวัน (ใช้นาน 4-6 สัปดาห์): ค่าดัชนีลดลงจากค่าเริ่มต้น 16.47 (95% CI – 21.51 to –11.43; p < 0.0001)
- Silodosin 8 มิลลิกรัมต่อวัน (ใช้นาน 4-12 สัปดาห์): ค่าดัชนีลดลงจากค่าเริ่มต้น 30.45 (95% CI – 40.46 to –20.45; p < 0.0001)
- การใช้ tamsulosin 0.2-0.4 มิลลิกรัมต่อวัน (ใช้นาน 4-12 สัปดาห์): ค่าดัชนีลดลงจากค่าเริ่มต้น 14.27 (95% CI – 23.30 to –5.23; p = 0.002)
- การใช้ terazosin 1-10 มิลลิกรัมต่อวัน (ใช้นาน 4-112 สัปดาห์): ค่าดัชนีลดลงจากค่าเริ่มต้น 6.69 (95% CI –11.35 to –2.04; p = 0.005)[9]
จากคำถามที่ว่า “เคยใช้ ยา alfuzosin รักษาโรคต่อมลูกหมากโตมาตลอดและได้ผลดี ตอนนี้ eGFR <30 ยังไม่ได้ฟอกไต ยังสามารถใช้ยาต่อได้หรือไม่ หรือ มียาอื่นที่ดีและปลอดภัยให้เลือกมั้ย” ถึงแม้ว่ายาบางชนิดในกลุ่มยับยั้งตัวรับแอดรีเนอร์จิกชนิดแอลฟา (Alpha-adrenergic receptor blockers) สามารถใช้ในผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตผิดปกติ แต่ควรใช้ยาอย่างระมัดระวังรายละเอียดดังข้างต้น[3-7] นอกจากนั้น การเลือกใช้ยาจำเป็นต้องคำนึงถึงทั้งประสิทธิภาพและความปลอดภัยจากยา ดังนั้นการปรับเปลี่ยนยาจึงยาควรอยู่ในดุลพินิจของแพทย์และควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด

เอกสารอ้างอิง
[1]. Lerner LB, McVary KT, Barry MJ, Bixler BR, Dahm P, Das AK, Gandhi MC, Kaplan SA, Kohler TS, Martin L, Parsons JK, Roehrborn CG, Stoffel JT, Welliver C, Wilt TJ. Management of Lower Urinary Tract Symptoms Attributed to Benign Prostatic Hyperplasia: AUA GUIDELINE PART I-Initial Work-up and Medical Management. J Urol. 2021 Oct;206(4):806-817.
[2]. McVary KT, O'Leary MP, Givens J. Medical treatment of benign prostatic hyperplasia. In: UpToDate, Post TW (Ed), UpToDate, Waltham, MA. (Accessed on August 5, 2022).
[3]. Lexicomp, Inc. Alfuzosin: Drug information. In:Post TW, ed.UpToDate.Waltham: UpToDate; 2017 (Accessed on August 6, 2022).
[4]. Lexicomp, Inc. Doxazosin: Drug information. In:Post TW, ed.UpToDate.Waltham: UpToDate; 2017 (Accessed on August 6, 2022).
[5]. Lexicomp, Inc. Terazosin: Drug information. In:Post TW, ed.UpToDate.Waltham: UpToDate; 2017 (Accessed on August 6, 2022).
[6]. Lexicomp, Inc. Silodosin: Drug information. In:Post TW, ed.UpToDate.Waltham: UpToDate; 2017 (Accessed on August 6, 2022).
[7]. Lexicomp, Inc. Tamsulosin: Drug information. In:Post TW, ed.UpToDate.Waltham: UpToDate; 2017 (Accessed on August 6, 2022).
[8]. Manjunatha R, Pundarikaksha HP, Madhusudhana HR, Amarkumar J, Hanumantharaju BK. A randomized, comparative, open-label study of efficacy and tolerability of alfuzosin, tamsulosin and silodosin in benign prostatic hyperplasia. Indian J Pharmacol. 2016 Mar-Apr;48(2):134-40.
[9]. Fusco F, Palmieri A, Ficarra V, Giannarini G, Novara G, Longo N, Verze P, Creta M, Mirone V. α1-Blockers Improve Benign Prostatic Obstruction in Men with Lower Urinary Tract Symptoms: A Systematic Review and Meta-analysis of Urodynamic Studies. Eur Urol. 2016 Jun;69(6):1091-101.

วันที่ตอบ : 18 ต.ค. 65 - 15:48:07




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110