ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
การรักษาไมเกรน

อยากทราบว่าประสิทธิภาพ sumatriptan กับ ergot ต่างกันไหมคะ

[รหัสคำถาม : 388] วันที่รับคำถาม : 04 มิ.ย. 65 - 21:59:26 ถามโดย : นักศึกษา วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

โรคไมเกรน ทำให้มีอาการปวดศีรษะเป็นสำคัญ แบ่งโรคไมเกรนตามอาการนำได้เป็น 2 ชนิด คือ โรคไมเกรนที่ไม่มีอาการนำ (aura) และโรคไมเกรนที่มีอาการนำ อาการของโรคไมเกรนที่ไม่มีอาการนำ ได้แก่ มีอาการปวดศีรษะเกิดขึ้นหลายครั้ง นาน 4-72 ชั่วโมง มักปวดศีรษะข้างเดียว ปวดตุบ ๆ เป็นจังหวะ ความรุนแรงของอาการปวดอยู่ในระดับปานกลางถึงรุนแรง เมื่อมีการเคลื่อนไหวของร่างกาย จะรู้สึกปวดศีรษะมากขึ้น และมักมีอาการอื่นร่วมด้วย ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน ทนต่อแสงและเสียงได้น้อยหรือไม่ได้ ส่วนอาการของโรคไมเกรนที่มีอาการนำ ได้แก่ มีอาการปวดศีรษะเกิดขึ้นหลายครั้ง นานหลายนาที อาการนำมักเกิดขึ้นก่อนการมีปวดศีรษะ โดยอาการนำ อาจทำให้มีความผิดปกติทางการมองเห็น (เช่น เห็นแสงเป็นเส้นหลายสี แสงจ้า) หรือเกิดอาการชาในบางส่วนของร่างกาย โรคไมเกรนมีความสัมพันธ์กับสารสื่อประสาทเซโรโทนิน (serotonin, 5-hydroxytryptamine หรือ 5-HT) และสาร calcitonin gene-related peptide (CGRP) ซึ่งเชื่อว่ามีสิ่งกระตุ้น ทำให้หลอดเลือดแดงทั้งด้านในและด้านนอกกะโหลกศีรษะขยายตัว ร่วมกับมีการหลั่งสารบางชนิด จึงมีผลให้เกิดอาการปวดศีรษะ [1]
ยา ergotamine เป็นยาในกลุ่ม ergot alkaloids มีผลทำให้หลอดเลือดทั้งในสมองและส่วนอื่นของร่างกายหดตัว จากการที่ยาออกฤทธิ์กระตุ้นตัวรับของเซโรโทนิน โดปามีน (dopamine) และตัวรับแอลฟา-อะดรีเนอร์จิก (alpha-adrenergic) ยามีผลทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น รวมทั้งมีผลข้างเคียงต่อหัวใจและหลอดเลือดอื่นด้วย อาการข้างเคียงที่พบได้บ่อยจากการใช้ยา ergotamine ได้แก่ อาการชา ความดันโลหิตสูง คลื่นไส้ อาเจียน และปวดกล้ามเนื้อ [2-4] ส่วนยา sumatriptan เป็นยาในกลุ่ม triptans มีความจำเพาะเจาะจงต่อหลอดเลือดในสมองมากกว่า โดยมีฤทธิ์กระตุ้นตัวรับของเซโรโทนินชนิด 5-HT1B และ 5-HT1D ที่หลอดเลือดและเส้นประสาทในสมอง ทำให้หลอดเลือดหดตัวและลดการหลั่งสาร CGRP ผลข้างเคียงต่อหัวใจและหลอดเลือดจึงน้อยกว่ายา ergotamine อาการข้างเคียงที่พบได้บ่อยจากการใช้ยา sumatriptan คือ คลื่นไส้ อาการข้างเคียงอื่นที่อาจพบได้ เช่น อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ ตาพร่า เจ็บคอ ไอ น้ำมูกไหล เป็นต้น [4-6]
ข้อมูลการเปรียบเทียบประสิทธิผลระหว่างยา ergotamine กับยา sumatriptan มีจำกัด จากการสืบค้นข้อมูลพบงานวิจัยที่มีการเปรียบเทียบประสิทธิผลระหว่างยา ergotamine กับยา sumatriptan รูปแบบงานวิจัยเป็นเชิงทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุมในผู้ป่วยจำนวน 201 คน ผลการศึกษาพบว่า ยา ergotamine มีประสิทธิผลในการบรรเทาอาการปวดศีรษะไมเกรนที่ไม่มีอาการนำได้ดีกว่ายา sumatriptan แต่งานวิจัยดังกล่าวมีขนาดตัวอย่างน้อย ดังนั้นควรมีการศึกษาในตัวอย่างขนาดใหญ่ต่อไปในอนาคต จึงจะให้ผลการศึกษาที่ชัดเจนมากขึ้น [7]
แนวทางการใช้ยารักษาโรคไมเกรนที่มีอาการเกิดขึ้นเฉียบพลันในต่างประเทศแนะนำให้ใช้กลุ่มยาแก้ปวด ได้แก่ paracetamol และกลุ่มยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (nonsteroidal anti-inflammatory drugs; NSAIDs) (เช่น ibuprofen, naproxen) สำหรับอาการปวดศีรษะไมเกรนแบบไม่รุนแรงถึงปานกลาง และแนะนำให้ใช้ยากลุ่ม triptans (เช่น sumatriptan) สำหรับอาการปวดศีรษะไมเกรนแบบปานกลางถึงรุนแรง [8-10]
ในประเทศไทย เนื่องด้วยมีข้อจำกัดหลายอย่าง รวมทั้งยากลุ่ม triptans มีราคาสูง ดังนั้นแนวทางการใช้ยารักษาโรคไมเกรนที่มีอาการเกิดขึ้นเฉียบพลันในประเทศไทยโดยสมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย จึงแนะนำให้ใช้กลุ่มยาแก้ปวดก่อนเช่นกัน หากมีผลข้างเคียงหรือไม่ตอบสนองต่อการใช้ยาแก้ปวด จึงพิจารณาการใช้ยา ergotamine/caffeine เนื่องจากยา ergotamine/caffeine เป็นยาที่จัดอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ส่วนยา กลุ่ม triptans เป็นยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ จะพิจารณาใช้ยากลุ่มนี้ เมื่อมีผลข้างเคียงหรือไม่ตอบสนองต่อการใช้ยา ergotamine/caffeine [11] การใช้ยา ergotamine จะต้องระมัดระวังหรือหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกับยาชนิดอื่นที่เกิดอันตรกิริยาระหว่างยา (drug interaction) หรือเกิดปฏิกิริยากัน เช่น ketoconazole, itraconazole, fluconazole, azithromycin, clarithromycin, ritonavir, indinavir เป็นต้น และขนาดการรับประทานยา ergotamine ที่เหมาะสม คือ เมื่อมีอาการปวดศีรษะ ให้รับประทานยาครั้งแรก 1-2 เม็ด หากอาการไม่ดีขึ้น ให้รับประทานยาครั้งละ 1 เม็ด ซ้ำได้ทุก 30 นาที ขนาดยาสูงสุดที่รับประทานได้ คือ 6 เม็ดต่อวัน และ 10 เม็ดต่อสัปดาห์ และเมื่อหายจากอาการปวดศีรษะแล้ว ให้หยุดการใช้ยา [2, 3]

เอกสารอ้างอิง
1. Headache Classification Committee of the International Headache Society (IHS). The international classification of headache disorders, 3rd edition. Cephalalgia 2018;38(1):1-211.
2. Wolters Kluwer. Ergotamine [Internet]. Wolters Kluwer Clinical Drug Information: AccessMedicine; 2022 [cited 2022 Jul 13]. Available from: https://accessmedicine.mhmedical.com/
3. Elsevier. Ergotamine [Internet]. Elsevier: ClinicalKey; 2022 [cited 2022 Jul 13]. Available from: https://www.clinicalkey.com.
4. Dahlöf C, Van Den Brink AM. Dihydroergotamine, ergotamine, methysergide and sumatriptan - basic science in relation to migraine treatment. Headache 2012;52(4):707-714.
5. Wolters Kluwer. Ergotamine [Internet]. Wolters Kluwer Clinical Drug Information: AccessMedicine; 2022 [cited 2022 Jul 13]. Available from: https://accessmedicine.mhmedical.com.
6. Elsevier. Ergotamine [Internet]. Elsevier: ClinicalKey; 2022 [cited 2022 Jul 13]. Available from: https://www.clinicalkey.com.
7. Miljković S, Smajlović Dz, Tirić Campara M, et al. The first comparative double-blind trial on efficacy and safety of ergotamine based five-component combination and sumatriptan in migraine without aura. Hippokratia 2018;22(1):17-22.
8. Mayans L, Walling A. Acute migraine headache: treatment strategies. Am Fam Physician 2018;97(4):243-251.
9. National Institute for Health and care Excellence. Headaches in over 12s: diagnosis and management [Internet]. 2021 [cited 2022 Jul 13]. Available from https://www.nice.org.uk.
10. Oskoui M, Pringsheim T, Holler-Managan Y, et al. Practice guideline update summary: acute treatment of migraine in children and adolescents: report of the guideline development, dissemination, and implementation Subcommittee of the American Academy of Neurology and the American Headache Society. Neurology. 2019;93(11):487-499.
11. สมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย. ร่างแนวทางเวชปฏิบัติการวินิจฉัยและการรักษาปวดศีรษะไมเกรน [อินเทอร์เน็ต]. 2565 [เข้าถึงเมื่อ 13 กรกฎาคม 2565]. เข้าถึงได้จาก http://www.neurothai.org.


วันที่ตอบ : 13 ก.ค. 65 - 21:41:49


No : 2

โรคปวดศีรษะไมเกรน เกิดจากการกระตุ้นเส้นประสาทการรับรู้ความเจ็บปวดในสมอง (trigeminal sensory nerves) มีการหลั่งสาร calcitonin gene-related peptide, neurokinin A และ substance P ส่งผลให้หลอดเลือดสมองขยายตัวและเกิดการอักเสบ นอกจากนี้ยังเกี่ยวข้องกับสารสื่อประสาท serotonin (5-HT)[1] อาการปวดศีรษะไมเกรนมักมีบริเวณศีรษะข้างเดียว และปวดแบบเต้นเป็นจังหวะ อาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน การมองเห็นแสงริบหรี่หรือเป็นเส้น และอาจมีอาการชาได้ อาการปวดไมเกรนสามารถป้องกันได้ด้วยการนอนหลับพักผ่อนในที่มืดและเงียบสนิท หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น เช่น บริเวณที่มีแสงจ้าหรือเสียงดัง ความเครียด การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น[1]
ยารักษาอาการอาการปวดศีรษะไมเกรนแบ่งเป็น 1) ยารักษาอาการปวดไมเกรนแบบเฉียบพลัน (abortive treatment) เช่น NSAIDs, acetaminophen, triptans, ergot alkaloids, calcitonin gene-related peptide (CGRP) antagonists[2] 2) ยาป้องกันอาการปวดไมเกรน (prevention therapy) เช่น beta-blockers, antidepressants, anticonvulsants, CGRP antagonists[3]
จากแนวทางการรักษาอาการปวดศีรษะไมเกรนแบบเฉียบพลัน ยาที่แนะนำให้เลือกใช้เป็นอันดับแรก (first-line therapy) มีดังนี้ 1) สำหรับอาการปวดศีรษะระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง แนะนำให้ใช้ยา paracetamol หรือยาในกลุ่ม NSAIDs (เช่น diclofenac, ibuprofen, naproxen) 2) อาการปวดศีรษะระดับปานกลางถึงรุนแรง ให้ใช้ยากลุ่ม triptans ส่วนยาที่เป็นยาทางเลือกรอง (second-line therapy) ได้แก่ ยาในกลุ่ม CGRP antagonists, ergot alkaloids, opioids[4]
Sumatriptan เป็นยากลุ่ม triptans ออกฤทธิ์เป็น selective serotonin receptor agonist ที่จำเพาะกับ 5-HT1B และ 5-HT1D receptor บริเวณหลอดเลือดสมองและเส้นประสาทของ trigeminal system ทำให้หลอดเลือดเกิดการหดตัวและลดการอักเสบของเส้นประสาท ขนาดยาที่ใช้สำหรับรักษาอาการปวดศีรษะไมเกรน คือ รับประทานครั้งละ 50-100 มิลลิกรัม ครั้งเดียวเมื่อมีอาการ หากยังมีอาการปวดอยู่สามารถรับประทานซ้ำหลังจากผ่านไป 2 ชั่วโมง ขนาดยาสูงสุด 100 มิลลิกรัม/ครั้ง และไม่เกิน 200 มิลลิกรัม/วัน[5] อาการไม่พึงประสงค์ที่พบได้ เช่น อาการชา อ่อนเพลีย มึนงง หน้าแดง (flushing) ง่วงซึม[1] ส่วน ergotamine เป็นยากลุ่ม ergot alkaloids ออกฤทธิ์ต่อ tryptaminergic receptor, dopaminergic receptor, alpha-adrenergic receptor และ non-selective serotonin receptor agonists ทำให้หลอดเลือดส่วนปลายและหลอดเลือดสมองหดตัว จึงลดอาการปวดศีรษะ ขนาดยาที่ใช้สำหรับรักษาอาการปวดศีรษะไมเกรน คือ ergotamine 1 มิลลิกรัม/caffeine 100 มิลลิกรัม รับประทาน 2 เม็ด ครั้งเดียวเมื่อมีอาการ หากยังมีอาการอยู่ให้รับประทาน 1 เม็ด ทุก 30 นาที ขนาดยาสูงสุด 6 เม็ด/วัน และไม่ควรเกิน 10 เม็ด/สัปดาห์[6] อาการไม่พึงประสงค์ที่พบได้ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย แน่นหน้าอก อาจเกิดอาการขาดเลือดส่วนปลายอย่างรุนแรง (ergotism)[1]
สำหรับการเปรียบเทียบประสิทธิภาพของ sumatriptan และ ergotamine มีการศึกษา เช่น
1) การศึกษาแบบสุ่ม (randomized controlled trial ; RCT) ซึ่งเปรียบเทียบประสิทธิภาพและความปลอดภัยของ ergotamine (ergotamine tartrate 2 mg + caffeine200 mg) และ sumatriptan 100 mg ในการรักษาการปวดศีรษะไมเกรน พบว่า
- sumatriptan สามารถลดความรุนแรงของอาการปวดภายใน 2 ชั่วโมง (จากปวดระดับปานกลางถึงรุนแรงเป็นปวดระดับเล็กน้อยหรือไม่ปวดเลย) ได้ดีกว่า Cafergot อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (ร้อยละ 66 และร้อยละ 48 ตามลำดับ ; p<0.001)
- sumatriptan เริ่มออกฤทธิ์ในการลดอาการปวด (onset) เร็วกว่า Cafergot อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยที่เวลา 1 ชั่วโมงหลังกินยา sumatriptan และ Cafergot สามารถลดอาการปวดร้อยละ 33 และร้อยละ 22 ตามลำดับ และที่ 90 นาทีหลังกินยา sumatriptan และ Cafergot สามารถลดอาการปวดได้ร้อยละ 52 และ ร้อยละ 33 ตามลำดับ โดยกลุ่ม sumatriptan ใช้เวลาหายจากอาการปวดไมเกรนสั้นกว่า Cafergot อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p=0.014)
- ที่ 2 ชั่วโมงหลังจากกินยา sumatriptan สามารถบรรเทาอาการคลื่นไส้ อาเจียน และอาการกลัวแสงหรือเสียง (photophobia/phonophobia) ได้มากกว่า Carfergot (p<0.001, p<0.01, และ p<0.001 ตามลำดับ)
- หลังจากผ่านไป 2 ชั่วโมง จำนวนผู้ป่วยในกลุ่ม sumatriptan ที่ต้องใช้ยาอื่นเพิ่มเติมมีน้อยกว่ากลุ่ม Cafergot อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.001) ส่วนอาการไม่พึงประสงค์ไม่มีความแตกต่างกัน
- แต่ในกลุ่ม sumatriptan จะมีการกำเริบของอาการปวดอีกครั้งภายใน 48 ชั่วโมงมากกว่ากลุ่ม Cafergot (ร้อยละ 41 และร้อยละ 30 ตามลำดับ ; p=0.009)[7]
2) การศึกษาแบบ meta-analysis ที่รวบรวมการศึกษาแบบสุ่ม (RCT) จำนวน 133 การศึกษา เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการรักษาไมเกรนของยากลุ่ม triptans กับยาอื่นๆ (กลุ่ม NSAIDs, aspirin, acetaminophen, ergots, antiemetics และ opioids) พบว่า
- การใช้ยาในกลุ่ม triptans (eletriptan 40 มิลลิกรัม, sumatriptan 50 มิลลิกรัม, rizatriptan 10 มิลลิกรัม, frovatriptan 2.5 มิลลิกรัม, zolmitriptan 2.5 มิลลิกรัม, naratriptan 2.5 มิลลิกรัม) สามารถลดความรุนแรงของอาการปวดศีรษะภายใน 2 ชั่วโมง (จากปวดระดับปานกลางถึงรุนแรงเป็นปวดระดับเล็กน้อยหรือไม่ปวดเลย) คิดเป็นร้อยละ 42-76 (sumatriptan ร้อยละ 76, rizatriptan ร้อยละ 69, zolmitriptan ร้อยละ 66, frovatriptan ร้อยละ 42, naratriptan ร้อยละ 46) ซึ่งมากกว่ากลุ่มที่ได้รับ ergots (ร้อยละ 38) และใกล้เคียงกับกลุ่ม acetaminophen (ร้อยละ 52), NSAIDs (ร้อยละ 48), aspirin (ร้อยละ 46)
- ส่วนการให้ triptan ร่วมกับยาอื่น เช่น การใช้ triptan ร่วมกับ acetaminophen หรือ NSAID จะลดความรุนแรงของอาการปวดศีรษะภายใน 2 ชั่วโมงได้ดีกว่ายาเดี่ยว (ร้อยละ 80 และ ร้อยละ 62 ตามลำดับ)
- ที่ 2 ชั่วโมงหลังใช้ยา ผู้ป่วยที่หายจากอาการปวดศีรษะในกลุ่ม triptans คิดเป็นร้อยละ 18-50 (rizatriptan ร้อยละ 50, eletriptan ร้อยละ 39, rizatriptan ร้อยละ 37, sumatriptan ร้อยละ 37, zolmitriptan ร้อยละ 37 และ naratriptan ร้อยละ 18) ซึ่งดีกว่ากลุ่ม NSAIDs (ร้อยละ 22), acetaminophen (ร้อยละ 22), ergots (ร้อยละ 16) ส่วนการใช้ triptan ร่วมกับ acetaminophen หรือ NSAIDs มีผู้ป่วยที่หายจากอาการปวดศีรษะ ร้อยละ 51 และร้อยละ 37 ตามลำดับ[8]

โดยสรุป sumatriptan เป็นยาในกลุ่ม triptans จัดเป็นยาที่แนะนำให้เลือกใช้เป็นทางเลือกแรก (first-line therapy) สำหรับรักษาอาการปวดศีรษะไมเกรนเฉียบพลันระดับปานกลางถึงรุนแรง ส่วน ergot alkaloids จัดเป็นยาที่เป็นยาทางเลือกรอง (second-line therapy) ส่วนประสิทธิภาพ ของยาทั้งสองชนิดมีรายละเอียดโดยย่อตามที่กล่าวข้างต้น

เอกสารอ้างอิง
[1]. Well BG, Schwinghammer TL, DiPiro JT, DiPiro CV. Pharmacotherapy Handbook, 10th ed. Newyork, McGraw Hill; 2017:743-53.
[2]. Schwedt TJ, Garza I. Acute treatment of migraine in adults. [Internet]. Hudson, Ohio: Hudson, Ohio: Wolters Kluwer UpToDate, Inc.; 2022.
[3]. Schwedt TJ, Garza I. Preventive treatment of episodic migraine in adults. [Internet]. Hudson, Ohio: Hudson, Ohio: Wolters Kluwer UpToDate, Inc.; 2022.
[4]. Mayans L, Walling A. Acute Migraine Headache: Treatment Strategies. Am. Fam. Physician. 2018 Feb 15;97(4):243-251. PMID: 29671521.
[5]. Sumatriptan. In: Specific Lexicomp Online Database [database on the internet]. Hudson (OH): Lexicomp Inc.: 2022 [updated 2022 Jul 9; cited 2022 Jul 16]. Available from: https://online.lexi.com. Subscription required to view.
[6]. Ergotamine and caffeine. In: Specific Lexicomp Online Database [database on the internet]. Hudson (OH): Lexicomp Inc.: 2022 [updated 2022 Jun 29; cited 2022 Jul 16]. Available from: https://online.lexi.com. Subscription required to view.
[7]. A randomized, double-blind comparison of sumatriptan and Cafergot in the acute treatment of migraine. The Multinational Oral Sumatriptan and Cafergot Comparative Study Group. Eur. Neurol. 1991;31(5):314-22.
[8]. Cameron C, Kelly S, Hsieh SC, Murphy M, Chen L, Kotb A, et al. Triptans in the Acute Treatment of Migraine: A Systematic Review and Network Meta-Analysis. Headache. 2015 Jul-Aug;55 Suppl 4:221-35.

วันที่ตอบ : 27 ก.ค. 65 - 12:46:29




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110