ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
poly-oph ใช้หยอดหูได้หรือไม่

การใช้ยา poly-oph eye drop มาหยอดหูได้หรือไม่ เนื่องจากแพทย์สั่งใช้ในผู้ป่วย Otitis externa

[รหัสคำถาม : 389] วันที่รับคำถาม : 07 มิ.ย. 65 - 09:37:50 ถามโดย : บุคลากร วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

หูชั้นนอกอักเสบหรือ otitis externa เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อและทำให้มีการอักเสบของช่องหูชั้นนอก ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหูชั้นนอกอักเสบ ได้แก่ การแคะหู การว่ายน้ำ (บางครั้งจึงเรียกว่า swimmer’s ear) รวมทั้งอากาศร้อนชื้น เชื้อสาเหตุเกิดจาก เชื้อแบคทีเรียมากกว่าร้อยละ 90 เช่น Staphylococcus epidermidis, Staphylococcus aureus, corynebacteria
Streptococcus pneumoniae, Haemophilus influenzae, Moraxella catarrhalis, Pseudomonas aeruginosa ส่วนน้อยเกิดจากการติดเชื้อรา (เช่น Aspergillus species, Candida albicans) อาการที่พบ ได้แก่ ช่องหูชั้นนอกแดง คันหู หูอื้อ ปวดหู หากมีการอักเสบมากขึ้นจะพบช่องหูชั้นนอกบวมมากขึ้น มีอาการปวดหูมากขึ้น อาจมีไข้และน้ำหนองไหลออกจากหู [1, 2]
ยาที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกาให้ใช้ในการรักษาโรคหูชั้นนอกอักเสบ [2, 3] ได้แก่
Acetic acid 2.0% solution
Acetic acid 2.0%, hydrocortisone 1.0%
Ciprofloxacin 0.2%, hydrocortisone 1.0%
Ciprofloxacin 0.3%, dexamethasone 0.1%
Neomycin, polymyxin B, hydrocortisone
Ofloxacin 0.3%
ข้อมูลจากงานวิจัยพบว่า การใช้ยาหยอดหูที่มียาปฏิชีวนะเป็นส่วนประกอบให้ประสิทธิผลในการรักษาโรคหูชั้นนอกอักเสบมากกว่ายาหลอกถึง 46% (95% Confidence Interval 29-63%) [4]
ในกรณีที่รักษาโรคหูชั้นนอกอักเสบโดยใช้ยาหยอดตายี่ห้อ Poly-oph ซึ่งประกอบด้วยตัวยา neomycin sulfate, polymyxin B และ gramicidin แทนยาหยอดหูที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ควรใช้เท่าที่จำเป็นและต้องระมัดระวังผลข้างเคียงจากการใช้ยาด้วย ได้แก่ อาการแพ้ รวมทั้งการสูญเสียการได้ยินจากยา neomycin ดังนั้นไม่ควรยาติดต่อกันนานเกินไป และควรใช้ยาตามที่แพทย์สั่งเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ห้ามใช้ยาหยอดหูนำมาหยอดตา เนื่องจากยาหยอดตาต้องปราศจากเชื้อโรค โดยยาหยอดหูอาจปราศจากเชื้อโรคไม่มากพอ นอกจากนี้ยาหยอดหูมักมีความเป็นกรดมากกว่ายาหยอดตา อาจทำให้เกิดอันตรายต่อตาได้ [3, 5]

เอกสารอ้างอิง
1. Pelton SI. Otitis externa, otitis media, and mastoiditis. In: Bennett JE, Dolin R, Blaser MJ,
editors. Mandell, Douglas, and Bennett’s principles and practice of infectious diseases. 9th ed. Philadelphia: Elsevier; 2020. p.835-43.
2. Rosenfeld RM, Schwartz SR, Cannon CR, Roland PS, Simon GR, Kumar KA, et al. Clinical practice guideline: acute otitis externa. Otolaryngol Head Neck Surg 2014;150(1S):S1–S24.
3. Goguen LA, Durand ML. External otitis: treatment [Internet]. Waltham (MA): UpToDate; 2022 [cited 2022 Aug 26]. Available from: http://www.uptodate.com
4. Rosenfeld RM, Singer M, Wasserman JM, Stinnett SS. Systematic review of topical
antimicrobial therapy for acute otitis externa. Otolaryngol Head Neck Surg 2006;134(4
Suppl):S24.
5. Lanier OL, Manfre MG, Bailey C, Liu Z, Sparks Z, Kulkarni S, et al. Review of approaches for increasing ophthalmic bioavailability for eye drop formulations. AAPS PharmSciTech 2021;22:107.

วันที่ตอบ : 26 ส.ค. 65 - 21:23:53




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110