ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
จะทราบได้อย่างไรว่าอาการข้างเคียงที่เกิดจากผู้ใช้ยาคุมกำเนิดเกิดจากผลของ Estroge

จะทราบได้อย่างไรว่าอาการข้างเคียงที่เกิดจากผู้ใช้ยาคุมกำเนิดเกิดจากผลของ Estrogen/Progesterone และอาการดังกล่าวเป็นภาวะของการได้รับยามากหรือน้อยเกินไป

[รหัสคำถาม : 39] วันที่รับคำถาม : 22 ม.ค. 63 - 20:15:12 ถามโดย : บุคลากร วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

ในปัจจุบันการใช้ฮอร์โมนรวมซึ่งเป็นฮอร์โมนในกลุ่ม Estrogens (Ethinyl estradiol; EE 10 – 35 mcg) ผสมกับฮอร์โมนในกลุ่ม Progesterones (Progestins) มีใช้ในการคุมกำเนิดหลายรูปแบบ ได้แก่ ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดรับประทาน ยาฉีดคุมกำเนิด แผ่นแปะคุมกำเนิด และวงแหวนคุมกำเนิด โดยในที่นี้จะขอกล่าวถึงยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดรับประทาน เนื่องจากเป็นชนิดที่นิยมมากที่สุดและพบได้บ่อยในร้านขายยา สำหรับยาเม็ดคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวมชนิดรับประทานแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ Monophasic เป็นกลุ่มที่มีปริมาณ Estrogen และ Progesterone เท่ากันทุกเม็ด และMultiphasic เป็นกลุ่มที่ในแต่ละเม็ดจะมีปริมาณฮอร์โมนไม่เท่ากัน (Brynhildsen, 2014)
จะทราบได้อย่างไรว่าอาการข้างเคียงที่เกิดจากผู้ใช้ยาคุมกำเนิดเกิดจากผลของEstrogen/Progesterone สำหรับอาการข้างเคียงจากการใช้ฮอร์โมนรวม (Estrogen/Progesterone) ได้แก่ ภาวะเลือดออกกะปริดกะปรอย (Unscheduled bleeding) ซึ่งสามารถพบได้บ่อยที่สุด โดยจะเกิดร้อยละ 30-50 ในช่วง 3 เดือนแรกโดยเฉพาะเมื่อใช้ฮอร์โมนรวมขนาดต่ำซึ่งประกอบด้วย Ethinyl estradiol (EE) 20 mcg และ Progestins เมื่อใช้ฮอร์โมนรวมขนาดต่ำแบบต่อเนื่องอุบัติการณ์การเกิดภาวะเลือดออกกะปริดกะปรอยจะลดลง (Allen, 2016) นอกจากนี้อาจพบภาวะการขาดประจำเดือน (Amenorrhea) จากการกินยาคุมกำเนิดปกติโดยเฉพาะ EE ขนาด 20 mcg และ Progestins ซึ่งอาจทำให้กังวลเรื่องการตั้งครรภ์ได้ ภาวะการขาดประจำเดือนอาจแก้ไขโดยการเปลี่ยนมารับประทานที่มีขนาด EE 30 - 35 mcg และ Progestins ส่วนอาการข้างเคียงอื่นๆจากการใช้ฮอร์โมนรวม ได้แก่ ปวดศีรษะ (3.4%) คลื่นไส้ (RR = 2.1) คัดตึงเต้านม (RR = 1.2) อารมณ์เปลี่ยนแปลง (RR = 1.8) และน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น (RR = 1.4) (Rosenberg, 1995)
อาการที่เกิดจากการได้รับ Estrogen/Progesterone มากหรือน้อยเกินไป (El-Ibiary, 2013) ได้แก่
-Estrogen ขนาดสูง (EE > 20 mcg) ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ แน่นท้อง ตกขาวมากผิดปกติ เป็นฝ้า ปวดศีรษะไมเกรน คัดตึงเต้านม บวม และปวดท้องประจำเดือน และหากมี Estrogen ขนาดต่ำ (EE ≤ 20 mcg) ทำให้เลือดออกกะปริดกะปรอยในช่วงวันที่ 1-9 ของรอบเดือน ประจำเดือนมาน้อยกว่าปกติ หงุดหงิดและลดความรู้สึกทางเพศลง
ในส่วนของ Progesterone ซึ่งมีหลายชนิดและหลายขนาด จึงขอกล่าวในภาพรวมนั่นคือ
-Progesterone ขนาดสูง (Progestins > 50 mcg) ทำให้ความอยากอาหารเพิ่มขึ้น น้ำหนักขึ้น เหนื่อย เพลีย ประจำเดือนมาน้อยกว่าปกติ เป็นสิว หน้ามัน หนังศีรษะมัน ขนดก ซึมเศร้า เป็นเชื้อราในช่องคลอดและขนาดหน้าอกเล็กลง และหากมี Progesterone ขนาดต่ำ (Progestins ≤ 50 mcg) ทำให้เลือดออกกะปริดกะปรอยในช่วงวันที่ 10-21 ของรอบเดือน ไม่มีประจำเดือนหรือประจำเดือนมามากผิดปกติ และปวดท้องประจำเดือน
เอกสารอ้างอิง
1. Allen RH, Kaunitz AM, Hickey M, Brennan A. Hormonal contraception. Williams Textbook of Endocrinology. 2016;14:642-667.
2. Brynhildsen J. Combined hormonal contraceptives: prescribing patterns, compliance, and benefits versus risks. Therapeutic Advances in Drug Safety. 2014;5(5):201–213.
3. El-Ibiary Y, Hardman JL. Contraception. In: Koda Kimble MA, Young LY, Kradjan WA, Guglielmo JB, Alldredge BK, Corelli RL, editors. Kada-Kimble and Young’s Applied therapeutics: the clinical use of drugs. 10th ed. Philadelphia: Lippincott & Wilkins; 2013. p. 1066-89
4. ESHRE Capri Workshop Group, Collins J, Crosignani PG. Endometrial bleeding.
Hum Reprod Update. 2007;13(5):421-31.
5. Evans G, Sutton EL. Oral contraception. Medical Clinics of North America. 2015;99(3):479-503.
6. Estradiol/Progesterone. In: DRUGDEX® System [database on the internet]. Greenwood Village, CO:Thomson Micromedex. [cited 2019 January 10]. Available from:
http://www.micromedexsolutions.com/micromedex2/librarian.
7. Gallo MF, Nanda K, Grimes DA, Lopez LM, Schulz KF. 20 µg versus >20 µg
estrogen combined oral contraceptives for contraception. Cochrane Database Syst Rev. 2011;(1):CD003989.
8. Rosenberg MJ, Waugh MS, Meehan TE. Use and misuse of oral contraceptives: risk indicators for poor pill taking and discontinuation. Contraception. 1995;51(5):283-8.
9. Shrader SP, Ragucci KR. Contraception. In: DiPiro JT, Talbert RL, Yee GC, Matzke GR, Wells BG, Posey LM, editors. Pharmacotherapy: A pathophysiologic approach. 10th ed. New York: McGraw-Hill Education; 2017. p. 1247-62.


วันที่ตอบ : 24 ม.ค. 63 - 12:37:15




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110