ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
การใช้ยา Kal-Cee และวิตามินดี

ภรรยาผมอายุ 70 ปี เป็นอำมะพฤกษ์ มีอาการกระดูกพรุนปานกลาง ได้รับยา Aclasta injection 5 mg ปีละหนึ่งครั้ง ครั้งล่าสุดคุณหมอจ่ายยามาสองตัวคือ ๑) Kal-Cee Orange ให้ทานติดต่อกัน 6 เดือน ๒) วิตามินดี Calciferol capsules 20,000 Units ทานสัปดาห์ละ 2 ครั้ง เนื่องจากพบว่าผลเลือดมีวิตามินดีต่ำ

ผมพบว่าที่ข้างกล่อง Kal-Cee มีคำเตือนว่าไม่ควรทานติดต่อกันนานๆ และมีส่วนประกอบวิตามินดีด้วย เลยอยากเรียนถามว่า การทานยาตามนี้จะเกิดผลเสียอะไรหรือเปล่าครับ


[รหัสคำถาม : 390] วันที่รับคำถาม : 10 มิ.ย. 65 - 22:11:58 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

โรคกระดูกพรุน (osteoporosis) คือ ภาวะที่มีการสูญเสียมวลกระดูก ทำให้ความแข็งแกร่งของกระดูกลดลง เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดกระดูกหัก แคลเซียมเป็นแร่ธาตุที่สำคัญในการสร้างกระดูก โดยปกติสมดุลแคลเซียมจะถูกควบคุมโดยวิตามินดีและฮอร์โมนพาราไทรอยด์ โดยวิตามินดีที่ได้รับจากอาหารหรือแสงยูวี จะถูกเปลี่ยนโดยตับและไตให้อยู่ในรูปออกฤทธิ์เพื่อช่วยในการดูดซึมแคลเซียมจากลำไส้เข้าสู่เลือดมากขึ้น แต่หากมีแคลเซียมในเลือดต่ำลง ร่างกายจะกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนพาราไทรอยด์เพื่อเพิ่มการดึงแคลเซียมจากกระดูกเข้าสู่เลือดให้เกิดความสมดุล โดยผู้ป่วยที่มีวิตามินดีต่ำจะทำให้แคลเซียมถูกดูดซึมลดลงจาก 30-35% เหลือ 10-15% ดังนั้นผู้ที่ได้รับแคลเซียมและวิตามินดีจากอาหารไม่เพียงพอทำให้มีการดูดซึมแคลเซียมได้น้อย มีการสลายมวลกระดูกเพื่อดึงแคลเซียมไปใช้มากขึ้น ทำให้กระดูกเปราะบางและมีความแข็งแรงน้อยลง โรคกระดูกพรุนมักพบในหญิงวัยหมดประจำเดือนและผู้สูงอายุ เนื่องจากอายุที่มากขึ้นและการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนจะเพิ่มการทำงานของเซลล์สลายกระดูก เพิ่มการขับออกและลดการดูดซึมแคลเซียม ทำให้กระดูกบางลง
ยาสำหรับการรักษาโรคกระดูกพรุนที่แนะนำเป็นอันดับแรก ได้แก่ Alendronate, Risedronate, Zoledronic acid, Denosumab ยาทางเลือก ได้แก่ Ibandronate, Teriparatide, Raloxifene และ Calcitonin [1] โดย ACLASTA® คือยา Zoledronic acid รูปแบบยาฉีด 5 mg/100mL [2] มีข้อบ่งใช้ในการรักษาโรคกระดูกพรุน ยาออกฤทธิ์ยับยั้งการสลายกระดูกของเซลล์สลายกระดูก ขนาดยาที่แนะนำคือ 5 มิลลิกรัม ฉีดเข้าหลอดเลือดดำปีละครั้ง เป็นเวลา 3 ปี จากนั้นตรวจค่าความหนาแน่นของมวลกระดูก [bone mineral density (BMD)] หากยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดกระดูกหักสูงแนะนำให้ยาต่อถึง 6 ปี อาการไม่พึงประสงค์สำคัญที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่ ภาวะไตวายเฉียบพลัน (Acute kidney injury) หัวใจเต้นผิดจังหวะ (Atrial fibrillation) กระดูกต้นขาหักแบบผิดปกติ (Atypical femoral fractures) ภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ (Hypocalcemia) อาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ (Influenza-like illness) และกระดูกขากรรไกรตาย (Osteonecrosis of the jaw) [3]
โรคกระดูกพรุนในหญิงวัยหมดประจำเดือนที่มี BMD ต่ำและมีความเสี่ยงกระดูกหักสูง ควรได้รับแคลเซียมและวิตามินดีเสริมร่วมกับการใช้ยารักษาโรคกระดูกพรุน[4] มีการศึกษาการได้รับแคลเซียมและวิตามินดีในผู้ป่วยหญิงวัยหมดประจำที่เป็นโรคกระดูกพรุนพบว่าสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดกระดูกสะโพกหักและเพิ่มมวลกระดูกได้อย่างมีนัยสำคัญ [5] โดยผู้ป่วยควรได้รับแคลเซียม 1,000-1,200 มิลลิกรัมต่อวัน เน้นการรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูงเป็นหลัก เช่น นมหรือผลิตภัณฑ์จากนมไขมันต่ำ เพราะมีปริมาณแคลเซียมสูงและแคลเซียมจากนมสามารถดูดซึมได้ดี ซึ่งปริมาณแคลเซียมเฉลี่ยที่คนไทยได้รับจากอาหารต่อวันมีเพียง 361 มิลลิกรัมต่อวันเนื่องจากอาหารที่บริโภคในชีวิตประจำวันมีแคลเซียมไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย จึงแนะนำให้รับประทานอาหารเสริมแคลเซียมปริมาณ ≤ 1000 มิลลิกรัมต่อวันและไม่เกิน 1500 มิลลิกรัมต่อวัน [6] ผลข้างเคียงที่พบบ่อยจากการรับประทานแคลเซียมเม็ด ได้แก่ ท้องอืด แน่นท้องและท้องผูก [7] ส่วนการให้วิตามินดีเสริมจะช่วยให้ร่างกายสามารถดูดซึมแคลเซียมได้ดียิ่งขึ้น วิตามินดีที่ให้จะอยู่ในรูปวิตามิน D3 (cholecalciferol) หรือวิตามิน D2 (ergocalciferol) โดยทั่วไปแนะนำให้ได้รับวิตามินดี 400-800 Units/day สำหรับผู้ที่มีระดับวิตามินดีในเลือดต่ำแนะนำ 800-1,000 Units/day และสำหรับผู้ที่ขาดวิตามินดีควรได้รับ 50,000 Units/week แบ่งให้สัปดาห์ละครั้งหรือสองครั้ง เป็นเวลา 6-8 สัปดาห์ ซึ่ง CALCIFEROL® capsules คือวิตามิน D2 ขนาด 20,000 Units ต่อแคปซูล [2] สามารถรับประทานตามที่แพทย์สั่ง อาการไม่พึงประสงค์จากยาจะเกิดขึ้นเมื่อมีความเข้มข้นของวิตามินดีในเลือดสูงมากกว่า 100 ng/mL ได้แก่ ภาวะแคลเซียมในเลือดสูง อ่อนเพลีย ปวดหัว ง่วงนอน คลื่นไส้อาเจียน [1]
สำหรับ KAL-CEE® ORANGE ประกอบด้วยวิตามินซี 1,000 มิลลิกรัม แคลเซียมคาร์บอเนต 625 มิลลิกรัม (เทียบเท่ากับแคลเซียม 250 มิลลิกรัม) วิตามิน D3 300 Units และวิตามิน B6 15 มิลลิกรัม ช่วยเพิ่มปริมาณแคลเซียมและวิตามินดีในร่างกายให้เพียงพอกับความต้องการต่อวันในการเสริมสร้างมวลกระดูก โดยรับประทานครั้งละ 1 เม็ดฟู่ละลายน้ำ 1 แก้ว วันละ 1 ครั้งพร้อมอาหาร [2] การรับประทาน KAL-CEE® ORANGE วันละ 1 เม็ด มีความปลอดภัยเนื่องจากปริมาณแคลเซียมและวิตามินดีไม่สูงจนทำให้เกิดพิษ แต่อาจเกิดผลข้างเคียงจากยาดังกล่าวข้างต้น อย่างไรก็ตามการรับประทาน KAL-CEE® ORANGE 1 เม็ดต่อวัน จะได้ปริมาณแคลเซียมเพียง 250 มิลลิกรัม ซึ่งอาจไม่เพียงพอต่อปริมาณแคลเซียมที่ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนควรได้รับต่อวัน จึงแนะนำให้รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูงร่วมด้วย เช่น นม ผลิตภัณฑ์จากนม ปลาตัวเล็กที่บริโภคทั้งตัว กุ้งแห้ง เต้าหู้ หรือผักใบเขียว ได้แก่ คะน้า กวางตุ้ง ขี้เหล็ก ตำลึง บัวยก ถั่วพู เป็นต้น [7]
*ปริมาณแคลเซียมในอาหารแต่ละชนิดศึกษาเพิ่มเติมได้จาก ปริมาณสารอาหารอ้างอิงที่ควรได้รับประจําวันสําหรับคนไทย พ.ศ. 2563 หน้า 272 (https://www.thaidietetics.org/wp-content/uploads/2020/04/dri2563.pdf)

เอกสารอ้างอิง
[1]. O’Connell M, Borchert JS. Chapter 92 Osteoporosis and Osteomalacia. In: DiPiro JT, Talbert RL, Yee GC, Matzke GR, Wells BG, Posey LM, editors. Pharmacotherapy: A Pathophysiologic Approach, 10th ed. Newyork, McGraw Hill; 2017:1457-83.
[2]. Eizel A, Shirley ET, Rhyndel SA, Glazelle MS, Julie FB, Ryma S, editors. MIMS Drug Reference concise prescribing information. Bangkok: TIMS (Thailand) Ltd; 2021:412-3,515.
[3]. Zoledronic. In: Specific Lexicomp Online Database [database on the internet]. Hudson (OH): Lexicomp Lnc.: 2022 [updated 10 Jun. 2022; cited 14 Jun. 2022]. Available from: https://online.lexi.com. Subscription required to view.
[4]. Eastell R, Rosen CJ, Black DM, Cheung AM, Murad MH, Shoback D. Pharmacological Management of Osteoporosis in Postmenopausal Women: An Endocrine Society* Clinical Practice Guideline. J Clin Endocrinol Metab. 2019 May 1;104(5):1595-1622. doi: 10.1210/jc.2019-00221.
[5]. Liu C , Kuang X , Li K , Guo X , Deng Q , Li D . Effects of combined calcium and vitamin D supplementation on osteoporosis in postmenopausal women: a systematic review and meta-analysis of randomized controlled trials. Food Funct. 2020 Dec 1;11(12):10817-10827. doi: 10.1039/d0fo00787k.
[6]. มูลนิธิโรคกระดูกพรุนแห่งประเทศไทย. คำแนะนำเวชปฏิบัติการดูแลรักษาโรคกระดูกพรุน. กรุงเทพฯ: คอนเซ็พท์ เมดิคัส. 2564.
[7]. คณะกรรมการและคณะทำงานปรับปรุงข้อกำหนดสารอาหารที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย.ปริมาณสารอาหารอ้างอิงที่ควรได้รับประจําวันสําหรับคนไทย พ.ศ. 2563. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข; 2563:261-275.

วันที่ตอบ : 21 มิ.ย. 65 - 15:57:48




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110