ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
การใช้ Alfuzosin ร่วมกับ Doxazosin

สอบถามสามารถใช้ Alfuzosin 10 mg 1x1 pc ร่วมกับ Doxazosin 2 mg 1xhs ได้หรือไม่

[รหัสคำถาม : 392] วันที่รับคำถาม : 25 มิ.ย. 65 - 14:41:58 ถามโดย : บุคลากร วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

ภาวะต่อมลูกหมากโต (benign prostatic hyperplasia; BHP) เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อบุผิว กล้ามเนื้อเรียบ และเนื้อเยื่อเกี่ยวพันบริเวณต่อมลูกหมาก ทำให้มีการอุดตันของทางเดินปัสสาวะ มักเริ่มพบในเพศชายที่มีอายุตั้งแต่ 40-45 ปีขึ้นไป อาการที่พบ เช่น ปัสสาวะบ่อย ตื่นมาปัสสาวะตอนกลางคืน กลั้นปัสสาวะไม่ได้ ปัสสาวะไหลช้า ปัสสาวะติดขัด และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะได้[1]
จากแนวทางการรักษาภาวะต่อมลูกหมากโต ยาที่แนะนำให้เลือกใช้เป็นอันดับแรก (first-line therapy) ได้แก่ ยาในกลุ่ม alpha-blockers (เช่น alfuzosin, doxazosin, silodosin, tamsulosin, terazosin) หากผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อยา alpha-blockers หรือทนอาการข้างเคียงไม่ได้ สามารถพิจารณาให้ยาทางเลือกรอง (second-line therapy) ได้แก่ 5-alpha reductase inhibitors (เช่น finasteride, dutasteride), หรือ phosphodiesterase-5 Inhibitors (เช่น tadalafil) ในผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ (erectile dysfunction) ร่วมด้วย หรืออาจใช้ยาหลายชนิดร่วมกัน (combination therapy) เช่น ใช้ alpha-blockers ร่วมกับ 5-ARI, anticholinergic agents หรือ beta-3 agonists[2,3] อย่างไรก็ตาม จากแนวทางการรักษาภาวะต่อมลูกหมากโตดังกล่าวข้างต้นไม่ได้กล่าวถึงการใช้ยา alpha-blockers 2 ชนิดร่วมกัน[2,3]
Alfuzosin จัดเป็นยาในกลุ่ม alpha-blockers ออกฤทธิ์ยับยั้ง alpha1-adrenoreceptors บริเวณกล้ามเนื้อเรียบของต่อมลูกหมากและกระเพาะปัสสาวะ ทำให้กล้ามเนื้อเรียบคลายตัว เพิ่มการไหลของปัสสาวะ[4] ขนาดยาที่ใช้รักษาภาวะต่อมลูกหมากโต คือ รับประทานครั้งละ 2.5 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง (ขนาดยาสูงสุด 10 มิลลิกรัม/วัน) หรือรับประทานครั้งละ 5 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง หรือรับประทานครั้งละ 10 มิลลิกรัม วันละครั้ง อาการไม่พึงประสงค์จากยา เช่น มึนงง อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ[4]
Doxazosin ออกฤทธิ์ยับยั้ง alpha1-adrenoreceptors บริเวณต่อมลูกหมากและกระเพาะปัสสาวะเช่นเดียวกัน ทำให้ลดการตีบของท่อปัสสาวะ (urethral stricture)[5] โดยรูปแบบยาเม็ดที่มีการปลดปล่อยตัวยาทันที (immediate release) เริ่มรับประทาน 1 มิลลิกรัม วันละครั้ง (ขนาดยาสูงสุด 8 มิลลิกรัม/วัน) ส่วนรูปแบบยาเม็ดที่มีการควบคุมการปล่อยยา (extended release) เริ่มรับประทาน 4 มิลลิกรัม วันละครั้ง ตอนเช้า (ขนาดยาสูงสุด 8 มิลลิกรัม/วัน) อาการไม่พึงประสงค์จากยา เช่น มึนงง วิงเวียน อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ในผู้สูงอายุเกิดความดันต่ำขณะเปลี่ยนท่า (orthostatic hypotension) ปากแห้ง[5]
จากการสืบค้นข้อมูลจากฐานข้อมูล PubMed ไม่พบการศึกษาเกี่ยวกับการใช้ alfuzosin ร่วมกับ doxazosin ในการรักษาภาวะต่อมลูกหมากโต แต่มีการศึกษาถึงการใช้ยาเหล่านี้ร่วมกับยาชนิดอื่นในกลุ่ม alpha-blockers เช่น
1) การศึกษาแบบสุ่ม (randomized controlled trial; RCT) เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพและความปลอดภัยของการใช้ tamsulosin 0.4 มิลลิกรัม และการใช้ tamsulosin 0.4 มิลลิกรัม ร่วมกับ alfuzosin 10 มิลลิกรัม ในการรักษาผู้ป่วยที่ใส่สายสวนปัสสาวะที่มีอาการปัสสาวะไม่ออกเฉียบพลัน (acute urinary retention ; AUR) จากโรคต่อมลูกหมากโตและมีการนำสายสวนปัสสาวะออกหลังจากได้รับยา 3 วันและให้ผู้ป่วยปัสสาวะเอง จากการศึกษาพบว่า
- กลุ่มที่ได้รับ tamsulosin + alfuzosin สามารถปัสสาวะเองได้โดยไม่จำเป็นต้องได้รับการใส่สายสวนปัสสาวะซ้ำ ซึ่งมากกว่ากลุ่มที่ได้รับ tamsulosin เพียงอย่างเดียว (ร้อยละ 77 และ ร้อยละ 54 ตามลำดับ ; P=0.003)
- กลุ่มที่ได้รับ tamsulosin + alfuzosin มีการไหลของปัสสาวะสูงกว่ากลุ่มที่ได้รับ tamsulosin โดยวัดจากอัตราการไหลของปัสสาวะมากกว่า 5 มิลลิลิตร/วินาที และปริมาณปัสสาวะมากกว่า 100 มิลลิลิตร (ร้อยละ 62 และ ร้อยละ 51 ตามลำดับ ; P=0.035)
- อาการไม่พึงประสงค์ที่พบในกลุ่มที่ได้รับ tamsulosin + alfuzosin และกลุ่มที่ได้รับ tamsulosin ไม่แตกต่างกัน ได้แก่ มึนงง (ร้อยละ 8.7 และ ร้อยละ 6.5 ตามลำดับ) ปวดศีรษะ (ร้อยละ 11.4 และ ร้อยละ 9.3 ตามลำดับ) การหลั่งอสุจิย้อนทาง (retrograde ejaculation) (ร้อยละ 13.4 และ ร้อยละ 11.7 ตามลำดับ) และไม่พบการเกิดภาวะความดันโลหิตต่ำอย่างรุนแรง (severe hypotension) [6]
2) การศึกษาแบบสุ่ม (RCT) เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยา alpha-blockers ในผู้ป่วยที่มีภาวะต่อมลูกหมากโตร่วมกับความดันโลหิตสูง โดยผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อยา doxazosin 4 มิลลิกรัม หลังจากใช้ยาเป็นเวลา 4 สัปดาห์ แบ่งผู้ป่วยเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่ม D ได้รับ doxazosin 8 มิลลิกรัม/วัน 2) กลุ่ม DT ได้รับ doxazosin 4 มิลลิกรัม ร่วมกับ tamsulosin 0.2 มิลลิกรัม/วัน 3) กลุ่ม DF ได้รับ doxazosin 4 มิลลิกรัม ร่วมกับ finasteride 5 มิลลิกรัม/วัน ผลการศึกษาพบว่า
- ผู้ป่วยทั้ง 3 กลุ่ม มีอาการดีขึ้นจากก่อนเริ่มการรักษา โดยจากการประเมินด้วยแบบสอบถามอาการของภาวะต่อมลูกหมากโต (International Prostate Symptom Score ; IPSS) พบว่าในกลุ่ม D และ DT มีคะแนนสูงกว่ากลุ่ม DF อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05), อัตราการไหลของปัสสาวะสูงสุด (maximal flow rate ; Qmax) ในกลุ่ม D และ DT สูงกว่ากลุ่ม DF อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05), คุณภาพชีวิต (quality of life ; QOL) ของทั้ง 3 กลุ่มไม่แตกต่างกัน และความดันโลหิตในกลุ่ม D ลงลดลงมากกว่ากลุ่มอื่นๆอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05)
- อาการไม่พึงประสงค์พบในกลุ่ม D, DT และ DF พบร้อยละ 29.0, ร้อยละ 19.3% และร้อยละ 17.3 ตามลำดับ โดยพบการเกิดความดันโลหิตต่ำ หน้ามืด มึนงง ใจสั่น ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ในกลุ่ม D สูงกว่ากลุ่มอื่นๆ (p<0.05) และพบการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ความต้องการทางเพศลดลง การหลั่งอสุจิผิดปกติ ในกลุ่ม DF สูงกว่ากลุ่มอื่นๆ (p<0.05) [7]

โดยสรุป จากแนวทางการรักษาโรคต่อมลูกหมากโต แนะนำยาที่เป็นทางเลือกแรก (first-line therapy) ได้แก่ alpha-blockers ส่วนยาทางเลือกรอง (second-line therapy) ได้แก่ 5-alpha reductase inhibitors (5-ARI), Phosphodiesterase-5 Inhibitors (PDE5) หรือการใช้ยาหลายกลุ่มร่วมกัน เช่น alpha-blockers ร่วมกับ 5-ARI, anticholinergic agents หรือ beta-3 agonists และจากข้อมูลเท่าที่สืบค้นได้ ไม่พบการศึกษาเกี่ยวกับการใช้ alfuzosin ร่วมกับ doxazosin ในการรักษาภาวะต่อลูกหมากโต แต่มีการศึกษาถึงการใช้ยาเหล่านี้ยาร่วมกับยาชนิดอื่นๆ ในกลุ่ม alpha-blockers ตามรายละเอียดข้างต้น

เอกสารอ้างอิง
[1]. McVary KT. Clinical manifestations and diagnosis evaluation of benign prostatic hyperplasia. [Internet]. Hudson, Ohio: Hudson, Ohio: Wolters Kluwer UpToDate, Inc.; 2022 [cited 25 Jul 2022].
[2]. Lerner LB, McVary, KT, Barry MJ et al: Management of lower urinary tract symptoms attributed to benign prostatic hyperplasia: AUA Guideline part I, initial work-up and medical management. Journal of Urology. 2021; 206: 806.
[3]. Nickel JC, Aaron L, Barkin J, Elterman D, Nachabé M, Zorn KC. Canadian Urological Association guideline on male lower urinary tract symptoms/benign prostatic hyperplasia (MLUTS/BPH): 2018 update. Canadian Urological Association Journal. 2018 Oct;12(10):303-312.
[4]. Alfuzosin. In: Specific Lexicomp Online Database [database on the internet]. Hudson (OH): Lexicomp Inc.: 2022 [updated 2022 Jul 9; cited 2022 Jul 10]. Available from: https://online.lexi.com. Subscription required to view.
[5]. Doxazosin. In: Specific Lexicomp Online Database [database on the internet]. Hudson (OH): Lexicomp Inc.: 2022 [updated 2022 Jul 7; cited 2022 Jul 10]. Available from: https://online.lexi.com. Subscription required to view.
[6]. Kara O, Yazici M. Is the double dose alpha-blocker treatment superior than the single dose in the management of patients suffering from acute urinary retention caused by benign prostatic hyperplasia? Urology Journal. 2014 Jul 8;11(3):1673-7.
[7]. Lee KC, Kim JG, Cho SY, Jeon JS, Cho IR. Comparison of different alpha-blocker combinations in male hypertensives with refractory lower urinary tract symptoms. Korean Journal of Andrology. 2011 Dec 1;29(3):242-50.

วันที่ตอบ : 01 ส.ค. 65 - 14:49:03




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110