ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
ยาลดไขมัน Simvastatin

ตรวจเลือดมาผล LDL-Cholesterol 177mg/dL คุณหมอยาลดไขมัน Simvastatin 40 มิลลิกรัม พี่สาวค่า LDL สูงกว่าแต่คุณหมอให้กินแค่ 20 มิลลิกรัม คิดว่าคุณหมอให้กินยาสูงไปมั้ยคะ

[รหัสคำถาม : 393] วันที่รับคำถาม : 06 ก.ค. 65 - 12:15:00 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

Simvastatin เป็นยาลดไขมันในเลือดกลุ่ม HMG COA reductase inhibitors กลไกการออกฤทธิ์ของตัวยา คือการยับยั้งเอนไซม์ HMG-CoA reductase (3-hydroxy-3-methylglutaryl coenzyme A reductase)(1) โดยเอนไซม์ดังกล่าวทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการสร้างคอเลสเตอรอล ส่งผลให้ปริมาณคอเลสเตอรอลลดลง ทั้งยังช่วยขับ LDL-Cholesterol (LDL-C) (หรือที่รู้จักกันในชื่อไขมันชนิดไม่ดี) ออกจากร่างกาย ทำให้ระดับของ LDL-C และ apolipoprotein B ในร่างกายลดลง(2) อีกทั้งช่วยลดการอักเสบของการสะสมไขมันในหลอดเลือด (coronary plaque) ช่วยยับยั้งการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด ต้านการแข็งตัวของเลือด(1) และสามารถช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้(2,6)

ขนาดยาของ simvastatin สำหรับการรักษาภาวะไขมันในเลือดสูง ตามแนวทางเวชปฏิบัติการใช้ยารักษาภาวะไขมันผิดปกติ เพื่อป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด พ.ศ. 2559 และ American Heart Association/American College of Cardiology Joint Committee on Clinical Practice Guidelines ค.ศ. 2019 แนะนำว่าการรักษาภาวะไขมันในเลือดสูงนั้นจะพิจารณาจากความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในอนาคต 10 ปี (10-year Atherosclerotic Cardiovascular Disease risk) โรคประจำตัวผู้ป่วย (เช่นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิต โรคไต) และอายุของผู้ป่วย(3,4) โดยแนวทางเวชปฏิบัติการใช้ยารักษาภาวะไขมันผิดปกติ เพื่อป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด พ.ศ. 2559 นั้นแนะนำว่าผู้ป่วยที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป และไม่เป็นโรคเบาหวานหรือไตเรื้อรังนั้น หากมีผลตรวจของปริมาณ LDL-C ในกระแสเลือด <190 mg/dL และประเมินความเสี่ยงของโอกาสที่จะเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในอนาคต 10 ปี มีความเสี่ยงตั้งแต่ 10% ขึ้นไป จะพิจารณาเริ่มการรักษาด้วยยาลดไขมันกลุ่ม statins ความแรงปานกลางหรือต่ำ(3) โดยขนาดยา simvastatin ระดับความแรงต่ำที่ใช้จะไม่เกิน 20 mg และความแรงปานกลาง คือ ขนาด 20-40 mg(3-5) จะสามารถลดระดับ LDL-C ในร่างกายได้ 30-50%(2-4)

แนวทางการรักษาของ American Heart Association/American College of Cardiology Joint Committee on Clinical Practice Guidelines ค.ศ. 2019 แนะนำว่า ผู้ป่วยอายุ 40-75 ปี ที่มีค่า LDL-C ≥70mg/dL แต่ไม่เกิน 190 mg/dL และไม่เป็นโรคเบาหวาน มีความเสี่ยงของโอกาสที่จะเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในอนาคต 10 ปี <5% จะพิจารณาให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดปัจจัยเสี่ยง หากมีความเสี่ยงของโอกาสที่จะเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในอนาคต 10 ปี ตั้งแต่ 5% แต่ไม่เกิน 20% ควรพิจารณาเริ่มยาลดไขมันกลุ่ม statins ความแรงปานกลาง จะสามารถลดระดับ LDL-C 30-49%(4) ซึ่งขนาดยาสูงสุดของการรักษาของยา simvastatin คือ 40 mg(1-3) ดังนั้นขนาดยา 20-40 mg ถือว่าอยู่ในช่วงการรักษาเพื่อลดระดับ LDL ในร่างกาย 30-50%(2-4)

ผลข้างเคียงจากยาที่อาจพบได้ เช่น เกิดอาการวิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ มวนท้อง ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย อ่อนล้า และยา simvastatin สามารถเกิดอันตรกิริยาระหว่างยา เช่น gemfibrozil, itraconazole, ketoconazole, erythromycin, clarithromycin(1) ดังนั้นควรแจ้งให้แพทย์ทราบว่าผู้ป่วยใช้ยาชนิดใดอยู่บ้าง และหากเกิดอาการดังกล่าวควรหยุดยาและพบแพทย์ทันที

เอกสารอ้างอิง

1. Simvastatin. In: Lexi-drugs online [internet]. Hudson (OH): LexiComp;2023 [cited 12 Nov 2023]. Available from: http://online.lexi.com.
2. Simvastatin. In: ClinicalKey Online Database [Internet]. Radarweg (AMS): 2023; [cited 12 Nov 2023]. Available from: https://www.clinicalkey.com
3. สมาคมโรคหลอดแดงแห่งประเทศไทย. แนวทางเวชปฏิบัติการใช้ยารักษาภาวะไขมันผิดปกติ เพื่อป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด พ.ศ. 2559. [อินเทอร์เน็ต]. 2559. [เข้าถึงเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2566]. เข้าถึงได้จาก: http://www.thaiheart.org/images/column_1487762586/2016 RCPT Dyslipidemia clinical practice guideline.pdf.
4. Arnett DK, Blumenthal RS, Albert MA, Buroker AB, Goldberger ZD, Hahn EJ, et al. 2019 ACC/AHA guideline on the primary prevention of cardiovascular disease: executive summary: a report of the American college of cardiology/American heart association task force on clinical practice guidelines. Circulation. 2019;140(11).
5. Hodkinson A, Tsimpida D, Kontopantelis E, Rutter MK, Mamas MA, Panagioti M. Comparative effectiveness of statins on non-high density lipoprotein cholesterol in people with diabetes and at risk of cardiovascular disease: systematic review and network meta-analysis. BMJ. 2022;e067731.
6. Yebyo HG, Aschmann HE, Kaufmann M, Puhan MA. Comparative effectiveness and safety of statins as a class and of specific statins for primary prevention of cardiovascular disease: a systematic review, meta-analysis, and network

วันที่ตอบ : 08 ธ.ค. 66 - 15:11:15




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110