ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
อาหารเสริมกับการลดไขมัน

ระหว่าง policosanol vs lexitin vs fish oil vs garlic
ตัวใดสามารถลดไขมันเลว เพิ่มไขมันดีได้ดีกว่ากัน และสามารถทานรวมกันได้ไหมครับ

[รหัสคำถาม : 397] วันที่รับคำถาม : 29 ก.ค. 65 - 11:36:04 ถามโดย : บุคลากร วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

น้ำมันปลา (fish oil) เป็นแหล่งของ omega-3 fatty acids ซึ่งชนิดที่สำคัญและมีผลต่อระดับไขมันในเลือด คือ Eicosapentaenoic acid (EPA) และ Docosahexaenoic acids (DHA) โดย omega-3 fatty acids สามารถลด triglyceride ได้ แต่อาจทำให้เพิ่มหรือลดระดับ cholesterol[1] การรับประทาน omega-3 fatty acids 2-3 g/day จะสามารถลด triglyceride ได้ประมาณร้อยละ 30[2] องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกาแนะนำให้ใช้ fish oil เป็นอาหารเสริมในคนที่มีความเสี่ยงต่อ coronary artery disease โดยแนะนำให้รับประทาน 1-2 capsule วันละ 3 ครั้ง และแนะนำให้ใช้ในคนไข้ที่มีภาวะ hypertriglyceridemia (triglyceride ≥500 mg/dL) รับประทาน omega-3 fatty acids 4 g วันละ 1 ครั้ง หรือ 2 g วันละ 2 ครั้ง[3]
Policosanol ซึ่งเป็นสารสกัดจากไขอ้อย (sugar cane wax) มีโครงสร้างคล้ายยากลุ่ม statin อาจมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ HMG-CoA reductase โดยขนาดยาที่แนะนำให้ใช้สำหรับ hypercholesterolemia คือ 5 mg/day สามารถเพิ่มไปถึง 20 mg/day ได้ มีการศึกษาว่าสามารถลดระดับไขมันในเลือดได้โดยการเพิ่มการจับและทำลาย LDL-C[4] ไม่แนะนำให้ใช้ในการรักษาภาวะ dyslipidemia เนื่องจากยังมีหลักฐานที่สนับสนุนประโยชน์ในการใช้ไม่มาก[2] การศึกษาแบบ meta-analysis ในปีค.ศ. 2005 การใช้ policosanol ขนาดโดยเฉลี่ย 12 mg/day (5-40 mg/day) ระยะเวลาโดยเฉลี่ย 29.6 สัปดาห์ (4–104 สัปดาห์) ในการใช้รักษาผู้ป่วย coronary heart disease ที่มีอายุ ≥18 ปี พบว่ากลุ่มที่ได้รับ policosanol มีระดับ LDL-C ลดลง 23.74% ระดับ total cholesterol ลดลง 16.2% ระดับ HDL-C เพิ่มขึ้น 10.6% แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเทียบกับยาหลอก แต่ระดับ triglyceride ของทั้ง 2 กลุ่มไม่แตกต่างกัน[5] การศึกษาแบบ meta-analysis ในปีค.ศ. 2018 การใช้ policosanol ขนาด 10-20 mg ระยะเวลาโดยเฉลี่ย 11.23 สัปดาห์ (1–52 สัปดาห์) ในผู้ที่มีภาวะ dyslipidemia พบว่ากลุ่มที่ได้รับ policosanol มีระดับ LDL-C ลดลง 0.71 mmol/L ระดับ total cholesterol ลดลง 0.58 mmol/L ระดับ HDL-C เพิ่มขึ้น 0.13 mmol/L แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเทียบกับยาหลอก แต่ระดับ triglyceride ของทั้ง 2 กลุ่มไม่แตกต่างกัน[6] อาการข้างเคียงของ policosanol ที่พบ เช่น ง่วงนอน นอนไม่หลับ หิวหรือกระหายบ่อย คลื่นไส้ ปวดท้อง ท้องเสีย เป็นต้น[5-6]
Garlic มีฤทธิ์ลดไขมันจากสาร Allicin ซึ่งสามารถยับยั้ง HMG-CoA reductase ลดขั้นตอนการสังเคราะห์ cholesterol เพิ่มการเผาผลาญกรดไขมันและ triglyceride และชะลอการดูดซึม cholesterol ในทางเดินอาหาร[7] การศึกษาขนาดใหญ่พบว่าไม่สามารถลดระดับไขมันในเลือดได้[1] มีการศึกษาแบบ meta-analysis ในปีค.ศ. 2018 และ 2021 การได้รับ garlic มีผลลดระดับ total cholesterol แต่ไม่มีผลต่อระดับ triglyceride เมื่อเทียบกับยาหลอก ในส่วนของผลต่อระดับ LDL-C และ HDL-C ข้อมูลยังคงขัดแย้งกันอยู่[8-9]
Lecithin ไม่พบหลักฐานรองรับว่ามีผลต่อ serum lipid profile[10-11] นอกจากนี้ไม่พบข้อมูลที่เปรียบเทียบประสิทธิภาพของอาหารเสริมทั้ง 4 ชนิด (fish oil, policosanol, garlic และ lecithin) ส่วนในแง่ของการใช้ร่วมกันนั้นพบเพียงหลักฐานการใช้ omega-3 fatty acid ร่วมกับ policosanol เท่านั้น โดยเป็นการศึกษาแบบสุ่มในปีค.ศ. 2005 ศึกษาผลต่อระดับไขมันในเลือดในผู้ป่วยโรค hypercholesterolemia โดยใช้ policosanol ขนาด 5 mg หรือ 10 mg ร่วมกับ omega-3 fatty acid 1 g วันละ 2 capsule เป็นระยะเวลา 8 สัปดาห์ เปรียบเทียบกับการใช้ยาหลอกร่วมกับ omega-3 fatty acid 1 g วันละ 2 capsule พบว่ากลุ่มที่ได้รับ policosanol ขนาด 5 mg และ 10 mg มีระดับ LDL-C ลดลง 21.1% และ 26.2% ตามลำดับ ระดับ total cholesterol ลดลง 12.7% และ 15.7% ตามลำดับ ระดับ HDL-C เพิ่มขึ้น 14.5% และ 15.5% ตามลำดับ มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่ระดับ triglyceride ของทั้ง 2 กลุ่มไม่แตกต่างกัน ในส่วนของอาการข้างเคียง ของการใช้ร่วมกันพบมีอาการ heartburn 1 ราย[12]
โดยสรุปคือ หากต้องการใช้อาหารเสริมเพื่อช่วยลดระดับไขมันในเลือด อาหารเสริมที่มีหลักฐานรองรับว่ามีผลต่อระดับไขมันในเลือด คือ น้ำมันปลา (fish oil) โดยมีส่วนช่วยลดระดับ triglyceride ในเลือด ซึ่งองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกามีการรองรับให้ใช้สำหรับเป็นอาหารเสริมในคนที่มีความเสี่ยงต่อ coronary artery disease และใช้สำหรับผู้ป่วย hypertriglyceridemia[3] ในส่วนของ policosanol แม้จะมีการศึกษาพอสมควรว่ามีผลต่อการลดระดับ LDL-C, total cholesterol และเพิ่ม HDL-C แต่ยังไม่มีการรับรองในการนำไปใช้ในภาวะ dyslipidemia ส่วน garlic และ lecithin ผลการศึกษาน้อยมาก จึงไม่มีหลักฐานเพียงพอต่อการพิจารณาประสิทธิภาพ

เอกสารอ้างอิง
[1]. Christine C Tangney, Robert S Rosenson. Lipid management with diet or dietary supplements. In: UpToDate, Post TW (Ed), UpToDate, Waltham, MA. (Accessed on August 2, 2022).
[2]. Authors/Task Force Members; ESC Committee for Practice Guidelines (CPG); ESC National Cardiac Societies. 2019 ESC/EAS guidelines for the management of dyslipidaemias: Lipid modification to reduce cardiovascular risk. Atherosclerosis. 2019 Nov;290:140-205.
[3]. Lexicomp, Inc. Omega-3-acid ethyl esters (fish oil): Drug information. In:Post TW, ed.UpToDate.Waltham: UpToDate; 2022 (Accessed on August 2, 2022).
[4]. Policosanol. In: Natural Products [database on the Internet]. Hudson (OH): Lexicomp, Inc.; 2016 [updated 28 April 2022; cited 3 Aug 2022]. Available from: http://online.lexi.com. Subscription required to view.
[5]. Chen JT, Wesley R, Shamburek RD, Pucino F, Csako G. Meta-analysis of natural therapies for hyperlipidemia: plant sterols and stanols versus policosanol. Pharmacotherapy. 2005 Feb;25(2):171-83.
[6]. Gong J, Qin X, Yuan F, Hu M, Chen G, Fang K, Wang D, Jiang S, Li J, Zhao Y, Huang Z, Dong H, Lu F. Efficacy and safety of sugarcane policosanol on dyslipidemia: A meta-analysis of randomized controlled trials. Mol Nutr Food Res. 2018 Jan;62(1).
[7]. Garlic. In: Natural Products [database on the Internet]. Hudson (OH): Lexicomp, Inc.; 2016 [updated 23 May 2022; cited 3 Aug 2022]. Available from: http://online.lexi.com. Subscription required to view.
[8]. Sun YE, Wang W, Qin J. Anti-hyperlipidemia of garlic by reducing the level of total cholesterol and low-density lipoprotein: A meta-analysis. Medicine (Baltimore). 2018 May;97(18):e0255.
[9]. Kheirmandparizi M, Keshavarz P, Nowrouzi-Sohrabi P, Hosseini-Bensenjan M, Rezaei S, Kashani SMA, Zeidi N, Tabrizi R, Alkamel A. Effects of garlic extract on lipid profile in patients with coronary artery disease: A systematic review and meta-analysis of randomised clinical trials. Int J Clin Pract. 2021 Dec;75(12):e14974.
[10]. Lecithin. In: Natural Products [database on the Internet]. Hudson (OH): Lexicomp, Inc.; 2016 [updated 28 April 2022; cited 3 Aug 2022]. Available from: http://online.lexi.com. Subscription required to view.
[11]. Oosthuizen W, Vorster HH, Vermaak WJ, Smuts CM, Jerling JC, Veldman FJ, Burger HM. Lecithin has no effect on serum lipoprotein, plasma fibrinogen and macro molecular protein complex levels in hyperlipidaemic men in a double-blind controlled study. Eur J Clin Nutr. 1998 Jun;52(6):419-24.
[12]. Castaño G, Fernández L, Mas R, Illnait J, Gámez R, Mendoza S, Mesa M, Fernández J. Effects of addition of policosanol to omega-3 fatty acid therapy on the lipid profile of patients with type II hypercholesterolaemia. Drugs R D. 2005;6(4):207-19.
วันที่ตอบ : 11 ส.ค. 65 - 10:21:52




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110