ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
กลุ่มยาเสียสาว มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร มีผลข้างเคียง หรือข้อห้ามใช้อย่างไร อากา

กลุ่มยาเสียสาว มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร มีผลข้างเคียง หรือข้อห้ามใช้อย่างไร อาการแสดงอย่างไร จัดอยู่ในประเภทยาใด มีจำหน่ายเฉพาะที่ใด มีปฏิกิริยากับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไหม สามารถตรวจหายาโดยวิธีไหนได้บ้าง ยาอยู่ได้ในร่างกายนานเท่าใด ขับออกทางใดได้บ้าง หากขับออกแล้ว จะยังมียาคงเหลือในร่างกายไหม จะมียาคงเหลือในร่างกายอีกนานเท่าไหร่ หรือขับออกทั้งหมดเลย

[รหัสคำถาม : 4] วันที่รับคำถาม : 11 ธ.ค. 62 - 16:14:46 ถามโดย : บุคลากร วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

1. กลุ่มยาเสียสาวมียาอะไรบ้าง
ยาเสียสาว คือ สารเคมีที่ถูกนำมาใช้ในทางที่ผิด โดยผู้ประสงค์ร้ายแอบลักลอบใช้กับเหยื่อ หวังก่ออาชญากรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเพื่อรูดทรัพย์ หรือล่วงละเมิดทางเพศ โดยมักใช้สารเคมี ดังต่อไปนี้
- ยามิดาโซแลม (Midazolam)
- ยาอัลปราโซแลม (Alprazolam)
- ยาฟลูไนตราซีแปม (Flunitrazepam)
- สารจีเอชบี (GHB = gamma-hydroxybutyrate)
- ยาเค หรือ เคตามีน (ketamine) [1]
ซึ่งยา Midazolam, Alprazolam และ Flunitrazepam เป็นยากลุ่ม Benzodiazepines ขณะที่ Sodium Oxybate เป็นยา Central nervous system depressants และ Ketamine เป็นยากลุ่ม General anesthetics ซึ่งยาทั้งหมดนี้สามารถละลายในน้ำได้ ทำให้มีการนำยาเหล่านี้ไปละลายในเครื่องดื่มต่างๆ ให้คนดื่มไปโดยที่ไม่รู้ว่ามีการผสมยาลงไป
2. ยาเสียสาวแต่ละชนิดอยู่ในประเภทยาอะไร มีสถานที่จำหน่ายที่ใด
Midazolam, Alprazolam, Flunitrazepam (Benzodiazepines) และ Ketamine เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภทที่ 2 [2] คือ วัตถุออกฤทธิ์ที่มีการนำมาใช้ในทางการแพทย์และอาจก่อให้เกิดการนำไปใช้หรือมีแนวโน้มในการนำไปใช้ในทางที่ผิดสูง กฎหมายจึงห้ามผู้ใดผลิต นําเข้าหรือส่งออกซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 เว้นแต่ได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาตเฉพาะกรณี 1. มีความจําเป็นเพื่อประโยชน์ของทางราชการ 2. เป็นผู้ได้รับมอบหมายจากกระทรวงสาธารณสุขโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ หรือ 3. เป็นการผลิตเพื่อส่งออกและส่งออกซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 บางชนิดที่รัฐมนตรีประกาศระบุชื่อตามมาตรา 7 (5) [3]
GHB เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภทที่ 1 [4] คือ วัตถุออกฤทธิ์ที่ไม่ใช้ในทางการแพทย์ และอาจก่อให้เกิดการนําไปใช้หรือมีแนวโน้มในการนําไปใช้ในทางที่ผิดสูง กฎหมายจึงห้ามผู้ใดผลิต ขาย นําเข้าหรือส่งออกซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 เว้นแต่ได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาตเฉพาะในกรณีจําเป็นเพื่อประโยชน์ของทางราชการ [3]
3. ยาเสียสาวแต่ละชนิดมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร
ยา Midazolam, Alprazolam, Flunitrazepam (Benzodiazepines)
ยาจะจับกับ benzodiazepines receptor ที่อยู่บน postsynaptic GABA (γ-aminobutyric acid) โดยจับเพียง GABA-A receptors ทำให้เพิ่ม inhibitory effect ของ GABA ในระบบประสาท ส่งผลให้ chloride channel เปิด ยอมให้ chloride ions เข้าสู่เซลล์มากขึ้น เกิด hyperpolarization ยับยั้งการทำหน้าที่ของเซลล์ประสาทต่างๆ ทำให้ระงับประสาท-นอนหลับ คลายกล้ามเนื้อ สูญเสียความทรงจำทั้งหมดหรือบางส่วน และต้านการชักได้ ใช้มากในการแพทย์สำหรับเป็นยากันชัก ยาคลายกังวล ยานอนหลับ ยาระงับประสาท ยาคลายกล้ามเนื้อและยากล่อมประสาท [5-9]
GHB หรือ Sodium γ-hydroxybutyrate (Sodium-oxybate)
เป็นยา Central nervous system depressant มีสารออกฤทธิ์ คือ gamma-hydroxybutyrate (GHB) โดยสารที่ออกฤทธิ์จะไปจับ GABAB receptor ที่ noradrenergic, dopaminergic และ thalamocortical neurons [10-11] ในทางการแพทย์ได้มีการนำ GHB ที่สังเคราะห์ขึ้นมาใช้เป็นยาสลบ ยานอนหลับ ยารักษาภาวะง่วงหลับ (narcolepsy) ใช้สำหรับช่วยในการคลอด ตลอดจนใช้รักษาผู้ป่วยโรคพิษสุราเรื้อรัง (alcoholism) [12] แต่ปัจจุบันได้ยกเลิกการใช้งานแล้ว [3]
Ketamine
เป็นยากลุ่ม General anesthetic อยู่ในรูปผสม R+ และ S- isomers โดย S- isomers ออกฤทธิ์ดีกว่าและมีอาการข้างเคียงน้อยกว่า R+ ยาจะออกฤทธิ์โดยตรงต่อ cortex และ limbic system โดยเป็น noncompetitive NMDA (N-methyl-D-aspartate) receptor antagonist ซึ่งจะยับยั้งการหลั่ง glutamate ทำให้มีอาการคล้าย cataleptic state คือ ระงับความรู้สึก ทำให้สลบ หลับ ไม่เคลื่อนไหว สูญเสียความทรงจำ ไม่เจ็บปวด หากใช้ขนาดต่ำจะสามารถช่วยลดปวดได้ในผู้ป่วยที่ทนต่อยากลุ่ม opioids และช่วยลด polysynaptic spinal reflexes ได้ ในทางการแพทย์ใช้ ketamine ในการระงับความรู้สึกในผู้ป่วยที่มีอาการปวดอย่างรุนแรง อย่างไรก็ตามอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นจึงทำให้ยานี้ถูกจำกัดการใช้งาน [13-14]
4. ยาเสียสาวแต่ละชนิดอยู่ในร่างกายนานเท่าใด ขับออกทางใด
ครึ่งชีวิต (Half-life) คือระยะเวลาที่ปริมาณสารพิษถูกขับถ่ายหรือทำลายแบบ first order ไปปริมาณครึ่งหนึ่ง (50%) ซึ่งการกำจัดเกือบจะเสร็จสมบูรณ์หลังจากผ่าน 4-5 ครึ่งชีวิตในคนปกติ [15]
ยาในกลุ่ม Benzodiazepines (Midazolam, Alprazolam, Flunitrazepam)
- Midazolam: ยามีครึ่งชีวิตประมาณ 2-3 ชั่วโมง ดังนั้นการกำจัดเกือบจะเสร็จสมบูรณ์หลังจากผ่านไปประมาณ 10-15 ชั่วโมง สามารถขับออกทางปัสสาวะเป็นส่วนใหญ่ประมาณ 90% ใน 24 ชั่วโมง และมีการขับทางอุจจารระเป็นส่วนน้อยประมาณ 2-10% ใน 5 วัน [5], [8], [15]
- Alprazolam: ยามีครึ่งชีวิตประมาณ 12 ± 2 ชั่วโมง ดังนั้นการกำจัดเกือบจะเสร็จสมบูรณ์หลังจากผ่านไปประมาณ 60 ชั่วโมง และถูกขับออกทางปัสสาวะ [6], [8], [15]
- Flunitrazepam ยามีครึ่งชีวิต 10-33 ชั่วโมง ชั่วโมง ดังนั้นการกำจัดเกือบจะเสร็จสมบูรณ์หลังจากผ่านไปประมาณ 50-165 ชั่วโมง ยาถูกขับออกทางปัสสาวะเป็นส่วนใหญ่ (ประมาณ 80%) และขับทางอุจจาระเป็นส่วนน้อย (10%) [7], [15]
GHB
ยามีครึ่งชีวิต 30-60 นาที ดังนั้นการกำจัดเกือบจะเสร็จสมบูรณ์หลังจากผ่านไปประมาณ 2.5-5 ชั่วโมง ยาถูกขับออกทางปอดเป็นหลัก (carbon dioxide) ขับทางปัสสาวะประมาณ <5% ในรูป unchanged drug และขับทางอุจจาระน้อยที่สุด [10], [15]
Ketamine
ยามีครึ่งชีวิตประมาณ: alpha 10-15 นาที, beta 2.5 ชั่วโมง ดังนั้นการกำจัดเกือบจะเสร็จสมบูรณ์หลังจากผ่านไปประมาณ 12.5 ชั่วโมง โดยยาถูกขับออกทางปัสสาวะเป็นส่วนมาก (91%) และอุจจาระเป็นส่วนน้อย (3%) [13], [15]
5. ยาเสียสาวแต่ละชนิดมีอาการข้างเคียง ข้อควรระวัง และไม่ควรใช้ในผู้ใด
อาการข้างเคียงร่วมของยากลุ่ม Benzodiazepines, GHB และ Ketamine เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ง่วงซึม สับสน หลอนประสาท ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ หยุดหายใจ หายใจช้าผิดปกติ หายใจลำบาก เดินเซ ผื่นผิวหนัง ภาวะกระสับกระส่าย พฤติกรรมผิดปกติ เป็นต้น [5-7], [10], [13]
ข้อควรระวังของยากลุ่ม Benzodiazepines, GHB และ Ketamine สามารถทำให้สูญเสียความทรงจำชั่วขณะได้ กดการหายใจ กดระบบประสาท ทำให้เกิด ความดันต่ำ รูม่านตาขยาย น้ำลายไหล น้ำตาไหล ทำให้มีอาการวิตกกังวล กระวนกระวาย ก้าวร้าว ควบคุมตัวเองไม่ได้และมีความคิดอยากฆ่าตัวตาย [5-7], [10], [13] หากใช้ยากลุ่ม Benzodiazepines และ Ketamine ขนาดสูงเป็นระยะเวลานานติดต่อกัน (>10 วัน) อาจทำให้เกิดการติดยาได้ หากหยุดยาทันทีจะเกิดอาการขาดยาหรือถอนยา เช่น คลื่นไส้ นอนไม่หลับ มือสั่น หัวใจเต้นเร็ว ซึมเศร้า เป็นโรคจิต ชักได้ เป็นต้น [5-7], [13] แต่อาการถอนยา GHB ยังไม่มีการศึกษาที่ชัดเจน แต่มีรายงานเกิดอาการถอนยาในผู้ที่ใช้ยาปริมาณมากในทางที่ผิด [10]
ไม่ควรใช้ยากลุ่ม Benzodiazepines, GHB และ Ketamine ใน: สตรีมีครรภ์และระยะให้นมบุตร โดยเฉพาะ 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ (เฉพาะ Midazolam) ผู้ป่วยที่มีสุขภาพไม่สมบูรณ์ เนื่องจากผู้ป่วยเช่นนี้จะมีความไวต่อยามากขึ้น ผู้สูงอายุ เด็ก ผู้ที่เป็นโรคอ้วน ผู้ป่วยที่มีโรคเกี่ยวกับหัวใจ ผู้ป่วยที่มีระบบการหายใจบกพร่องรุนแรง ผู้ป่วยที่เป็นโรคจิตหรือมีอาการซึมเศร้า [5-7], [10], [13] ผู้ที่มีโรคทางเดินปัสสาวะ (เฉพาะ Ketamine) [13]
6. ยาเสียสาวแต่ละชนิดมีปฏิกิริยาของยากับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อะไรบ้าง
หากใช้ยากลุ่ม Benzodiazepines, GHB และ Ketamine ร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (Ethyl) หรือยากล่อมประสาท หรือใช้ในผู้ที่ขาด succinic semialdehyde dehydrogenase (เฉพาะ GHB) จะทำให้ยาออกฤทธิ์กดระบบประสาทมากขึ้น [5-7], [10], [13]
7. วิธีตรวจหายาเสียสาวแต่ละชนิดมีวิธีอะไรบ้าง
กระบวนการตรวจสารเสพติด เริ่มจากการนำแหล่งสารตัวอย่างมาตรวจวิเคราะห์ด้วยนักวิเคราะห์ แล้วตรวจคัดกรองเบื้องต้น หากผลเป็นลบให้รายงานผลการตรวจวิเคราะห์ หากผลบวกหรือผลลบไม่ชัดเจนให้ทำการตรวจยืนยัน แหล่งตัวอย่างสำหรับตรวจสารเสพติด ได้แก่ เลือด ปัสสาวะ (เก็บง่าย มีปริมาณสารสารเสพติดและสารย่อยสลายสูง ระยะเวลาการตรวจพบนานกว่าเลือด) เส้นผม น้ำลาย เล็บ [16]
การตรวจพิสูจน์เบื้องต้น
1) การทดสอบการเกิดสี (Color test) โดยการใช้น้ำยาเคมีเพื่อดูการเปลี่ยนแปลงสีของน้ำยาที่เกิดจากการทำปฏิกิริยาเคมีระหว่างสารนั้นๆ กับน้ำยาเคมี สีที่เกิดขึ้นจะแตกต่างกันตามโครงสร้างของกลุ่มและประเภทของยาเสพติด
การทดสอบการเกิดสีเป็นเทคนิคที่นิยมใช้เนื่องจากเป็นวิธีที่ง่าย ทำให้บ่งชี้เบื้องต้นว่ามีสารหรือกลุ่มของยาเสพติดนั้นๆ หรือไม่ แต่ไม่มีความเฉพาะเจาะจงคืออาจให้สีเดียวกันแม้เป็นสารคนละกลุ่ม จึงจำเป็นต้องตรวจยืนยันผลด้วยวิธีอื่นๆร่วมด้วย และ ต้องทดสอบกับสารมาตรฐานหรือ known sample ร่วมด้วยทุกครั้ง เพื่อควบคุมคุณภาพของน้ำยาทดสอบการเกิดสี
- Benzodiazepines ใช้ reagent Zimmerman test หากผลบวกจะได้สีแดงอมม่วง หรือ ชมพู **Zimmerman test จะไม่ให้ผลบวกกับสารบางตัวในกลุ่ม benzodiazepines เช่น midazolam
- Ketamine ใช้ reagent Modified cobalt thiocyanate หากผลบวกจะได้ตะกอนสีม่วงอ่อนถึงม่วง [9]
2) ชุดทดสอบสารเสพติดในปัสสาวะ [16]
การตรวจคุณภาพวิเคราะห์
1) Thin Layer Chromatography เป็นเทคนิคการแยกสารออกจากกันโดยอาศัยคุณสมบัติการละลายของสารแต่ละชนิดในสารละลายตัวพา (mobile phase) และการดูดซับของสารที่ตัวดูดซับ (stationary phase) ที่แตกต่างกัน ระยะทางที่สารเคลื่อนที่หรือตำแหน่งของสารที่เคลื่อนที่ผ่านตัวดูดซับจะนำมาใช้ประโยชน์ในการวิเคราะห์คุณภาพโดยสารแต่ละชนิดจะมีค่าเฉพาะตัวที่เรียกว่า retardation factor (Rf)
2) Gas Chromatography (GC) หรือ Gas Chromatography/Mass Spectrometry (GC-MS) เป็นเทคนิคที่ใช้สำหรับแยกตัวอย่างที่เป็นสารผสมที่ระเหยได้ ซึ่งสามารถคำนวณและรายงานผลออกมาเป็นโครมาโตแกรม (chromatogram) ให้ทราบถึงองค์ประกอบหรือเทียบปริมาณของสารตัวอย่างได้ กล่าวคือสามารถวิเคราะห์ได้ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ
3) Liquid Chromatography/Mass Spectrometry (LC-MS) เป็นเทคนิคขั้นสูงสำหรับการวิเคราะห์สารที่มีความซับซ้อน ใช้วิเคราะห์สารที่ไม่สามารถวิเคราะห์ได้ด้วยเทคนิค GC-MS ได้ เช่น ไม่ทนความร้อน หรือมีความมีขั้วสูง หรือโมเลกุลใหญ่
4) Fourier Transform Infrared Spectroscopy (FT-IR) เป็นเครื่องมือวิเคราะห์ที่พัฒนามาจากเครื่อง IR Spectrometer เพื่อให้สามารถทำงานได้รวดเร็วขึ้นมีความสามารถในการแยกสูง สามารถวิเคราะห์สารตัวอย่างที่มีในปริมาณน้อยๆได้ โดยการพิจารณาเปรียบเทียบจากอินฟราเรดสเปกตรัมของสารมาตรฐานกับตัวอย่าง [9]
สรุป ยาเสียสาว คือ สารเคมีที่ถูกนำมาใช้ในทางที่ผิด โดยผู้ประสงค์ร้ายแอบลักลอบใช้กับเหยื่อ หวังก่ออาชญากรรม โดยมักใช้ midazolam, alprazolam, flunitrazepam, GHB และ ketamine สารเหล่านี้ไม่สามารถหาซื้อได้ทั่วไป เนื่องจากเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภทที่ 1 และ 2 ซึ่งมีการควบคุมการซื้อขาย
ยาเหล่านี้มีคุณสมบัติที่ทำให้ถูกนำใช้ในทางที่ผิดคือทำให้เกิดอาการมึนงง ง่วงซึม ไม่มีสติ สลบ คลายกังวล หรือทำให้รู้สึกเคลิ้มสุขคล้ายการดื่มแอลกอฮอล์หลังจากรับประทานยาเข้าไป ซึ่งยาสามารถละลายได้ดีในน้ำ ทำให้มีการนำยาเหล่านี้ไปละลายในเครื่องดื่มต่าง ๆ ให้คนดื่มไปโดยที่ไม่รู้ว่ามีการผสมยาลงไป ซึ่งหากใส่ไปในเครื่องดื่มพวกแอลกอฮอล์จะยิ่งเพิ่มการออกฤทธิ์กดระบบประสาทของยาเหล่านี้ และมีผลข้างเคียงทำให้เกิดอาการสูญเสียความทรงจำไปชั่วขณะ จึงอาจทำให้เหยื่อไม่สามารถจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ และอาจเกิดอันตรายถึงชีวิตหากใช้เกินขนาด เนื่องจากมีฤทธิ์การกดการหายใจ

เอกสารอ้างอิง
[1]. กองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข. รู้เท่าทัน ภัยร้ายสังคม ยาเสียสาว. API PCA Content [อินเทอร์เน็ต]. ม.ป.ป. [เข้าถึงเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2564]. เข้าถึงได้จาก: https://mnfda.fda.moph.go.th/dis/api-pca-content/รู้เท่าทัน-ภัยร้ายสังค-2/.
[2]. กระทรวงสาธารณสุข. ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 พ.ศ. 2561. ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 135, ตอนพิเศษ 205 ง (ลงวันที่ 24 สิงหาคม 2561).
[3]. พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2559. ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 133, ตอนที่ 107 ก (ลงวันที่ 20 ธันวาคม 2559).
[4]. กระทรวงสาธารณสุข. ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 พ.ศ. 2561. ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 135, ตอนพิเศษ 205 ง (ลงวันที่ 24 สิงหาคม 2561).
[5]. Midazolam. In: Lexi-Drugs Multinational [database on the Internet]. Hudson (OH): Lexicomp Inc.: 2021 [updated 5 Nov 2021; cited 9 Nov 2021]. Available from: https://online.lexi.com.
[6]. Alprazolam. In: Lexi-Drugs Multinational [database on the Internet]. Hudson (OH): Lexicomp Inc.: 2021 [updated 5 Nov 2021; cited 10 Nov 2021]. Available from: https://online.lexi.com.
[7]. Flunitrazepam. In: Lexi-Drugs Multinational [database on the Internet]. Hudson (OH): Lexicomp Inc.: 2021 [updated 8 Nov 2021; cited 10 Nov 2021]. Available from: https://online.lexi.com.
[8]. Mihic S, Mayfield J, Harris R. Hypnotics and Sedatives. In: Brunton LL, Hilal-Dandan R, Knollmann BC. eds. Goodman & Gilman's: The Pharmacological Basis of Therapeutics, 13e. McGraw Hill; 2017. Accessed November 16, 2021. https://accessmedicine.mhmedical.com/content.aspx?bookid=2189§ionid=169518968.
[9]. ณปภา สิริศุภกฤตกุล, บงกช พันธ์บูรณานนท์. คู่มือการตรวจพิสูจน์ยาเสพติดในของกลางเบื้องต้น. พิมพ์ครั้งที่ 1. นนทบุรี: โอ-วิทย์; 2560.
[10]. Sodium Oxybate. In: Lexi-Drugs Multinational [database on the Internet]. Hudson (OH): Lexicomp Inc.: 2021 [updated 6 Nov 2021; cited 9 Nov 2021]. Available from: https://online.lexi.com.
[11]. Westfall TC, Macarthur H, Westfall DP. Adrenergic Agonists and Antagonists. In: Brunton LL, Hilal-Dandan R, Knollmann BC. eds. Goodman & Gilman's: The Pharmacological Basis of Therapeutics, 13e. McGraw Hill; 2017. Accessed November 14, 2021. https://accessmedicine.mhmedical.com/content.aspx?bookid=2189§ionid=167890123.
[12]. กองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข. จีเฮชบี (GHB) [อินเทอร์เน็ต]. ม.ป.ป. [เข้าถึงเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2564]. เข้าถึงได้จาก: https://mnfda.fda.moph.go.th/narcotic/?p=6050.
[13]. Ketamine. In: Lexi-Drugs Multinational [database on the Internet]. Hudson (OH): Lexicomp Inc.: 2021 [updated 6 Nov 2021; cited 10 Nov 2021]. Available from: https://online.lexi.com.
[14]. Patel HH, Pearn ML, Patel PM, Roth DM. General Anesthetics and Therapeutic Gases. In: Brunton LL, Hilal-Dandan R, Knollmann BC. eds. Goodman & Gilman's: The Pharmacological Basis of Therapeutics, 13e. McGraw Hill; 2017. Accessed November 14, 2021. https://accessmedicine.mhmedical.com/content.aspx?bookid=2189§ionid=170269975.
[15]. Roden DM. Principles of Clinical Pharmacology. In: Jameson J, Fauci AS, Kasper DL, Hauser SL, Longo DL, Loscalzo J. eds. Harrison's Principles of Internal Medicine, 20e. McGraw Hill; 2018. Accessed November 19, 2021. https://accessmedicine.mhmedical.com/content.aspx?bookid=2129§ionid=179924708.
[16]. สุเมธ เที่ยงธรรม. การตรวจหาสารเสพติดในปัสสาวะ [อินเทอร์เน็ต]. นนทบุรี: สำนักยาและวัตถุเสพติด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์; 2559 [เข้าถึงเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2564]. เข้าถึงได้จาก: https://bdn.go.th/attachment/news/download.php?WP=GT1gn2qCqWOchKwtpTggWaplGQEgG2rDqYyc4Uux.

วันที่ตอบ : 23 พ.ย. 64 - 18:04:00




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110