ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
กระดูกพรุน ฉีด Zolennic 4 mg/5 ml

เป็นมะเร็งเต้านมระยะที่ 1 และเป็นกระดูกพรุน ฉีด Zolennic 4 mg/5 ml มีผลข้างเคียงทำให้น้ำหนักลด และการหลั่งกรดในกระเพาะหรือเปล่าคะ ขอบคุณค่ะ

[รหัสคำถาม : 400] วันที่รับคำถาม : 19 ส.ค. 65 - 08:20:11 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

โรคกระดูกพรุนเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ภาวะขาดแคลเซียมและวิตามินดี ภาวะฮอร์โมนพาราไทรอยด์สูง วัยหมดระดู มะเร็งบางชนิด[1] นอกจากนี้ ยาที่ใช้รักษามะเร็งเต้านมบางชนิด เช่น ยากลุ่มยับยั้งการทำงานของเอนไซม์อโรมาเตส (Aromatase inhibitor), tamoxifen อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดการสูญเสียมวลกระดูก เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุนได้[2] ยาสำหรับรักษาโรคกระดูกพรุน เช่น ยากลุ่มบิสฟอสโฟเนต (Bisphosphonate) (ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ เช่น zoledronic acid, pamidronate) ยากลุ่มนี้ยังใช้เป็นยารักษาเสริมในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มีภาวะโรคกระดูกพรุน ภาวะแคลเซียมในเลือดสูงจากโรคมะเร็ง และการกระจายของมะเร็งไปยังกระดูก[3]
Zolennic มีชื่อสามัญทางยาคือ zoledronic acid เป็นยาในรูปแบบสารละลายสำหรับฉีด ขนาด 4 มิลลิกรัมต่อ 5 มิลลิลิตร[4] เป็นยาในกลุ่มบิสฟอสโฟเนต ออกฤทธิ์ยับยั้งการสลายกระดูก โดยยับยั้งการทำงานของเซลล์ที่มีหน้าที่สลายกระดูก (Osteoclasts) หรือสารตั้งต้นของเซลล์ที่มีหน้าที่สลายกระดูก และสามารถยับยั้งการสลายกระดูกที่เกิดจากการกระตุ้นของก้อนมะเร็ง ส่งผลให้ลดระดับของแคลเซียมและฟอสฟอรัสในเลือดได้ ยานี้มีข้อบ่งใช้คือ รักษาภาวะกระดูกพรุน (Osteoporosis) รวมทั้งกระดูกพรุนที่เกิดจากมะเร็งแพร่กระจายไปยังกระดูก ภาวะแคลเซียมในเลือดสูงจากโรคมะเร็ง (Hypercalcemia of malignancy) หรือโรคพาเจท (Paget disease) นอกจากนี้ มีการใช้ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมซึ่งเป็นการใช้ยานอกข้อบ่งใช้ (off-label use) เช่น ลดการสูญเสียมวลกระดูกจากการใช้ยากลุ่มยับยั้งการทำงานของเอนไซม์อโรมาเตสในผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมที่อยู่ในวัยหมดระดู (Postmenopause)[5]
อาการไม่พึงประสงค์ที่อาจพบได้จากยา zoledronic acid เช่น ภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ (Hypocalcemia) กระดูกขากรรไกรตาย (osteonecrosis of the jaw) เป็นต้น[5-6] ส่วนการศึกษาในผู้ป่วยโรคมะเร็ง เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่มีรายงาน เช่น ปวดกระดูก (ร้อยละ 55) เหนื่อยล้า (ร้อยละ 39) ไข้ (ร้อยละ 32-44) คลื่นไส้ (ร้อยละ 29-46) ท้องผูก (ร้อยละ 27-31) ปวดกล้ามเนื้อ (ร้อยละ 23) โลหิตจาง (ร้อยละ 22-33) หายใจลำบาก (ร้อยละ 22-27) วิงเวียนศีรษะ (ร้อยละ 18) ท้องเสีย (ร้อยละ 17-24) น้ำหนักลด (ร้อยละ 16) ปวดท้อง (ร้อยละ 14-16) อาเจียน (ร้อยละ 14-32) ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ (ร้อยละ 12-14) เบื่ออาหาร (ร้อยละ 9-22) ภาวะไตวาย (ร้อยละ 8-15) ไอ (ร้อยละ 12-22) อาการบวมน้ำบริเวณแขนขาส่วนปลาย (ร้อยละ 5-21) เป็นต้น[5]
สำหรับรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์เกี่ยวกับน้ำหนักลด จากการศึกษาแบบสุ่ม (Randomized controlled trial; RCT) ในผู้ป่วยผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะที่ 4 หรือมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดมัยอิโลมา (multiple myeloma) ที่แพร่กระจายไปกระดูก เมื่อประเมินในเดือนที่ 25 พบว่า ร้อยละ 15.3 ของกลุ่มผู้ป่วยได้รับ zoledronic acid 4 มิลลิกรัม (ฉีดเข้าเส้นเลือดดำ ทุก 3-4 สัปดาห์) มีน้ำหนักลดลง และร้อยละ 12.6 กลุ่มที่ได้รับ zoledronic acid 4-8 มิลลิกรัม (ฉีดเข้าเส้นเลือดดำ ทุก 3-4 สัปดาห์) มีน้ำหนักลดลง[7] อย่างไรก็ตาม มีบางการศึกษาไม่พบรายงานเกี่ยวกับน้ำหนักลดจากการใช้ zoledronic acid[8-9] เช่น
1. การศึกษารูปแบบ systematic review และ meta-analysis ที่รวบรวมการศึกษาแบบสุ่ม (Randomized controlled trial; RCT) จำนวน 6 การศึกษา เพื่อประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยากลุ่มบิสฟอสโฟเนต (Bisphosphonate) ในการป้องกันการสูญเสียมวลกระดูกในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะที่ 1-3 ในหญิงวัยหมดระดู และใช้ยากลุ่มยับยั้งการทำงานของเอนไซม์อโรมาเตส อาการไม่พึงประสงค์ที่พบมากกว่าร้อยละ 5 ที่ 12 เดือน คือ ปวดกระดูก ปวดข้อ ปวดหลัง ปวดบริเวณแขนขาส่วนปลาย ปวดกล้ามเนื้อ[8]
2. การศึกษารูปแบบ meta-analysis ที่รวบรวมการศึกษาแบบสุ่ม (Randomized controlled trial; RCT) จำนวน 13 การศึกษา เพื่อประเมินประสิทธิภาพของการใช้ zoledronic acid 4-8 มิลลิกรัม ฉีดเข้าเส้นเลือดดำ ทุก 3-6 เดือน นาน 1-5 ปี เพื่อเป็นการรักษาเสริมในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะเริ่มต้นทั้งเป็นหญิงวัยก่อนหมดระดูและหญิงวัยหมดระดู อาการไม่พึงประสงค์ที่พบจากการใช้ zoledronic acid เมื่อประเมินที่ 12 เดือน โดยเปรียบเทียบกับกลุ่มไม่ใช้ zoledronic เช่น ไข้ (ร้อยละ 23.16 และร้อยละ 2.06; p=0.000) ปวดกระดูก (ร้อยละ 13.31 และร้อยละ 7.11; p=0.000) หนาวสั่น (ร้อยละ 20.59 และร้อยละ 2.78; p=0.001) ไอ ( ร้อยละ 7.17 และร้อยละ 10.83; p=0.026) ซึมเศร้า (ร้อยละ 5.55 และร้อยละ 8.31; p=0.000) ปวดหัว (ร้อยละ 10.21 และร้อยละ 7.54; p=0.001) อาการคล้ายไข้หวัด ( ร้อยละ 32.35 และร้อยละ 11.11; p=0.002) ปวดกล้ามเนื้อ (ร้อยละ 12.77 และร้อยละ 10.40; p=0.011)[9]
โดยสรุป บางการศึกษาพบว่า การใช้ Zolennic ทำให้มีอาการไม่พึงประสงค์เกี่ยวกับน้ำหนักลด แต่บางการศึกษาไม่พบรายงานเกี่ยวกับน้ำหนักลดจากการใช้ zoledronic acid และจากข้อมูลเท่าที่สืบค้นได้จากฐานข้อมูล PubMed ไม่พบรายงานอาการไม่พึงประสงค์ที่เกี่ยวกับการกระตุ้นการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร[5-9]

เอกสารอ้างอิง
[1]. Carolyn B Becker, Adi Cohen. Epidemiology and etiology of premenopausal osteoporosis. In: UpToDate, Post TW (Ed), UpToDate, Waltham, MA; 2022 (Accessed on September 9, 2022).
[2]. Catherine Van Poznak, Daniel F Hayes, Sadhna R Vora. Use of osteoclast inhibitors in early breast cancer. In: UpToDate, Post TW (Ed), UpToDate, Waltham, MA; 2022 (Accessed on September 1, 2022).
[3]. Willium J., Benjamin O, Abraham J. et al. NCCN Clinical Practice Guidelines in Oncology (NCCN Guideline®) Breast cancer 2020. 5th ed: National Comprehensive Cancer Network.
[4]. MIMS Thailand. (2022). Zolennic infusion 4 mg/5 mL. In MIMS Online. https://www.mims.com/thailand/image/info/zolennic%20infusion%204%20mg-5%20ml/4%20mg-5%20ml?id=a1e1b9e2-228e-49a2-92e6-a08b0107f00c
[5]. Lexicomp, Inc. Zoledronic acid: Drug information. In:Post TW, ed.UpToDate.Waltham: UpToDate; 2022 (Accessed on September 1, 2022).
[6]. Zoledronic acid. In: In Depth Answers [database on the Internet]. Greenwood Village (CO): IBM Corporation; 2022 [cited 2022 September 9]. Available from: www.micromedexsolutions.com. Subscription required to view.
[7]. Rosen LS, Gordon D, Kaminski M, Howell A, Belch A, Mackey J, Apffelstaedt J, Hussein MA, Coleman RE, Reitsma DJ, Chen BL, Seaman JJ. Long-term efficacy and safety of zoledronic acid compared with pamidronate disodium in the treatment of skeletal complications in patients with advanced multiple myeloma or breast carcinoma: a randomized, double-blind, multicenter, comparative trial. Cancer. 2003 October 15;98(8):1735-44.
[8]. Anagha PP, Sen S. The efficacy of bisphosphonates in preventing aromatase inhibitor induced bone loss for postmenopausal women with early breast cancer: a systematic review and meta-analysis. J Oncol. 2014;2014:625060.
[9]. Mei M, Xiang Z, Yang J, Xiang R. Efficacy of zoledronic acid for prevention of bone loss in early-stage breast cancer patients receiving adjuvant therapy: A meta-analysis of 13 randomized controlled trials. Curr Probl Cancer. 2020 April;44(2):100507.

วันที่ตอบ : 15 ก.ย. 65 - 11:13:54




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110