ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
มีไขมันในเลือดสูงอยู่แล้วได้รับยา Isitretinoin จะเป็นอันตรายไหมคะ

ก่อนหน้าที่จะไปพบแพทย์ผิวหนัง 1 เดือน ตรวจสุขภาพประจำปี พบไตรกลีเซอไรเ์ และคลอเรสเตอรอล ในเลือดสูง ประมาณ 300 แต่ยังไม่ได้รีบยาลดไขมันในเลือดเพราะขอคุณหมอไว้ค่ะ แต่เมื่อไปหาหมอผิวหนังเรื่องจากใบหน้ามีตุ่มขึ้นหลายจุด ซึ่งเป็นมานานกว่า 1 ปี หมอวินิจฉัยว่า เป็นต่อไขมันโต และให้ยา Isotretinoin 10 mg กิน วันละครั้ง ก่อนนอน ให้มา 60 แค็ป น้ำหนักตัว 60 กก ลองหาข้อมูลในเน็ตข้อมูลบอกว่าไขมันในเลือดสูงไม่ควรรับประทานยานี้ แล้วถ้าทานยาตามหมิสั่งจะเป็นอันตรายไหมคะ หรือไม่ควรกินยานี้ดี เพราะหมอบอกว่าโรคต่อมไขมันโตไม่อันตราย หรือมีวิธีการรักษาอื่นแนะนำไหมคะ

[รหัสคำถาม : 401] วันที่รับคำถาม : 19 ส.ค. 65 - 17:04:53 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

โรคต่อมไขมันโต (Sebaceous hyperplasia) มักเกิดในวัยผู้ใหญ่และส่วนมากเป็นเพศชาย มีรายงานว่าเกิดประมาณร้อยละ 1 ของประชากรที่มีสุขภาพดี[1] สาเหตุเกิดจากต่อมไขมันมีความไวสูงต่อฮอร์โมนแอนโดรเจน เกี่ยวข้องกับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงไปตามอายุที่มากขึ้น ในผู้ชายมักเกิดในช่วงอายุมากกว่า 80 ปี ส่วนในผู้หญิงจะเกิดหลังหมดประจำเดือนจากการลดของระดับฮอร์โมนแอนโดรเจนทำให้การหมุนเวียนของเซลล์ในต่อมไขมัน (sebocyte) ลดลง ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดการเพิ่มจำนวน sebocyte ภายในต่อม[2] ซึ่งโรคต่อมไขมันโตเป็นภาวะที่ไม่อันตรายมักขึ้นหลายตุ่มโดยลักษณะเป็นตุ่มนิ่มสีเหลืองหลายจุด ซึ่งหากสังเกตด้วยการส่องด้วยกล้องส่องผิวหนัง (dermoscope) จะเห็นเป็นก้อนเล็กๆบนใบหน้าบริเวณหน้าผาก แก้ม คาง หรือในลำตัวส่วนบน ซึ่งมีรูปร่างที่ลึกตรงกลางคล้ายสะดือ ขนาดแตกต่างกันตั้งแต่ 2 ถึง 6 มม.[1,2]
สำหรับยา isotretinoin มีกลไกในการลดขนาดต่อมไขมัน และลดการผลิตไขมัน มีข้อบ่งใช้ในการรักษาสิว (Acne vulgaris) ระดับรุนแรงที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาแบบอื่น นอกจากนี้ยังมีข้อบ่งใช้อื่นคือใช้ในมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่ผิวหนัง (Cutaneous T-cell lymphomas) และมะเร็งผิวหนังชนิดสเควมัสเซลล์ (Squamous cell skin cancer) แต่ไม่ได้มีข้อบ่งใช้ในโรคไขมันโต (Sebaceous hyperplasia)[3] ทั้งนี้จากการที่โรคต่อมไขมันโตมีรายงานการเกิดน้อยประมาณร้อยละ 1 ในคนสุขภาพดี[1] ทำให้มีการศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการใช้ยา isotretinoin ในโรคนี้ค่อนข้างน้อย ซึ่งพบข้อมูลการใช้ยา isotretinoin รักษาต่อมไขมันโตจากการศึกษาในผู้ป่วยจำนวน 20 คน ที่ใช้ยา isotretinoin ขนาด 1 mg/kg/day นาน 2 เดือน เมื่อเปรียบเทียบก่อนและหลังใช้ยาพบว่าสามารถลดจำนวนรอยโรคของต่อมไขมันโต (sebaceous hyperplasia) ได้ในผู้ป่วยทุกรายอย่างมีนัยสำคัญ จำนวนรอยโรคเฉลี่ยลดลงจาก 24 จุด เป็น 2 จุด และเมื่อเปรียบเทียบกับหลังหยุดการรักษานาน 2 ปี มีการกลับเป็นซ้ำเฉลี่ยจำนวน 4 จุด การกลับเป็นซ้ำในบางรายนั้นมีรอยโรคที่น้อยกว่าเดิม[4] และจากข้อมูลจากการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบรวบรวม 8 การศึกษา จำนวนคน 32 คน มีการใช้ยา isotretinoin ในขนาด 0.14-1 mg/kg/day นาน 1 สัปดาห์ ถึง 3 เดือน ผลการศึกษาพบว่าสามารถกำจัดรอยโรคได้สมบูรณ์หรือใกล้สมบูรณ์หลังจากรักษาไป 1-12 สัปดาห์ มีผู้ป่วย 1 รายที่มีการกลับเป็นซ้ำหลังจากหยุดการรักษา 3 สัปดาห์[5]
การใช้ยา isotretinoin ในขนาดยาที่แนะนำจะส่งผลให้มีระดับไขมัน VLDL (Very Low Density Lipoprotein) เพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 50-60, LDL (Low Density Lipoprotein) เพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 15-20, คอเลสเตอรอลเพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 15-20, ไตรกลีเซอไรด์เพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 50-70 และ HDL (High Density Lipoprotein) ลดลงจากเดิมร้อยละ 10-20 โดยระดับคอเลสเตอรอลจะเพิ่มขึ้นสูงสุดหลังการใช้ยาภายใน 4 สัปดาห์ ระดับไตรกลีเซอไรด์จะเพิ่มขึ้นสูงสุดหลังการใช้ยาภายใน 4 สัปดาห์ในผู้ชายและภายใน 12 สัปดาห์ในผู้หญิง ทั้งนี้รายงานอาการไม่พึงประสงค์เกี่ยวกับระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงจะขึ้นอยู่กับขนาดยาและพบได้บ่อยเมื่อใช้ในขนาดยามากกว่า 1 mg/kg/day การเกิดอาการไม่พึงประสงค์สัมพันธ์กับระยะเวลาที่ใช้ที่นาน แต่ยังไม่ทราบระยะเวลาของการเกิดที่แน่ชัด แต่หลังหยุดใช้ยาระดับไขมันจะกลับสู่ระดับปกติได้ อาจทำควบคู่กับการจำกัดการบริโภคไขมันและแอลกอฮอล์ หรือการลดขนาดยา[6] ดังเช่นจากการศึกษาข้างต้นพบ 1 รายใน 20 ราย ใช้ยา isotretinoin ขนาด 1 mg/kg/day นาน 2 เดือน มีระดับของไตรกลีเซอไรด์เพิ่มขึ้น ระดับที่สูงขึ้นนั้นสามารถกลับสู่ภาวะปกติหลังจากสิ้นสุดการรักษา 1 เดือนควบคู่ไปกับการควบคุมอาหาร[4] อีกการศึกษาใช้ยา isotretinoin 10 มก./วัน เพื่อรักษาสิว (acne vulgaris) ในผู้ป่วยจำนวน 150 คน ระยะเวลาการรักษาอยู่ระหว่าง 18-24 เดือน พบผู้ป่วย 4 คนจาก 150 คน มีระดับของไขมันในเลือดเพิ่มขึ้น โดยเพิ่มขึ้นน้อยกว่าร้อยละ 20 ของขีดจำกัดบนของค่าปกติ[7] การใช้ยา isotretinoin ต้องระมัดระวังในผู้ที่มีประวัติไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง และต้องตรวจระดับไขมันในผู้ป่วยทุกรายทั้งก่อนรักษาและทุก 1-2 สัปดาห์ โดยทั่วไปจะติดตามในช่วง 4 สัปดาห์แรกของการรักษา และให้หยุดยาในผู้ป่วยที่มีประวัติไตรกลีเซอไรด์สูงที่ไม่สามารถควบคุมระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดให้อยู่ในเป้าหมายได้หรือมีอาการของตับอ่อนอักเสบเกิดขึ้น[6]
โดยสรุป ในกรณีของผู้ถามที่ใช้ยา isotretinoin 10 mg/day มีน้ำหนักตัว 60 กิโลกรัม (คำนวนเป็นขนาดยาได้ 0.17 mg/kg/day) ซึ่งถือว่าเป็นขนาดยาต่ำ จึงคาดว่าน่าจะมีโอกาสทำให้มีระดับไขมันสูงขึ้นน้อยกว่าการใช้ในขนาดยาที่สูง ยานี้ไม่ได้มีข้อห้ามใช้ในผู้ป่วยที่มีระดับไขมันสูง อย่างไรก็ตามหากผู้ป่วยมีโรคไขมันในเลือดสูงและจำเป็นต้องใช้ยา อาจต้องมีการติดตามระดับไขมันในเลือดก่อนการใช้ยา และทุก 1-2 สัปดาห์ ทั้งนี้หากผู้ป่วยเป็นโรคต่อมไขมันโต (Sebaceous hyperplasia) อาจมีการรักษาอื่นที่ไม่ใช้ยา ได้แก่ การเลเซอร์ การผ่าตัดด้วยความเย็น (cryotherapy or cryosurgery) การบำบัดด้วยแสง (photodynamic therapy) หรือการจี้หรือการโกนด้วยไฟฟ้า (electrodesiccation shaving) เป็นต้น[2]

เอกสารอ้างอิง
[1]. North JP, Ruben BS. Cutaneous adnexal tumors TUMORS WITH SEBACEOUS DIFFERENTIATION. In: UpToDate, Post TW (Ed), UpToDate, Waltham, MA. (Accessed on Sep 13, 2022.)
[2]. Farci F, Rapini RP. Sebaceous Hyperplasia. [Updated 2021 Sep 9]. In: StatPearls [Internet]. Treasure Island (FL): StatPearls Publishing; 2022 Jan-. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK562148/.
[3]. Isotretinoin. In: Lexi-Drugs Online [database on the Internet]. Hudson (OH): Lexicomp Inc.: publication year [updated 13 Sep. 2022; cited 14 Sep. 2022]. Available from: https://online.lexi.com/lco/action/doc/retrieve/docid/multinat_f/4668733?cesid=51ZbNRIO3HX&searchUrl=%2Flco%2Faction%2Fsearch%3Fq%3DISOtretinoin%2Bsystemic%26t%3Dname%26acs%3Dtrue%26acq%3Disotret#monograph-tab-content.
[4]. Tagliolatto S, Santos Neto Ode O, Alchorne MM, Enokihara MY. Sebaceous hyperplasia: systemic treatment with isotretinoin. An Bras Dermatol. 2015 Mar-Apr;90(2):211-5.
[5]. Chu S, Michelle L, Ekelem C, Sung CT, Rojek N, Mesinkovska NA. Oral isotretinoin for the treatment of dermatologic conditions other than acne: a systematic review and discussion of future directions. Arch Dermatol Res. 2021 Aug;313(6):391-430.
[6]. Elaine KS. AHFS drug information 2014. United States of America; 2013:3536-7.
[7]. Yap FB. Safety and efficacy of fixed-dose 10 mg daily isotretinoin treatment for acne vulgaris in Malaysia. J Cosmet Dermatol. 2017 Sep;16(3):348-352.
วันที่ตอบ : 07 ต.ค. 65 - 10:26:47




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110