ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
แม่เป็นโรคไตร่วมกับเบาหวาน

สอบถามหน่อยค่ะ พอดีว่าแม่เป็นเบาหวาน และโรคไตเรื้อรัง ไปหาหมอครั้งล่าสุดหมอบอกว่าค่าการทำงานของไตอยู่ที่ 40 ค่ะ น้ำตาลคุณแม่ยังคุมไม่ได้ หมอเลยเพิ่มยาที่ชื่อว่า Empagliflozin 10 mgให้ กิน 1 เม็ด ตอนเช้า ไม่ทราบว่ายานี้คนไข้โรคไตใช้ได้มั้ยคะ

[รหัสคำถาม : 405] วันที่รับคำถาม : 28 ส.ค. 65 - 11:51:05 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

โรคเบาหวานเป็นสาเหตุสำคัญของโรคไตเรื้อรัง การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดที่เหมาะสมในผู้ป่วยเบาหวานมีความสำคัญในการป้องกันและชะลอการเกิดโรคแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานรวมทั้งโรคไต โรคไตเรื้อรังแบ่งได้เป็น 5 ระยะคือ ระยะที่ 1 อัตราการกรองของไตยังปกติ (มากกว่า 90 มิลลิลิตรต่อนาทีต่อ 1.73 ตารางเมตร) ระยะที่ 2 อัตราการกรองของไตลดลงเล็กน้อย (อยู่ในช่วง 60-89 มิลลิลิตรต่อนาทีต่อ 1.73 ตารางเมตร) ระยะที่ 3 อัตราการกรองของไตลดลงปานกลาง (อยู่ในช่วง 30-59 มิลลิลิตรต่อนาทีต่อ 1.73 ตารางเมตร) ระยะที่ 4 อัตราการกรองของไตลดลงมาก (อยู่ในช่วง 15-29 มิลลิลิตรต่อนาทีต่อ 1.73 ตารางเมตร) และระยะที่ 5 อัตราการกรองของไตน้อยกว่า 15 มิลลิลิตรต่อนาทีต่อ 1.73 ตารางเมตร เรียกว่า โรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย[1,2]
...
จากแนวทางการรักษาโรคเบาหวาน ยากลุ่มแรกที่แนะนำให้ใช้ในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังคือ ยา Metformin (ยานี้ห้ามใช้เมื่ออัตราการกรองของไตน้อยกว่า 30 มิลลิลิตรต่อนาทีต่อ 1.73 ตารางเมตร) และยากลุ่ม sodium glucose cotransporter 2 (SGLT2) inhibitors เช่น canagliflozin, dapagliflozin และ empagliflozin แต่หากยังไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดจากการใช้ยาดังกล่าวได้ สามารถเพิ่มยาชนิดอื่น ๆ เพื่อให้ระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในเป้าหมาย โดยจะพิจารณาให้เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละรายและอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ และต้องคำนึงถึงภาวะโรคไตของผู้ป่วยร่วมด้วย[2]
...
Empagliflozin เป็นยารักษาเบาหวานกลุ่ม SGLT2 inhibitor มีข้อบ่งใช้ในการรักษาเบาหวานชนิดที่ 2 (ร่วมกับการออกกำลังกายและการควบคุมอาหาร) และใช้เพื่อลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 และในผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด[3] ขนาดยาโดยทั่วไป คือ รับประทาน 10 มิลลิกรัมต่อวัน ส่วนการใช้ยานอกข้อบ่งใช้ (off-labeled uses) เช่น ใช้ในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังเพื่อชะลอการดำเนินโรคของภาวะโรคไตเรื้อรัง และลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้ป่วยที่เป็นโรคไตเรื้อรัง (ค่าอัตราการกรองของไต 20-90 มิลลิลิตรต่อนาทีต่อ 1.73 ตารางเมตร) โดยใช้ร่วมกับยากลุ่ม renin-angiotensin system inhibitors[4] ในปี ค.ศ. 2020 องค์กรด้านโรคไตในต่างประเทศ (KDIGO) ได้แนะนำแนวทางการจัดการเบาหวานในผู้ที่มีภาวะไตเสื่อมเรื้อรังร่วมด้วย โดยแนะนำให้ใช้ยากลุ่ม SGLT2 ในผู้ป่วยที่มีอัตราการกรองของไตมากกว่า 30 มิลลิลิตรต่อนาทีต่อ 1.73 ตารางเมตร[5] ส่วนสมาคมโรคเบาหวานแห่งสหรัฐอเมริกา (ADA) ได้แนะนำการใช้ยากลุ่มนี้ในผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานที่มีโรคไตร่วมด้วย และมีอัตราการกรองของไตมากกว่าหรือเท่ากับ 25 มิลลิลิตรต่อนาทีต่อ 1.73 ตารางเมตร เพื่อลดการดำเนินโรคของโรคไตเรื้อรัง และลดความผิดปกติเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด[6] ต่อมาในปี ค.ศ. 2022 สมาคมโรคเบาหวานแห่งสหรัฐอเมริกา (ADA) ร่วมกับ KDIGO ได้ปรับเปลี่ยนคำแนะนำการใช้ยากลุ่มนี้ โดยแนะนำการใช้ยากลุ่มนี้ในผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานและเป็นโรคไตเรื้อรังที่มีอัตราการกรองของไตมากกว่า 20 มิลลิลิตรต่อนาทีต่อ 1.73 ตารางเมตร[2] ในปัจจุบัน มีข้อมูลการใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคไตเพิ่มขึ้น เช่น มีรายงานการใช้ยากลุ่มนี้ในผู้ที่มีอัตราการกรองของไตมากกว่า 20 มิลลิลิตรต่อนาทีต่อ 1.73 ตารางเมตร[7] ผลข้างเคียงที่อาจพบจากยานี้ เช่น ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ, ความดันต่ำ, ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะและระบบสืบพันธุ์ เป็นต้น[1,2,8]
...
สำหรับการใช้ยา Empagliflozin ในผู้ป่วยเบาหวานที่มีโรคไตเรื้อรังร่วมด้วย มีการศึกษา เช่น
1) การศึกษาแบบสุ่มซึ่งเปรียบเทียบระหว่างยา empagliflozin ขนาด 10 หรือ 25 มิลลิกรัม กับยาหลอก ในผู้ป่วยเบาหวานที่มีโรคไตเรื้อรังร่วมด้วย โดยวัดการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำตาลสะสมในเลือด (HbA1c) หลังใช้ยาไป 24 สัปดาห์ พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่ได้รับ empagliflozin มีระดับน้ำตาลสะสมลดลง กล่าวคือ 1) ในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นโรคไตเรื้อรังระยะที่ 2 และได้รับ empagliflozin 10 มิลลิกรัม มีการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำตาลสะสมในเลือดจากค่าเริ่มต้นแตกต่างจากยาหลอกร้อยละ 0.52 ในขณะที่ผู้ป่วยที่ได้รับ empagliflozin 25 มิลลิกรัม มีการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำตาลสะสมจากค่าเริ่มต้นแตกต่างจากยาหลอกร้อยละ 0.68 และ 2) ในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานที่มีโรคไตเรื้อรังระยะที่ 3 ที่ได้รับ empagliflozin 25 มิลลิกรัม มีการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำตาลสะสมในเลือดจากค่าเริ่มต้นแตกต่างจากยาหลอกร้อยละ 0.42 ซึ่งแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ทั้งสองกลุ่มมีอาการไม่พึงประสงค์คล้ายคลึงกับยาหลอกหลังใช้ยาไป 52 สัปดาห์ ส่วนใหญ่เป็นความรุนแรงระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง เช่น ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ การติดเชื้อระบบสืบพันธุ์[9]
2) การศึกษาแบบสุ่มซึ่งเปรียบเทียบยา empagliflozin ขนาด 10 มิลลิกรัม กับยาหลอก ในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่มีอัตราการกรองของไต 20 ถึงน้อยกว่า 45 มิลลิลิตรต่อนาทีต่อ 1.73 ตารางเมตร หรือ 45 ถึงน้อยกว่า 90 มิลลิลิตรต่อนาทีต่อ 1.73 ตารางเมตร ที่มีแอลบูมินในปัสสาวะอย่างน้อย 200 มิลลิกรัมต่อกรัม โดยติดตามเป็นระยะเวลา 2 ปี พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่ได้รับ empagliflozin มีการดำเนินไปของโรคไตเรื้อรัง หรือการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดน้อยกว่ากลุ่มยาหลอก คิดเป็นร้อยละ 13.1 และ ร้อยละ 16.9 ตามลำดับ โดยกลุ่มที่ได้รับยา empagliflozin มีความเสี่ยงของการเกิดภาวะดังกล่าวเป็น 0.72 เท่าของกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (95% CI, 0.64-0.82) ส่วนอาการไม่พึงประสงค์ที่พบ มีความคล้ายคลึงกันทั้งสองกลุ่ม[10]
...
จากการที่ยา Empagliflozin สามารถชะลอการดำเนินโรคของภาวะโรคไตบกพร่องเรื้อรัง และลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้ป่วยที่เป็นโรคไตเรื้อรัง จากแนวทางการรักษาดังกล่าวข้างต้น จึงมีการแนะนำให้ใช้ยากลุ่มนี้ในผู้ป่วยเบาหวานที่มีโรคไตเรื้อรังร่วมด้วย[2,4-6] อย่างไรก็ตาม การใช้ยาในผู้ป่วยเบาหวานและเป็นโรคไตเรื้อรัง ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด และควรพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอตามนัด เพื่อติดตามผลการรักษาและอาการไม่พึงประสงค์จากยา

เอกสารอ้างอิง
[1]. สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย. แนวทางเวชปฏิบัติสำหรับโรคเบาหวาน 2560 (Clinical Practice Guideline for Diabetes 2017). กรุงเทพฯ: สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย; 2560.
[2]. De Boer IH, Khunti K, Sadusky T, Tuttle KR, Neumiller JJ, Rhee CM, et al. Diabetes management in chronic kidney disease: a consensus report by the American Diabetes Association (ADA) and kidney disease: Improving Global Outcomes (KDIGO). Kidney Int. 2022 Nov.; 102(5): 974-89.
[3]. U.S. Food & Drug Administration. JARDIANCE® (empagliflozin) tablets, for oral use [online]. Available from: https://www.accessdata.fda.gov.
[4]. Empagliflozin. In: Specipic Lexicomp Online Database [database on the Internet]. Hudson (OH): Lexicomp Inc.: 2023; cite 1 Feb. 2023. Available from: http://online .Lexi.com.
[5]. Kidney Disease: Improving Global Outcomes (KDIGO) Diabetes Work Group. KDIGO 2020 Clinical Practice Guideline for Diabetes Management in Chronic Kidney Disease. Kidney Int. 2020; 98(4S): S1-S115.
[6]. American Diabetes Association. Standards of Medical Care in Diabetes—2022. Diabetes Care 2022; 45(Suppl.1): S1-S264.
[7]. Tuttle KR, Levin A, Nangaku M, et al. Safety of Empagliflozin in patients with type 2 diabetes and chronic kidney disease: pooled analysis of placebo-controlled clinical rials. Diabetes Care. 2022; 45(6): 1445-52.
[8]. นวพร อัศวศักดิ์สกุล, ขจร ตีรณธนากุล. Sugar and kidney, the new era for SGLT2 inhibitor. วารสารสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย. 2561 ก.ค.-ก.ย.; 24(3): 12-9.
[9]. Barnett AH, Mithal A, Manassie J, Jones R, Rattunde H, Woerle HJ, et al. Efficacy and safety of empagliflozin added to existing antidiabetes treatment in patients with type 2 diabetes and chronic kidney disease: a randomised, double-blind, placebo-controlled trial. Lancet Diabetes Endocrinol. 2014 May.; 2(5): 369-84.
[10]. Herrington WG, Staplin N, Wanner C, Green JB, Hauske SJ, Emberson JR, et al. Empagliflozin in Patients with Chronic Kidney Disease. N. Engl. J. Med. 2023 Jan. 12; 388(2): 117-27.

วันที่ตอบ : 22 ก.พ. 66 - 09:59:23




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110