ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
ยาเพรดซิโนโลด

เป็นแพ้ภูมิตัวเองที่ผื่นขึ้นทุกวันค่ะ หมอให้กินเพรด เช้า2เย็น2 2สัปดาห์ แล้วลดเหลือ เช้า1เย็น2 1เดือน และลดเหลือ เย็น1 เม็ด 1เดือน ตอนนี้ปรับเองค่ะ กินก่อนนอน 1เม็ด วันเว้นวัน สลับกับยาแก้แพ้ แต่จะถามว่ากินมานานขนาดนี้จะมีผลเสียระยะยาวไหมค่ะส่งผลกับกระดูกไหม

[รหัสคำถาม : 408] วันที่รับคำถาม : 17 ก.ย. 65 - 15:11:17 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

โรคภูมิคุ้มกันต่อต้านตนเอง (autoimmune disease) คือ โรคที่ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายมีการทำหน้าที่ผิดไปจากปกติ จากเดิมที่มีหน้าที่ต่อสู้กับเชื้อโรค กลับย้อนทำร้ายร่างกายเพราะแยกไม่ออกว่าเซลล์ใดคือเซลล์ปกติของตนเอง กลุ่มโรคภูมิคุ้มกันต่อต้านตนเองจะถูกจำแนกชนิดตามลักษณะอาการที่ปรากฏในอวัยวะต่าง ๆ และชนิดของระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติที่เกี่ยวข้อง โรคภูมิคุ้มกันต่อต้านตนเองมีหลายชนิด และสามารถส่งผลต่อร่างกายได้เกือบทุกส่วน เช่น โรคเอสแอลอี โรคหนังแข็ง โรครูมาตอยด์ โรคผิวหนังและกล้ามเนื้ออักเสบ เป็นต้น[1,2]
...
การรักษาโรคภูมิคุ้มกันต่อต้านตนเองจะขึ้นอยู่กับชนิดและความรุนแรงของโรค เป้าหมายของการรักษาคือ การกดระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายและบรรเทาอาการของโรค ยาที่ใช้ เช่น คอร์ติโคสเตียรอยด์ หรือยากดภูมิคุ้มกันชนิดอื่น ๆ สำหรับบางโรคอาจต้องรักษาไปตลอดชีวิต[1]
...
ยาเพรดนิโซโลน (Prednisolone) เป็นยาในกลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) หรือยาสเตียรอยด์ (Steroids) ซึ่งเป็นสารสังเคราะห์ซึ่งคล้ายกับฮอร์โมนตามธรรมชาติที่ผลิตขึ้นในร่างกายโดยต่อมหมวกไต ยานี้ถูกนำมาใช้ในทางการแพทย์เพื่อรักษาโรคหลายชนิด เช่น ต้านการอักเสบ รักษาอาการแพ้ กดภูมิคุ้มกัน รวมทั้งรักษากลุ่มอาการของโรคลักษณะผิวหนังแดงลูปัสทั่วกาย (systemic lupus erythematosus) เป็นต้น[2,3,4] ขนาดยาที่ใช้จะขึ้นกับชนิดและความรุนแรงโรค และต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิดเท่านั้น เนื่องจากยานี้มีผลข้างเคียงมาก โดยทั่วไปควรใช้ยานี้ในขนาดต่ำสุดที่ยังคงให้ผลในการรักษา และใช้ในระยะเวลาสั้นที่สุดเพื่อลดผลข้างเคียงของยา หากต้องใช้ยาต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ต้องติดตามผลการรักษาและอาการข้างเคียงของยาเป็นระยะ ๆ เมื่อใช้ยาไปจนสามารถควบคุมอาการของโรคได้แล้ว ควรลดขนาดยาให้อยู่ในขนาดต่ำสุดที่สามารถควบคุมอาการของโรคได้ แล้วจึงค่อย ๆ หยุดยา ห้ามหยุดยากะทันหันเพื่อป้องกันอาการถอนยา โดยอาจใช้เวลาเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือนในการค่อย ๆ ลดขนาดยา จนสามารถหยุดยาได้ในที่สุด[4]
...
อาการข้างเคียงจากยาเพรดนิโซโลน ขึ้นอยู่กับขนาดยาที่ได้รับ และระยะเวลาในการใช้ยา อาการข้างเคียงที่พบ เช่น บวมน้ำ อารมณ์แปรปรวน ท้องเสีย และน้ำหนักเพิ่มขึ้น เป็นต้น แต่ถ้าใช้ยาในขนาดสูงหรือใช้ยาต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์หลายอย่างตามมา เช่น ปัญหาเกี่ยวกับดวงตา (เช่น ต้อหิน หรือต้อกระจก) หน้ากลมคล้ายดวงจันทร์ (หน้าคุชชิ่งกอยด์) การสะสมไขมันผิดที่ น้ำตาลในเลือดสูง ติดเชื้อได้ง่าย มีสิว ผิวหนังบาง และกระดูกพรุน เป็นต้น[2,3,4,5]
...
มีการศึกษาเพื่อประเมินภาวะกระดูกพรุนที่เกิดจากเพรดนิโซโลน พบว่า ระยะเวลาการใช้ยานานและการมีขนาดยาสะสมที่สูง (larger cumulative dose) จะเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดภาวะกระดูกพรุน ในการศึกษานี้ กลุ่มตัวอย่างที่มีภาวะกระดูกพรุนจะมีการใช้ยาเพรดนิโซโลนขนาดเฉลี่ยต่อวันเท่ากับ 14.9±12.2 มิลลิกรัม, และใช้ยาเพรดนิโซโลนเป็นระยะเวลาเฉลี่ยนาน 121±242 วัน และมีขนาดยาสะสมเฉลี่ยเท่ากับ 1387±3764 มิลลิกรัม[6]
...
จากการที่โรคภูมิคุ้มกันต่อต้านตนเองมีลักษณะและความรุนแรงของโรคแตกต่างกัน การใช้ยารวมถึงการปรับยาควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด และควรพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอเพื่อติดตามผลการรักษาและอาการไม่พึงประสงค์จากยา

เอกสารอ้างอิง
[1]. MedlinePlus. Autoimmune diseases. 2021. Available at: https://medlineplus.gov/ autoimmunediseases.html. Accessed Feb. 12, 2023.
[2]. สมาคมรูมาติสซั่มแห่งประเทศไทย. เอกสารแนะนำโรคเอสแอลอีสำหรับประชาชน. [5 หน้า]. เข้าถึงได้จาก https://thairheumatology.org/phocadownload/15/TRA_Article_15.pdf. สืบค้นเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2566.
[3]. Prednisolone. In: Specipic Lexicomp Online Database [database on the Internet]. Hudson (OH): Lexicomp Inc.: 2023; cite 30 Jan. 2023. Available from: http://online .Lexi.com.
[4]. National Drug Information. ข้อมูลยาสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ยาเพรดนิโซโลน (Prednisolone) 2.5 มิลลิกรัม ชนิดเม็ด 5 มิลลิกรัม ชนิดเม็ด และชนิดแคปซูล. 2561;[31 หน้า]. เข้าถึงได้จาก http://ndi.fda.moph.go.th/uploads/drug_doc/SPC-Prednisolone-Tablet-19-5-59_edit_13-4-61.pdf. สืบค้นเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2566.
[5]. Mayo Foundation for Medical Education and Research. Prednisone and other corticosteroids. Available at: https://www.mayoclinic.org/steroids/art-20045692. Accessed Feb. 12, 2023.
[6]. Wakabayashi W, Tanaka M, Matsumoto K, Satake R, Inoue M, Yoshida Y, et al. Analysis of Prednisolone-Induced Osteoporosis Using the Japanese Adverse Drug Event Report Database. J. Pharm. Pharm. Sci. 2022; 25: 369-76.

วันที่ตอบ : 22 ก.พ. 66 - 09:58:54




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110