ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
Glycerine borax รักษาหูได้ไหม

Glycerine borax สามารถใช้รักษาขี้หูอุดตันได้ไหม

[รหัสคำถาม : 414] วันที่รับคำถาม : 07 ต.ค. 65 - 16:41:40 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

ขี้หู (cerumen หรือ earwax) เป็นสารที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ช่วยปกป้อง และหล่อลื่นบริเวณช่องหู ผลิตจากต่อมไขมันใต้ผิวหนังที่บริเวณช่องหู และเศษเซลล์ผิวหนังที่หลุดลอก [1,2]
...
ภาวะขี้หูอุดตัน (cerumen impaction) หมายถึง ภาวะที่มีการสะสมของขี้หูที่บริเวณหูชั้นนอก อาจทำให้เกิดการได้ยินลดลงตั้งแต่ 5-40 เดซิเบล เกิดอาการปวดหู หูอื้อ คันหู มีเสียงดังในหู หรือมีกลิ่นเหม็นบริเวณหูได้ โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะขี้หูอุดตัน ได้แก่ การแคะหูเป็นประจำ การเป็นโรคที่บริเวณช่องหู การมีช่องหูแคบทำให้เกิดการสะสมของขี้หู การมีอายุเพิ่มมากขึ้นทำให้ต่อมไขมันฝ่อขี้หูแห้งติดกันเป็นก้อนและกำจัดได้ยากขึ้น การสวมเครื่องช่วยฟังหรือหูฟังเป็นเวลานาน หรือการผลิตขี้หูมากเกินไป [1,2]
...
จากแนวทางการรักษาภาวะขี้หูอุดตันของ The American Academy of Otolaryngology Head and Neck Surgery ค.ศ. 2017 และ The Royal Australian College of General Practitioners ค.ศ. 2015 แนะนำให้ใช้ยาละลายขี้หู (cerumenolytic agents) เป็นทางเลือกแรกในการรักษาภาวะขี้หูอุดตัน เนื่องจากมีประสิทธิภาพในการจำกัดขี้หูดีกว่าการไม่ใช้ยา และมีความปลอดภัยในการใช้ยา [2,3] แต่ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาละลายขี้หูในผู้ป่วยที่มีประวัติการติดเชื้อบริเวณช่องหูหรือผู้ที่มีเยื่อแก้วหูผิดปกติ โดยการใช้ยาละลายขี้หูอาจเกิดการสะสมของยาบริเวณช่องหูได้ ส่งผลให้เกิดการระคายเคืองจึงแนะนำให้ใช้ยาละลายขี้หูไม่เกิน 3-5 วัน [2]
...
ยาละลายขี้หูแบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่ ยาละลายขี้หูที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบหลัก (water-based preparations) ออกฤทธิ์โดยการเพิ่มความชุ่มชื้น ทำให้เกิดการสลายของเซลล์ในขี้หู และทำให้ขี้หูแตกเป็นชิ้นเล็กๆ เช่น docusate sodium, hydrogen peroxide, sodium bicarbonate และยาละลายขี้หูอีกชนิด คือ ยาที่มีน้ำมันเป็นส่วนประกอบ (oil-based preparations) เช่น glycerine borax, olive oil ออกฤทธิ์โดยการหล่อลื่นและทำให้ขี้หูนิ่มลง สามารถนำออกจากช่องหูได้ง่ายขึ้นไม่แตกเป็นชิ้นเล็กๆ ยาทั้งสองกลุ่มมีประสิทธิภาพไม่แตกต่างกันและมีประสิทธิภาพในการกำจัดขี้หูดีกว่าการไม่ใช้ยา [2,4] โดยไม่พบผลข้างเคียงที่รุนแรงจากการใช้ยาละลายขี้หู ผลข้างเคียงที่อาจพบได้ซึ่งเป็นชนิดไม่รุนแรง เช่น เกิดการระคายเคือง และอาการปวดช่องหู ซึ่งพบว่าอาการระคายเคืองช่องหูมักเกิดในผู้ป่วยที่ได้รับยากลุ่มที่มีน้ำมันเป็นส่วนประกอบมากกว่าผู้ป่วยที่ได้รับยากลุ่มที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบหลัก [5,6]
...
จากการสืบค้นไม่พบข้อมูลการศึกษาที่เกี่ยวกับประสิทธิภาพและความปลอดภัยของ glycerine borax ในการกำจัดขี้หูอย่างชัดเจน [2,4] การใช้ยาละลายขี้หูมียาหลายชนิดที่สามารถเลือกใช้ได้ ตัวอย่างยาละลายขี้หูที่มีจำหน่ายในประเทศไทย ได้แก่ docusate sodium ความแรง 5 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร [7]
...
วิธีการใช้ docusate sodium ในการกำจัดขี้หูแนะนำให้ใช้ครั้งละ 5-10 หยด วันละ 2-4 ครั้ง ซึ่งการใช้ยาควรนอนตะแคงให้ยาอยู่ในหูอย่างน้อย 15 นาที ขี้หูจะอ่อนตัวลง จากนั้นแนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อใช้เครื่องมือในการนำขี้หูออกมา หากใช้ยาแล้วเกิดอาการระคายเคืองหรือเกิดผื่นแพ้สัมผัสให้หยุดใช้ยาทันที หลังเปิดใช้ยาแล้ว 30 วันไม่ควรใช้ยาอีกเพราะอาจมีการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ [4] และไม่ควรใช้ยาละลายขี้หูติดต่อกันเกิน 5 วัน [2]
...
เอกสารอ้างอิง
[1] Dinces EA. Cerumen [Internet]. Waltham (MA): UpToDate; 2023 [cited 2023 Nov 11]. Available from: http://www.uptodate.com
[2] Schwartz SR, Magit AE, Rosenfeld RM, Ballachanda BB, Hackell JM, Krouse HJ, et al. Clinical practice guideline (update): earwax (cerumen Impaction). Otolaryngol Head and Neck Surg 2017;156(1):S1-S29.
[3] Poulton S, Yau S, Anderson D, Bennett D. Ear wax management. Aust Fam Physician 2015;44(10):731-4.
[4] Chanasriyotin C, Mahasitthiwat V. Clinical use of otic solution ear drop. Vajira Med J 2017;61(3):225-34.
[5] Aaron K, Cooper TE, Warner L, Burton MJ. Ear drops for the removal of ear wax. Cochrane Database Syst Rev 2018;2018(7):CD012171.
[6] Sridharan K, Sivaramakrishnan G. Cerumenolytics with or without manual extraction for impacted earwax: a network meta-analysis of randomized clinical trials. Clin Otolaryngol 2021;46:464-73.
[7] National drug information. Docusate sodium [Internet]. 2023 [cited 2023 Nov 20]. Available from: https://ndi.fda.moph.go.th/drug_info/index?name=Docusate&brand= &rctype=&drugno=

วันที่ตอบ : 07 ธ.ค. 66 - 15:50:47




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110