ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
คนไข้ thalassemia แฝง

ในคนไข้ที่เป็น thalassemia แฝง สามารถรับประทานเหล็กเสริมได้หรือไม่

[รหัสคำถาม : 417] วันที่รับคำถาม : 21 ต.ค. 65 - 21:53:47 ถามโดย : บุคลากร วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

ภาวะแฝงโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย หรือเรียกว่า พาหะโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียซึ่งเป็นโรคพันธุกรรม ภาวะแฝงหรือพาหะโรคโลหิตจางธารลัสซีเมียนั้น ไม่ถือว่าเป็นโรค ไม่ได้มีผลทำให้เกิดโรคแต่อย่างใด

ภาวะแฝงโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย แบ่งเป็น 2 ชนิด ตามความผิดปกติของการสร้างสารฮีโมโกลบินซึ่งเป็นสารสีแดงในเม็ดเลือดแดง ซึ่งสารฮีโมโกลบินจะประกอบด้วยกลุ่มของโปรตีนที่สำคัญ 2 ชนิดที่เรียกว่า อัลฟ่าและเบต้าโกลบิน ซึ่งโปรตีนเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นโดยยีน หรือรหัสทางพันธุกรรม เมื่อมีความผิดปกติของยีนหรือรหัสพันธุกรรมของโปรตีนเหล่านี้ตัวใดตัวหนึ่งหรือทั้งสองตัว ก็จะทำให้เกิดผิดปกติในแง่ของการสร้างสารฮีโมโกลบินที่มีปริมาณลดลงหรือที่ผิดปกติไป เมื่อมีความผิดปกติของยีนเบต้าหรืออัลฟ่าโกลบินเพียงตัวใดตัวหนึ่ง ภาวะดังกล่าวจะเรียกว่า “ภาวะแฝงโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย” ผลที่เกิดขึ้นทำให้มีการลดลงของการสร้างสารฮีโมโกลบินเพียงเล็กน้อย ดังนั้นจึงไม่มีผลต่อสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย

ในประเทศไทย มีคนที่เป็นภาวะแฝงอัลฟ่าธาลัสซีเมีย ประมาณ 15-20% ในขณะที่มีคนที่เป็นภาวะแฝงเบต้าธาลัสซีเมียประมาณ 3-5%

สำหรับการปฏิบัติตัวและการดูแลผู้ที่เป็นภาวะแฝงโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย เนื่องจากภาวะแฝงโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียเป็นเพียงความผิดปกติในระดับพันธุกรรมและไม่มีผลต่อการเกิดโรค ดังนั้นผู้นั้นจะไม่มีอาการซีด หรืออาการที่รุนแรง หรือเปลี่ยนแปลงกลายไปเป็นโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียที่จำเป็นต้องได้รับเลือด หรือการรักษาใด ๆ ซึ่งผู้ที่เป็นภาวะแฝงโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียหรือพาหะธาลัสซีเมีย จะไม่มีอาการและไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา หรือวิตามินเสริมใด ๆ[1] ในบางครั้งแพทย์มักสั่งจ่ายอาหารเสริมธาตุเหล็กอย่างผิดพลาดให้กับผู้ที่เป็นพาหะธาลัสซีเมีย อาจเป็นเพราะเข้าใจผิดว่าเซลล์เม็ดเลือดแดงที่มีขนาดเล็กของพาหะลักษณะนี้มีภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก วิธีเดียวเท่านั้นที่จะกำหนดความต้องการการเสริมธาตุเหล็กได้อย่างเหมาะสม คือ การตรวจเลือดของผู้ป่วยเพื่อดูระดับธาตุเหล็กในเลือด หากไม่มีความผิดปกติเกี่ยวกับระดับธาตุเหล็กในเลือด การเสริมธาตุเหล็กจึงอาจจะไม่จำเป็นสำหรับผู้ที่เป็นพาหะธาลัสซีเมีย[2]

จากการศึกษา cross-sectional study ของ Yousafzai YM และคณะ พบว่าภาวะแฝงเบต้าธาลัสซีเมีย อาจจะมีระดับ ferritin ที่มีค่าต่ำกว่าปกติ ปกติ หรือสูงกว่าค่าปกติก็ได้ จึงสามารถพิจารณาเสริมธาตุเหล็กได้ตามระดับ ferritin ในเลือดของผู้ป่วยแต่ละราย และจากการศึกษา prospective study ของ Chen N และคณะ พบว่าการเสริมธาตุเหล็กในหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะแฝงเบต้าธาลัสซีเมีย และภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก จะทำให้ hepcidin ที่ทำหน้าที่รักษาสมดุลธาตุเหล็กในร่างกาย สามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติ ทำให้การเสริมธาตุเหล็กในประชากรกลุ่มนี้มีประสิทธิภาพและปลอดภัย[3,4]

ดังนั้นจึงสามารถสรุปได้ว่า การพิจารณาเสริมธาตุเหล็กในผู้ที่เป็นภาวะแฝงโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียนั้น ทำได้โดยการการตรวจเลือดของผู้ป่วยเพื่อดูระดับธาตุเหล็กในเลือด ในกรณีที่พบว่ามีระดับธาตุเหล็กมีค่าน้อยกว่าปกติ จะพิจารณาเสริมธาตุเหล็ก และกรณีที่พบว่าระดับธาตุเหล็กมีค่าปกติ อาจจะไม่จำเป็นต้องได้รับการเสริมธาตุเหล็ก หรือหาต้องการเสริม ก็จะสามารถเสริมได้ในปริมาณตามที่คนปกติทั่วไปรับประทาน

อย่างไรก็ตาม ปกติเราสามารถได้รับธาตุเหล็กจากอาหารที่เรารับประทานในแต่ละวันได้อยู่แล้ว ทั้งจากเนื้อสัตว์และพืช เช่น เนื้อวัว หอยนางรมณ์ หอยแมลงภู่ ปลาทูน่ากระป๋อง ข้าว ถั่วเมล็ดพืช ผักโขม มันฝรั่ง เป็นต้น แต่หากต้องการเสริมธาตุเหล็กจากผลิตภัณฑ์อาหารเสริม สามารถเสริมธาตุเหล็กได้ตามปริมาณที่ RDA (recommended dietary allowance) แนะนำให้เสริมในแต่ละวัน เป็นดังนี้[5]

ขนาดที่แนะนำสำหรับเด็ก
- ช่วงอายุ 7-12 เดือน ขนาดที่แนะนำ คือ 11 มก./วัน
- ช่วงอายุ 1-3 ปี ขนาดที่แนะนำ คือ 7 มก./วัน
- ช่วงอายุ 4-8 ปี ขนาดที่แนะนำ คือ 10 มก./วัน
- ช่วงอายุ 9-13 ปี ขนาดที่แนะนำ คือ 8 มก./วัน
ขนาดที่แนะนำสำหรับผู้หญิง
- ช่วงอายุ 14-18 ปี ขนาดที่แนะนำ คือ 15 มก./วัน
- ช่วงอายุ 19-50 ปี ขนาดที่แนะนำ คือ 18 มก./วัน
- ช่วงอายุ 51 ปีขึ้นไป ขนาดที่แนะนำ คือ 8 มก./วัน
- หญิงตั้งครรภ์ ขนาดที่แนะนำ คือ 27 มก./วัน
- หญิงให้นมบุตรที่อายุน้อยกว่า 19 ปี ขนาดที่แนะนำ คือ 10 มก./วัน
- หญิงให้นมบุตรที่อายุมากกว่า 19 ปี ขนาดที่แนะนำ คือ 9 มก./วัน
ขนาดที่แนะนำสำหรับผู้ชาย
- ช่วงอายุ 14-18 ปี ขนาดที่แนะนำ คือ 11 มก./วัน
- ช่วงอายุ 19 ปีขึ้นไป ขนาดที่แนะนำ คือ 8 มก./วัน

เอกสารอ้างอิง
[1] บุญชู พงศ์ธนากุล. ภาวะแฝงธาลัสซีเมีย คืออะไร ต้องทำอย่างไร. สืบค้นจาก: http://www.tsh.or.th/Knowledge/Details/93. สืบค้นเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2566.
[2] Surface D. What is Thalassemia Trait. Available at: https://www.thalassemia.org/wp-content/uploads/2022/09/WhatIsThalTrait_sm.pdf. Accessed November,14, 2023.
[3] Yousafzai YM, Wahid QUA, Khan S, Mir A, Khan A, Raziq F. Co-existing iron deficiency/overload in beta-thalassemia trait. J Pak Med Assoc. 2019 Jun;69(6):806-810. PMID: 31189286.
[4] Chen N, Li Z, Huang Y, Xiao C, Shen X, Pan S, Su Q, Wang Z. Iron parameters in pregnant women with beta-thalassaemia minor combined with iron deficiency anaemia compared to pregnant women with iron deficiency anaemia alone demonstrate the safety of iron supplementation in beta-thalassaemia minor during pregnancy. Br J Haematol. 2022 Jan;196(2):390-396. doi: 10.1111/bjh.17827. Epub 2021 Sep 25. PMID: 34562018.
[5] Sachdev P. Dietary Iron and Iron Supplements. Available at: https://www.webmd.com/diet/supplement-guide-iron

วันที่ตอบ : 08 ธ.ค. 66 - 14:18:46




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110