ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
ระหว่าง bha กับยา differin ถ้าจะรักษาสิวอุดตันควรเลือกตัวไหนดีคะ

อยากรักษาสิวอุดตันด้วยตัวเองค่ะแต่กําลังเลว่าจะเลือกใช้ตัวไหนดี ก่อนหน้านี้เคยใช้เรตินเอมาสักพักแล้วค่ะ แต่เอฟเฟคท์แรงไปเลยอยากเปลี่ยน รบกวนช่วยแนะนําด้วยนะคะ ขอบคุณล่วงหน้าค่า

[รหัสคำถาม : 425] วันที่รับคำถาม : 28 พ.ย. 65 - 17:56:15 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

สิว หมายถึงไขมันที่จับกันเป็นก้อนแข็งใต้ชั้นผิวหนังแล้วเกิดการอุดตันเนื่องจากไม่สามารถขับผ่านเซลล์ผิวหนังที่จับกันแน่นออกมาได้ หากการอุดตันสมบูรณ์จะทำให้เกิดเป็นสิวอุดตันชนิดหัวขาว (closed comedone หรือ whitehead) แต่หากการอุดตันไม่สมบูรณ์ คือ มีช่องโหว่ของผิวหนัง จะเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันของไขมันและเม็ดสีที่อยู่ในเซลล์ ส่งผลให้เกิดสิวอุดตันชนิดหัวดำ (opened comedone หรือ blackhead) หากมีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย โดยเฉพาะเชื้อ Cutibacterium acnes (C. acnes) จะกระตุ้นให้เกิดการอักเสบ เกิดเป็นสิวอักเสบประเภทต่าง ๆ คือ สิวตุ่มนูนแดง (papules) สิวหัวหนอง (pustule) สิวหัวช้าง (nodule) และถุงสิว (cysts) เมื่อสิวหลุดลอกออกไปจะกลายเป็นรอยแผลเป็นตามมาได้ นอกจากนั้นอาจแบ่งประเภทของสิวตามระดับความรุนแรงได้เช่นกัน โดยพิจารณาจากจำนวนสิวประเภทต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นบนใบหน้า ได้แก่ สิวระดับเล็กน้อย ปาลกลาง หรือรุนแรง เพื่อใช้เป็นแนวทางในการเลือกใช้ยาให้เหมาะสม

การรักษาสิวทุกประเภทมีแนวทางการใช้ยาที่คล้ายคลึงกัน เช่น แนวทางของประเทศสหรัฐอเมริกา คือ American Academy of Dermatology (Guidelines of care for the management of acne vulgaris, 2016) และ NICE guideline Acne vulgaris management (2021) ของประเทศอังกฤษ แนะนำให้ใช้ยาในกลุ่ม retinoid เช่น Retin-A (tretinoin), Differin (adapalene) และ/หรือ benzoyl peroxide เป็นลำดับแรก ซึ่งหากสิวมีความรุนแรงมากขึ้นอาจพิจารณาการให้ยาชนิดรับประทาน เช่น ยาปฏิชีวนะ ร่วมด้วย [1-2]

Differin เป็นชื่อทางการค้าของยา adapalene มีข้อบ่งใช้ในการรักษาสิว จัดเป็นยาในกลุ่ม retinoid เช่นเดียวกับ Retin-A แต่เป็นยารุ่นใหม่ที่พัฒนาขึ้นเพื่อลดการเกิดผลข้างเคียง เช่น ผิวแห้ง ผิวลอก และลดความระคายเคืองจากการใช้ยาให้น้อยลง อย่างไรก็ตามเนื่องจากเป็นยารุ่นใหม่จึงมีราคาที่สูงกว่า Retin-A ยา Differin มีกลไกในการออกฤทธิ์รักษาสิวโดยการควบคุมและปรับเปลี่ยนการทำงานของเซลล์ผิว ทำให้เซลล์จับกันหลวมมากขึ้น เพิ่มการหลุดลอกของเซลล์เยื่อบุผิวและช่วยลดการอักเสบ รูปแบบยามีทั้งครีม เจล และโลชั่น ความเข้มข้นตั้งแต่ 0.1-0.3% ใช้ทาบริเวณที่เป็นวันละครั้ง โดยแนะนำให้ทาก่อนนอน เริ่มจากความเข้มข้นน้อยที่สุดก่อนเพื่อลดการระคายเคืองของผิวหนัง และหากเกิดความระคายเคืองอาจลดความถี่ในการใช้ลง เช่น ใช้วันเว้นวัน ซึ่งในช่วงสองสัปดาห์แรกของการใช้ยาอาจทำให้อาการของสิวแย่ลงได้ แต่จะค่อย ๆ ดีขึ้นและเห็นผลการรักษาที่ชัดเจนใน 8-12 สัปดาห์ นอกจากนี้ควรใช้ครีมกันแดดในตอนกลางวันและหลีกเลี่ยงแสงแดด รวมทั้งอาจใช้ผลิตภัณฑ์เพิ่มความชุ่มชื่นให้แก่ผิวหนัง (moisturizer) ร่วมด้วย สำหรับข้อควรระวัง คือ ไม่แนะนำให้ใช้ยานี้ในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร รวมทั้งควรคุมกำเนิดระหว่างใช้ยา เนื่องจากยามีโครงสร้างร่วมกับ retinoid ที่ทำให้เกิดความผิดปกติต่อทารกในครรภ์ได้ แม้ว่ายาจะซึมเข้ากระแสเลือดเพียงเล็กน้อยก็ตาม [3]

BHA (Beta hydroxy acid) เป็นกรดชนิดหนึ่ง ที่นิยมใช้กันมากที่สุดได้แก่ salicylic acid มีกลไกการออกฤทธิ์ คือ เพิ่มการหลุดลอกของเยื่อบุผิวที่มีความหนา ทำให้บริเวณที่เป็นสิวลอกออก โดยเป็นตัวเลือกสำรองสำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถใช้ retinoid ได้หรืออาจใช้เป็นตัวเสริมในการรักษาหลัก BHA มีทั้งในรูปแบบของครีม เจล โลชั่น และผลิตภัณฑ์ชนิดล้างออก ความเข้มข้นตั้งแต่ 0.5-2% วิธิใช้ คือ ให้ทาบาง ๆ บริเวณที่เป็นสิววันละ 1-3 ครั้ง อาจลดความถี่ในการใช้ลงได้หากเกิดอาการผิวแห้งหรือระคายเคือง สำหรับข้อควรระวัง คือ ห้ามใช้ BHA ในผู้ป่วยที่แพ้ยา salicylate หรือ aspirin และระวังการใช้ในผู้ป่วยโรคตับ ส่วนหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรอาจใช้ได้แต่ไม่ควรใช้เป็นเวลานานและควรใช้ในบริเวณที่จำกัด [4]

หากพิจารณาเปรียบเทียบประสิทธิภาพระหว่างการใช้ยา Differin (adapalene) กับการใช้ BHA (salicylic acid) ในการรักษาสิวอุดตัน เช่น จากการศึกษาของ Zheng และคณะ ศึกษาการใช้ 2% salicylic acid เทียบกับ 0.1% adapalene + 5% benzoyl peroxide ในผู้ป่วยโรคสิวทั้งหมด 31 ราย เป็นระยะเวลา 28 วัน พบว่าในบริเวณที่ใช้ salicylic acid 2% ช่วยลดสิวอุดตันลงได้ 43.1% ส่วนบริเวณที่ใช้ 1% adapalene + 5% benzoyl peroxide ลดสิวอุดตันลงได้ 42.7% โดยไม่พบความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระหว่างยาทั้งสองชนิด (p > 0.05) จึงสรุปได้ว่ายาทั้งสองมีประสิทธิภาพไม่แตกต่างกันในการรักษาสิวอุดตัน แต่อย่างไรก็ตามพบว่า adapalene อาจให้ผลการรักษาที่รวดเร็วกว่า [1,5,6]

ในส่วนของผลข้างเคียงจากใช้ยาทั้งสองชนิดสามารถเกิดขึ้นได้ เช่น ทำให้ผิวแห้ง ผิวลอก ระคายเคือง โดยโอกาสการเกิดผลข้างเคียงจากยาทั้งสองชนิดไม่แตกต่างกัน การจะเลือกใช้ยาชนิดใดอาจพิจารณาจากปัจจัยอื่น ๆ แทน เช่น หากกำลังให้นมบุตร ตั้งครรภ์หรือมีความเสี่ยงในการตั้งครรภ์ ไม่ควรใช้ยา Differin เนื่องจากอาจทำให้เกิดความผิดปกติต่อทารกในครรภ์ได้ ขณะที่ BHA มีข้อห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยาในกลุ่ม salicylate เช่น aspirin หรือมีการทำงานของตับบกพร่อง เป็นต้น [3-6]

โดยสรุปคือสามารถเลือกใช้ยาชนิดใดก็ได้ในการรักษาสิวอุดตัน ไม่ว่าจะเป็น BHA หรือ Diffferin เนื่องจากมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยไม่แตกต่างกัน สำหรับในบริบทของประเทศไทย BHA มักพบผสมอยูในเครื่องสำอางที่แสดงสรรพคุณในการรักษาสิว สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายสินค้าทั่วไป ขณะที่ Differin จัดเป็นยาอันตราย มีจำหน่ายเฉพาะในร้านขายยาที่มีเภสัชกรปฏิบัติงานอยู่เท่านั้น และต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเริ่มใช้ยา

เอกสารอ้างอิง
[1]. American Academy of Dermatology Association. Guidelines of care for the management of acne vulgaris [internet]. 2016 [cited 19 Nov. 2022]. Available from: https://www.aad.org/member/clinical-quality/guidelines/acne.
[2]. National institute for health and care excellent. Acne vulgaris: management [internet]. 2021 [cited 19 Nov. 2022]. Available from: https://www.nice.org.uk/guidance/ng198.
[3]. Adapalene. In: Lexi-drugs online [database on the Internet]. Hudson (OH): Lexicomp, Inc.; 2022 [updated 5 Nov. 2022; cited 19 Nov. 2022]. Available from: http://online.lexi.com. Subscription required to view.
[4]. Salicylic acid. In: Lexi-drugs online [database on the Internet]. Hudson (OH): Lexicomp, Inc.; 2022 [updated 19 Nov. 2022; cited 19 Nov. 2022]. Available from: http://online.lexi.com. Subscription required to view.
[5]. Zheng Y, et al. Efficacy and safety of 2% supramolecular salicylic acid compared with 5% benzoyl peroxide/0.1% adapalene in the acne treatment: a randomized, split-face, open-label, single-center study. Cutan. Ocul. Toxicol. 2019;38(1):48-54.
[6]. Babayeva L, et al. Comparison of tretinoin 0.05% cream and 3% alcohol-based salicylic acid preparation in the treatment of acne vulgaris. J. Eur. Acad. Dermatol. Venereol. 2011;25(3):328-33.


วันที่ตอบ : 30 พ.ย. 65 - 22:03:01




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110