ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
มะม่วงหาว-มะนาวโห่ มีผลกับ ยาWarfarin หรือไม่ อย่างไรคะ

เนื่องจากมีผู้ป่วยรับประทานสมุนไพร มะม่วงหาว-มะนาวโห่, ขิงสด, และยาSimvastatin ทำให้ค่า INR ของผู้ป่วยนี้ สูงขึ้น ซึ่งขิงสดมีการรายงานชัดเจนแล้ว
ว่าทำให้ค่าINRสูงขึ้นได้
แต่ยังไม่มีข้อมูลของยาWarfarin ที่กิดDI กับ มะม่วงหาว-มะนาวโห่ จึงอยากทราบข้อมูลการรายงานที่แน่ชัดค่ะ ขอบคุณค่ะ

[รหัสคำถาม : 426] วันที่รับคำถาม : 28 พ.ย. 65 - 22:19:24 ถามโดย : บุคลากร วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

ยาวาร์ฟาริน (warfarin) เป็นยาต้านการแข็งตัวของเลือดชนิดรับประทาน มีข้อบ่งใช้ในการรักษาและป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน[1] ในการออกฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือด ยาวาร์ฟารินจะไปยับยั้งกระบวนการสร้าง vitamin  K-dependent coagulation factors ในร่างกาย ซึ่งปัจจัยหนึ่งที่สำคัญต่อการตอบสนองต่อยาวาร์ฟาริน ได้แก่ เภสัชพันธุศาสตร์เฉพาะหรือยีนที่ควบคุมการทำงานของเอนไซม์ CYP2C9 ที่ทำหน้าที่ขจัดยาวาร์ฟาริน และยีนที่เป็นตำแหน่งออกฤทธิ์ (receptor) ของยาวาร์ฟาริน คือ Vitamin K2,3-epoxide reductase complex subunit 1 (VKORC1) นอกจากนี้ยังมีปัจจัยทางด้านการใช้ยา สมุนไพร หรือผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่ส่งผลรบกวนต่อยาวาร์ฟารินได้ เช่น ยาสมุนไพร (Herbal) แปะก๊วย (Gingko biloba) โสม (Ginseng) แครนเบอร์รี่ (Cranberry) เป็นต้น ผู้ป่วยที่รับประทานยาวาร์ฟารินต้องมีความระมัดระวังในการรับประทานยา สมุนไพรหรือผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยาชนิดอื่นหรือสมุนไพรร่วมด้วย[2]

มะม่วงหาวมะนาวโห่ มีชื่อสามัญ Carunda or Karonda ชื่อวิทยาศาสตร์ Carissa carandas Linn. วงศ์ Apocynaceae สารสำคัญที่พบในผล คือ แอนโทไซยานิน (anthocyanin) สารประกอบฟีนอลลิก (phenolic) เช่น ฟลาโวนอยด์ (flavonoid) และ ไตรเทอปินอยด์ (triterpenoid)[3] คือ lupeol, ursolic acid urs-12-ene-3β,22β-diol-17-carboxylic acid จากสารสกัดที่ได้จากรากของ C. spinarum และพบสาร lanostane triterpenoid (lanost-5-en3β-ol-21-oic acid (27)) ที่สกัดมาจากผลของ C. carandas[4]

มีการศึกษาการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ (systematic review) รายงานผลกระทบที่ส่งผลต่อเภสัชจลนศาสตร์และเภสัชพลศาสตร์ของยาวาร์ฟาริน กับสมุนไพรและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร พบว่า แอนโทไซยานินมีการเพิ่มฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือด จากผลไม้ที่มีสารแอนโทไซยานินที่สามารถพบในมะม่วงหาวมะนาวโห่ได้เช่นเดียวกัน ซึ่งสารแอนโทไซยานินส่งผลต่อ CYP2C9 และ CYP3A4 โดย CYP2C9 เป็นเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับยาวาร์ฟารินอาจส่งผลให้เพิ่มความเสี่ยงของมีเลือดออก[5] จากการศึกษาในหลอดทดลอง เพื่ออธิบายการยับยั้งของไซโตโครม P450 (2C9) พบว่า ฟลาโวนอยด์เกิดอันตรกิริยาโดยยับยั้งการจับสารตั้งต้นของ CYP2C9 ได้[6] จึงทำให้ทราบได้ว่าการใช้สมุนไพรที่มีสารฟลาโวนอยด์สามารถเกิดอันตรกิริยากับยาวาร์ฟารินที่มียีนที่ควบคุมการทำงานของเอนไซม์ CYP2C9 ได้ อีกทั้งยังมีรายงาน (Case report) แสดงปฏิกิริยาระหว่างยาที่เกิดจากยาวาร์ฟารินและองุ่นมัสคาดีน ในองุ่นมัสคาดีนมีสารฟลาโวนอยด์ในปริมาณมาก ซึ่งสารฟลาโวนอยด์นี้เป็นสารสกัดที่พบได้ในมะม่วงหาวมะนาวโห่เช่นเดียวกัน จากรายงาน พบว่า เมื่อลดปริมาณการรับประทานองุ่นมัสคาดีนทำให้ผู้ป่วยมีค่าการวัดการแข็งตัวของเลือด (INR=2) กลับมาอยู่ในช่วงปกติได้[7] และมีการศึกษาเกี่ยวกับไอโซโฮเพน ไตรเทอปีน (isohopane triterpene) ซึ่งเป็นสารสกัดที่พบได้ในมะม่วงหาวมะนาวโห่ จากการศึกษาพบว่า สารไอโซโฮเพน ไตรเทอปีน สามารถยืดอายุค่าการวัดระยะเวลาที่เลือดจะแข็งตัวเป็นลิ่มเลือด (Prothrombin Time; PT และ Activated Partial Thromboplastin Time; aPTT) [8] นอกจากนี้ยังมีบทความวิชาการในไทยที่ทบทวนวรรณเรื่องปฏิกิริยาระหว่างอาหารกับยาวาร์ฟาริน พบหลักฐานเชิงประจักษ์ทางการแพทย์ของการเกิดอันตรกิริยาระหว่างพืช สมุนไพรที่ส่งผลต่อยาวาร์ฟาริน ยกตัวอย่างเช่น ผลไม้แครนเบอร์รี่มีสารแอนโทไซยานินซึ่งเป็นฟลาโวนอยด์ที่ถูกทำลายโดย CYP2C9 และ CYP3A4 ซึ่งอาจส่งผลให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเกิดเลือดออกผิดปกติ[9] ซึ่งสารแอนโทไซยานินที่พบในผลแครนเบอร์รี่นั้นสามารถพบได้ในผลมะม่วงหาวมะนาวโห่เช่นเดียวกัน

ดังนั้น มะม่วงหาวมะนาวโห่มีผลต่อยาวาร์ฟาริน (warfarin) ทำให้เลือดออกได้ง่ายขึ้น
จึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานมะม่วงหาวมะนาวโห่ ขณะที่มีการรับประทานยา warfarin

เอกสารอ้างอิง
[1.] Warfarin. In: Lexi-drugs online [database on the Internet]. Hudson (OH): Lexicomp, Inc.; 2021 [cited 19 November 2022]. Available from: http://online.lexi.com.
[2.] สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์.แนวทางการรักษาผู้ป่วยด้วยยาต้านการแข็งตัวของเลือดชนิดรับประทาน.[อินเทอร์เน็ต]. 2553 [เข้าถึงเมื่อ 17 พฤษจิกายน 2565]. เข้าถึงได้จาก:
http://www.thaiheart.org/images/column_1292154183/warfarin_Guideline%281%29.pdf.
[3.] สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.มะนาวไม่รู้โห่[อินเทอร์เน็ต].[เข้าถึงเมื่อ 18 พฤษจิกายน 2565].เข้าถึงได้จาก https://medplant.mahidol.ac.th/document/64_Carissa_carandas.pdf.
[4.] Dhatwalia J, Kumari A, Verma R, Upadhyay N, Guleria I, Lal S, et al. Phytochemistry, Pharmacology, and Nutraceutical Profile of Carissa Species: An Updated Review. Molecules. 2021;26(22):7010.
[5.] Tan CSS, Lee SWH. Warfarin and food, herbal or dietary supplement interactions: A Systematic Review. Br J Clin Pharmacol. 2021;87(2):352-374.
[6.] Si D, Wang Y, Zhou YH, Guo Y, Wang J, Zhou H, Li ZS, Fawcett JP. Mechanism of CYP2C9 inhibition by flavones and flavonols. Drug Metab Dispos. 2009 ;37(3):629-34.
[7.] Woodward CJ, Deyo ZM, Donahue KE, Deal AM, Hawes EM. Clinically relevant interaction between warfarin and scuppernongs, a quercetin containing muscadine grape: continued questions surrounding flavonoid-induced warfarin interactions. BMJ Case Rep. 2014;2014:bcr009608.
[8.] Park l, Lee W, Kim H. Antithrombotic and Antiplatelet Activities of New Isohopane Triterpene From the Roots of Rubia akane. Natural Product Commun. 2019;14(7):1-6.
[9.] ประยุทธ์ ภูวรัตนาวิวิธ, ปวีณา สนธิสมบัติ, อิศราวรรณ ศกุนรักษ์, ขวัญชัย รัตนมณี, ระพีพล กุญชร ณ อยุธยา, ชาคริต หริมพานิช, และคนอื่นๆ. ปฏิกิริยาระหว่างอาหารกับ warfarin: ข้อเท็จจริงกับความเชื่อ.ว.เภสัชกรรมไทย [อินเทอร์เน็ต]. 2564 [เข้าถึงเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2565];1-16.เข้าถึงได้จาก http://www.med.nu.ac.th/dpMed/fileKnowledge/321_2021-12-09.pdf.
วันที่ตอบ : 30 พ.ย. 65 - 22:06:49




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110