ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
การประเมินประสิทธิผลของการใช้ยา

Lipitor 10 มิลลิกรัม กินมาประมาณ8ปีแล้วเริ่มมีอาการปวดน่องขวาสมควรเปลี่ยนยายังคับ

[รหัสคำถาม : 428] วันที่รับคำถาม : 30 พ.ย. 65 - 13:58:06 ถามโดย : บุคลากร วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

Lipitor เป็นชื่อทางการค้าของยา Atorvastatin ซึ่งเป็นยาลดไขมันกลุ่ม statins หรือ HMG-CoA reductase inhibitors นำมาใช้ลดไขมันในเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีประโยชน์เพื่อรักษาและป้องกันภาวะหลอดเลือดหัวใจผิดปกติ อีกทั้งยาลดไขมันกลุ่ม statins สามารถลดอัตราการพิการและอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจได้ โดยผลข้างเคียงที่พบบ่อยของยากลุ่มนี้คือ ผลข้างเคียงต่อกล้ามเนื้อซึ่งเป็นผลข้างเคียงที่สำคัญและอาจพบผลข้างเคียงต่อตับได้ นอกจากนี้มีรายงานการพบโปรตีนในปัสสาวะโดยเฉพาะในผู้ที่ได้รับยา rosuvastatin หรือ simvastatin และการรักษาด้วยยากลุ่ม statins เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ประโยชน์ของยากลุ่ม statins มากกว่าความเสี่ยงที่เกิดผลข้างเคียงการใช้ยา(1)
จากการศึกษาในปี 2017 ซึ่งทำการศึกษาเกี่ยวกับความชุกและปัจจัยเสี่ยงของการเกิดอาการผิดปกติต่อกล้ามเนื้อ(myopathy) เช่น เป็นตะคริว ปวดกล้ามเนื้อ จากยา Atorvastatin ในผู้ป่วยจำนวน 200ราย อายุมากกว่า 40ปี ที่ใช้ยา Atorvastatin นานอย่างน้อย 2 สัปดาห์ พบว่าผู้ที่รับประทานยา Atorvastatin ขนาด 10 มิลลิกรัมต่อวัน เกิดอาการผิดปกติต่อกล้ามเนื้อ(myopathy) เพียง 1.4% ในผู้ที่รับประทานยาขนาด 20 มิลลิกรัมต่อวัน เกิดอาการผิดปกติต่อกล้ามเนื้อ 10% และในผู้ที่รับประทานยาขนาด 40 มิลลิกรัมต่อวัน เกิดอาการผิดปกติต่อกล้ามเนื้อ 12.82% และไม่พบผู้ใดเกิดภาวะกล้ามเนื้อสลาย (Rhabdomyolysis)(2) โดยอาการอ่อนเพลีย กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดเมื่อย หรือเป็นตะคริวจากยากลุ่ม statins จะหายหลังจากหยุดใช้ยาหรือลดขนาดยาลง(3)
แนวทางเวชปฏิบัติการรักษาโคเลสเตอรอลในเลือดเพื่อลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้ใหญ่โดยวิทยาลัยโรคหัวใจแห่งอเมริกาและสมาคมโรคหัวใจแห่งอเมริกา(American College of Cardiology/American Heart Association) ปี2013 แนะนำการจัดการความผิดปกติทางกล้ามเนื้อระดับเล็กน้อยถึงปานกลางที่เกิดขึ้นระหว่างการรับการรักษาด้วยยา Atorvastatin ดังนี้(4)
1. หยุดใช้ยาจนกว่าจะประเมินอาการได้ โดยให้ทำการประเมินภาวะที่สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่ออาการทางกล้ามเนื้อ เช่น
- ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์(hypothyroidism)
- การทำงานของตับและไตบกพร่องหรือลดลง
- ความผิดปกติของโรคไขข้อ เช่น โรคปวดกล้ามเนื้อหลาย ส่วน(polymyalgia rheumatica)
- โรคกล้ามเนื้ออักเสบจากสเตียรอยด์ (steroid myopathy)
- การขาดวิตามินดี
- โรคจากกล้ามเนื้อโดยตรง
2. เมื่ออาการทางกล้ามเนื้อหายแล้ว และหากผู้ป่วยไม่มีข้อห้ามใช้ยา atorvastatin ให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ยา atorvastatin ขนาดเดิมหรือขนาดที่ต่ำกว่าเดิมเพื่อประเมินความสัมพันธ์ระหว่างการเกิดอาการทางกล้ามเนื้อกับการใช้ยา atorvastatin ของผู้ป่วยรายนี้
3. หากอาการทางกล้ามเนื้อที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการใช้ยา atorvastatin ให้ยุติการใช้ atorvastatin
4. หลังจากอาการทางกล้ามเนื้อดีขึ้น อาจใช้ยาตัวอื่นในกลุ่ม statins ในขนาดต่ำ และค่อยๆเพิ่มขนาดยาขึ้นหากทนได้
5. หากมียังอาการทางกล้ามเนื้อหรือระดับ creatine phosphokinase ยังสูงหลังจากที่ไม่ได้ใช้ยาในกลุ่ม statins 2 เดือน ให้พิจารณาสาเหตุอื่นดังข้อพิจารณาที่เขียนไว้ด้านบน หากพิจารณาแล้วว่าเกิดจากภาวะอื่นที่ไม่ใช่สาเหตุจากการใช้ยากลุ่ม statins อาจกลับมารักษาด้วยยากลุ่ม statins ตัวเดิมในขนาดเดิม
กรณีมีอาการทางกล้ามเนื้ออย่างรุนแรงหรืออ่อนล้าระหว่างการใช้ยานี้โดยไม่มีสาเหตุอื่นมาอธิบายได้ ให้หยุดใช้ยาและควรรีบปรึกษาแพทย์ผู้สั่งใช้ยา

เอกสารอ้างอิง
(1) Rosenson RS. Statins: Actions, side effects and administration. In: UpToDate, Post, TW (Ed), UpToDate, Waltham, MA, 2022.
(2) Manoj K, Jain N, Madhu SV. Myopathy in Patients Taking Atorvastatin: A Pilot Study. Indian J. Endocrinol. Metab. 2017;21(4):504–9.
(3) Tournadre A. Statins, myalgia, and rhabdomyolysis. Joint Bone Spine. 2020;87(1):37–42.
(4) Statin Safety and Associated Adverse Events: A Scientific Statement From the American Heart Association [Internet]. [cited 2022 Nov. 24]. Available from: https://www.ahajournals.org/doi/epub/10.1161/ATV.0000000000000073.

วันที่ตอบ : 01 ธ.ค. 65 - 15:20:52




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110