ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
กินยาคุมยังไม่หมดแผงแต่มีเลือดออก ไม่แน่ใจว่าเป็นประจำเดือนหรือไม่

เพิ่งทานยาคุมเป็นแผงแรกค่ะ ยี่ห้อ Minidoz แบบ 24+4 ทานตรงเวลาทุกวันค่ะ

1. ทานมาได้ 22 เม็ดแล้วมีเลือดออก แบบนี้สามารถทานที่เหลือต่อไปตามปกติหรือไม่คะ แล้วขึ้นแผงต่อไปเมื่อไรคะ

2. ถ้าหากเลือดนี้เป็นประจำเดือน (เม็ดที่ 22 ยังเหลือเม็ดฮอร์โมนอีก 2 เม็ด) แล้วช่วง 4 เม็ดที่ประจำเดือนควรจะมา จะมาอีกรอบหรือไม่คะ หรือจะหายไปเลย
แล้วถ้าประจำเดือนหายไปเลยก็ขึ้นแผงต่อไปเมื่อหมดแผงนี้เลยหรือเปล่าคะ จะมีผลอะไรกับการคุมกำเนิดหรือไม่คะ

ขอบคุณมากค่ะ

[รหัสคำถาม : 432] วันที่รับคำถาม : 01 ธ.ค. 65 - 18:01:59 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

ยาเม็ดคุมกำเนิดแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ชนิดโปรเจสเตอโรนเดี่ยว (progestin-only contraceptives) และชนิดฮอร์โมนรวม (combination contraceptives หรือ combined pills) โดยยาคุมกำเนิดยี่ห้อ Minidoz® จัดเป็นยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม ซึ่งประกอบด้วย Ethinylestradiol 15 ไมโครกรัม (ปริมาณเอสโตรเจนในขนาดต่ำ) และ Gestodene 60 ไมโครกรัม เมื่อรับประทานยาคุมกำเนิดเข้าไปในร่างกาย ยาจะไปยับยั้งการตกไข่ ทำให้มีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันการ ตั้งครรภ์ และสามารถลดการสร้างเมือกและเพิ่มความหนืดของเมือกปากมดลูก ทำให้ตัวอสุจิไม่สามารถเดินทางไปปฏิสนธิกับไข่ได้ ตลอดจนทำให้เยื่อบุมดลูกไม่พร้อมที่จะรับการฝังตัวของตัวอ่อน [1-2] โดยการออกฤทธิ์ของยาคุมกำเนิดจะเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อรับประทานยาเม็ดแรกและต้องรับประทานต่อเนื่องไปเรื่อยๆ จนหมดแผง จึงจะมีฤทธิ์คุมกำเนิดได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งยาคุมกำเนิดยี่ห้อ Minidoz® รูปแบบ 28 เม็ด ประกอบด้วย ยาเม็ดฮอร์โมน 24 เม็ด และยาเม็ดที่ไม่มีฮอร์โมน 4 เม็ด [1-2]
.
การรับประทานยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมที่มีปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำ (≤20 ไมโครกรัม) ทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่พบบ่อยที่สุด ได้แก่ เลือดออกทางช่องคลอดแบบกะปริบกะปรอยนอกช่วงรอบประจำเดือน 8.0%, ภาวะขาดประจำเดือน 4.5%, ปวดศีรษะ 2.9%, ตึงคัดเต้านม 1.3% และคลื่นไส้ 1.1% ซึ่งภาวะเลือดออก ถือเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้หญิงหยุดรับประทานยาคุมกำเนิดถึง 1.1% [8] โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงแรก (3 แผงแรก) ของการรับประทานยาจะพบภาวะเลือดออกได้บ่อย และหลังจากนั้นปริมาณของเลือดออกนอกช่วงรอบเดือนจะค่อยๆลดลง [3-4] ภาวะเลือดออกนอกช่วงรอบเดือนมักเกิดในคนที่รับประทานยาคุมกำเนิดชนิดที่มีปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำ (ethinyl estradiol ≤20 ไมโครกรัม/เม็ด) มากกว่าชนิดที่มีปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนสูง (ethinyl estradiol ≥30 ไมโครกรัม/เม็ด) [2-3,7-8] อีกทั้งภาวะเลือดออกทางช่องคลอดสามารถเกิดจากสาเหตุอื่นได้ เช่น การที่เยื่อบุโพรงมดลูกฝ่อเนื่องจากการรับประทานยาไม่ถูกต้อง ไม่ตรงเวลา หรือลืมรับประทานยา และยังไม่มีหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่า ภาวะเลือดออกทางช่องคลอดจากการรับประทานยาคุมกำเนิดทำให้ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดลดลง ถ้าหากผู้ป่วยรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ (ไม่ลืมรับประทานยา
และรับประทานในเวลาเดียวกันทุกวัน) [2-3]
.
สรุปได้ว่า ภาวะเลือดออกทางช่องคลอดที่เกิดขึ้นไม่ใช่เลือดประจำเดือน แต่เป็นผลข้างเคียงที่เกิดจากการเริ่มรับประทานยาคุมกำเนิดในช่วงแรกๆ ซึ่งไม่ได้มีอันตรายต่อร่างกาย และเมื่อรับประทานยาไป 3-4 แผง ภาวะเลือดออกดังกล่าวจะเกิดลดลง [3-4] โดยสามารถรับประทานยาคุมกำเนิดที่เหลือต่อไปได้ และให้เริ่มรับประทานแผงต่อไปเมื่อ
รับประทานแผงแรกหมดได้ทันที ซึ่งในช่วง 4 เม็ดหลังที่ไม่มีฮอร์โมน ประจำเดือนจะมาตามปกติ แต่ถ้าหากประจำเดือนไม่มา สามารถเริ่มรับประทานยาแผงต่อไปได้ตามปกติ โดยไม่ได้ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดแต่อย่างใด หากรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ (ไม่ลืมรับประทานยาและรับประทานในเวลาเดียวกันทุกวัน) แต่ถ้าหาก
รับประทานยาคุมกำเนิดไป 3-4 แผงแล้ว ยังมีเลือดออกผิดปกติอยู่ ควรทบทวนการรับประทานยาว่ารับประทานอย่างถูกต้องหรือไม่ หากรับประทานอย่างถูกต้อง แต่ยังมี
เลือดออกหรือรู้สึกไม่สบายใจ อาจปรึกษาเภสัชกรเพื่อเปลี่ยนมารับประทานยาคุมกำเนิดชนิดที่มีปริมาณของเอสโตรเจนเพิ่มขึ้น ยกเว้นในกรณีที่ภาวะเลือดออกมีความรุนแรงมากขึ้นหรือผิดปกติไปจากเดิมอย่างเห็นได้ชัด ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุเพิ่มเติมต่อไป [2,4]

เอกสารอ้างอิง
[1] MIMS. Ethinylestradiol + Gestodene. [Internet]. Singapore: MIMS; 2021 [cited 2022 Nov. 17]. Available from: https://www.mims.com/thailand/drug/info/ethinylestradiol%20+%20gestodene.
[2] Edelman A, Kaneshiro B. Evaluation and management of unscheduled bleeding in individuals using hormonal contraception [Internet]. Waltham (MA): UpToDate; 2022 [cited 2022 Nov. 17]. Available from: http://www.uptodate.com.
[3] Roe AH, Bartz DA, Douglas PS. Combined estrogen-progestin contraception: Side effects and health concerns [Internet]. Waltham (MA): UpToDate; 2022 [cited 2022 Nov. 17]. Available from: http://www.uptodate.com.
[4] Centers for Disease Control and Prevention. U.S. Selected Practice Recommendations for Contraceptive Use [Internet]. 2016 [cited 2022 Nov. 17]. Available from: https://www.cdc.gov/mmwr/volumes/65/rr/rr6504a1.htm.
[5] Ethinylestradiol [Ethinyl Estradiol] and Gestodene [Internet]. Hudson (OH): Lexi-Comp; 2022 [cited 2022 Nov. 17]. Available from: http://online.lexi.com.
[6] Brown J, Shvartsman K. Current Medical Diagnosis & Treatment 2023 [Internet]. 62nd ed. New York: McGraw-Hill; 2023. [cited 2022 Nov. 17]. Available from: https://accessmedicine.mhmedical.com/content.aspx?bookid=3212§ionid=269156076.
[7] Gallo MF, Nanda K, Grimes DA, Lopez LM, Schulz KF. 20 µg versus >20 µg estrogen combined oral contraceptives for contraception. Cochrane Database of Syst. Rev. 2013;8: CD003989.
[8] Hernádi L, Marr J, Trummer D, De Leo V, Petraglia F. Efficacy and safety of a low-dose combined oral contraceptive containing drospirenone 3 mg and ethinylestradiol 20 mcg in a 24/4-day regimen. Contraception. 2009;80(1):18-24.
.
วันที่ตอบ : 04 ธ.ค. 65 - 22:45:47




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110