ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
ยา Zyrtec, Consinut, Bisolvon มีผลต่อยาคุม Yasmin ไหม

ตอนนี้รับประทานยาคุม Yasmin อยู่ ทานมาจะครบปีแล้ว แต่ตอนนี้เป็นหวัดต้องทานยา Zyrtec Consinut และ Bisolvon จะมีผลต่อประสิทธิภาพของยาคุมกำเนิด Yasmin ไหมคะ

[รหัสคำถาม : 433] วันที่รับคำถาม : 01 ธ.ค. 65 - 19:58:00 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

โรคหวัดเป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส rhinovirus อาการที่พบ เช่น เจ็บคอ จาม น้ำมูกไหล รู้สึกไม่สบายตัว และอาจมีไข้ ในช่วงแรกน้ำมูกจะเป็นน้ำใส และอาจมีจำนวนมาก หลังจากนั้น สารคัดหลั่งจะหนาขึ้น ขุ่น มีสีเหลืองเขียว ปริมาณน้อยลง บางรายอาจมีอาการไอ โรคหวัดมักจะหายไปภายใน 4 ถึง 10 วัน [1] การรักษาโดยทั่วไปจะเป็นการใช้ยาบรรเทาอาการ เช่น พาราเซตามอล หรือยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) สำหรับลดไข้, ใช้ยาฟีนิลเอฟรีน (phenylephrine) หรือซูโดเอฟีดรีน (pseudoephedrine) สำหรับบรรเทาอาการคัดจมูก [2] หรือใช้ยาพ่นจมูกเช่น ยาออกซี่เมตาโซลีน (oxymetazoline) หรือ ยาฟีนิลเอฟรีน (phenylephrine) แต่ไม่ควรใช้เกิน 2-3 วันเพื่อป้องกันการเกิดอาการคัดแน่นจมูกที่เป็นมากกว่าเดิม (rebound congestion) [3]
.
ยาแก้แพ้สำหรับลดน้ำมูกในโรคหวัด ควรใช้ยาในกลุ่มต้านฮีสตามีนรุ่นแรก (first-generation antihistamines หรือ sedating antihistamines) เช่น chlorpheniramine, brompheniramine, diphenhydramine ส่วนยาต้านฮีสตามีนรุ่นที่สอง (second-generation antihistamines หรือ non-sedating antihistamine) เช่น loratadine, cetirizine มีข้อบ่งใช้ในการบรรเทาอาการต่าง ๆ ที่มีสาเหตุจากการแพ้ เช่น โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (allergic rhinitis) [4] จากแนวทางการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผลในประเทศไทย แนะนำว่า ไม่ควรใช้ยาต้านฮีสตามีนรุ่นที่สองในการบรรเทาอาการหวัด เนื่องจากไม่มีประสิทธิผล [5]
.
Zyrtec® มีชื่อสามัญทางยาว่า cetirizine dihydrochloride เป็นยาต้านฮีสตามีนรุ่นที่สอง มีข้อบ่งใช้ที่ได้การรับรองจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา คือ ใช้บรรเทาอาการต่าง ๆ จากโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้หรือลมพิษเรื้อรัง อาการข้างเคียงที่อาจพบได้ เช่น ง่วงซึม มึนงง เมื่อยล้า [6]
.
Consinut® ประกอบด้วยตัวยา 2 ชนิด คือ pseudoephedrine HCl และ chlorpheniramine maleate [7] โดย pseudoephedrine เป็นยาลดอาการคัดจมูก (decongestant) อาการข้างเคียงที่อาจพบจากยานี้เช่น คลื่นไส้ อาเจียน หัวใจเต้นผิดปกติ ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ นอนไม่หลับ อ่อนเพลีย [8] ส่วน chlorpheniramine maleate ซึ่งเป็นยาต้านฮีสตามีนรุ่นแรก มีอาการข้างเคียง เช่น ง่วงซึม สับสน มองเห็นภาพไม่ชัด ปากแห้ง ท้องผูก และปัสสาวะลำบาก โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ [9]
.
Bisolvon® มีชื่อสามัญทางยาว่า bromhexine เป็นยาละลายเสมหะ (mucolytic) มีข้อบ่งใช้ตามองค์การอาหารและยาของไทยคือ สำหรับละลายสารคัดหลั่งในโรคหลอดลมปอดอักเสบชนิดเฉียบพลันและเรื้อรัง อาการข้างเคียงที่อาจพบได้เช่น ปวดท้อง ปวดศีรษะ มึนงง คลื่นไส้ ท้องเสีย [10]
.
สำหรับประสิทธิภาพของยาในกลุ่มยาต้านฮีสตามีน ในการบรรเทาอาการจากโรคหวัด มีการศึกษา เช่น
1) การศึกษาเชิงทดลองแบบสุ่มที่มีการควบคุม (randomized controlled trial) เพื่อประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยของการใช้ยา paracetamol, chlorphenamine และ phenylephrine ร่วมกันในการรักษาอาการไข้หวัดและอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มตัวอย่าง 146 ราย อายุ 18-60 ปี พบว่า ผลรวมคะแนนของอาการ 10 อาการ (ได้แก่ จาม น้ำมูกไหล คัดจมูก ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ ไม่สบายคอ เจ็บคอ เสียงแหบ ไอ และมีไข้) ในกลุ่มที่ได้รับยา paracetamol, chlorphenamine และ phenylephrine ลดลงมากกว่ากลุ่มยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ส่วนอาการไม่พึงประสงค์มีความคล้ายคลึงกันทั้งสองกลุ่ม [11]
2) มีรายงานซึ่งรวบรวมผลจาก 18 การศึกษา ซึ่งประเมินประสิทธิภาพยากลุ่มต้านฮีสตามีนรุ่นแรกหรือรุ่นสอง โดยใช้แบบเดี่ยว ๆ เปรียบเทียบกับยาหลอก ในผู้ป่วยโรคไข้หวัดจำนวน 4,342 ราย (เป็นเด็ก 212 ราย) เมื่อประเมินอาการ (เช่น คัดจมูก น้ำมูกไหล และจาม) พบว่า ยาต้านฮีสตามีนจะมีประโยชน์ในช่วงสั้น ๆ กล่าวคือ ในสองวันแรก ยาต้านฮีสตามีนสามารถบรรเทาอาการได้ร้อยละ 45 ของกลุ่มที่ได้รับยา เทียบกับร้อยละ 38 ในกลุ่มยาหลอก (OR 0.74, 95%CI 0.60-0.92) แต่ไม่พบความแตกต่างระหว่างกลุ่มเมื่อใช้ยาในระยะกลาง (3-4 วัน) ถึงระยะยาว (6-10 วัน) ถึงแม้ว่าเมื่อประเมินในวันที่สาม ยาต้านฮีสตามีนรุ่นแรกจะมีผลลดน้ำมูกและอาการจามได้มากกว่ายาหลอกเล็กน้อย แต่การศึกษานี้สรุปว่า ผลดังกล่าวไม่มีนัยสำคัญทางคลินิก [12]
.
Yasmin เป็นยาคุมกำเนิดชนิดรับประทานซึ่งประกอบด้วยตัวยา 2 ชนิดคือ ethinylestradiol และ drospirenone จากการสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับอันตรกิริยาของยา ethinylestradiol และ drospirenone กับยาอีก 3 ชนิดดังกล่าวข้างต้น ไม่พบข้อมูลเกี่ยวกับการเกิดอันตรกิริยาระหว่างยาเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม ยาที่ใช้ในโรคหวัดเป็นยาที่ใช้เพื่อบรรเทาอาการเท่านั้น ควรใช้ยาเท่าที่จำเป็น หากอาการดีขึ้นแล้วสามารถหยุดยาได้ และควรพักผ่อนให้เพียงพอ จากแนวทางการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผลในประเทศไทย ไม่แนะนำให้ใช้ยาต้านฮีสตามีนรุ่นที่สองในการบรรเทาอาการของโรคหวัด [13]

เอกสารอ้างอิง
[1]. Brenda L. Tesini. Merck Manual: Common cold. 2022. [Cited 2022 Nov. 28]. Available from: https://www.merckmanuals.com/home/infections/respiratory-viruses/common-cold.
[2]. Amdur, Rachel L., and Jeffrey A. Linder. Harrison's Principles of Internal Medicine, 21e Eds: Upper Respiratory Symptoms, Including Earache, Sinus Symptoms, and Sore Throat. 2022. [Cited 2022 Nov. 28]. Available from: https://accessmedicine.mhmedical.com/content.aspx?sectionid=262791875&bookid=3095&Resultclick=2.
[3]. Kozin, Elliott D. and Lawrence R. Lustig. Current Medical Diagnosis & Treatment 2023 Eds: Infections of the Nose & Paranasal Sinuses. [Cited 2022 Nov. 28]. Available from: https://accessmedicine.mhmedical.com/content.aspx?bookid=3212§ionid=269164654.
[4]. Histamine H1 Antagonists, Second Generation. In: Lexi-drugs online [database on the Internet]. Hudson (OH): Lexicomp, Inc.; 2022 [updated 13 Dec. 2021; cited 28 Nov. 2022]. Available from: https://online.lexi.com/lco/action/doc/retrieve/docid/lexier/1188959?cesid=67X3rTY6cm3&searchUrl=%2Flco%2Faction%2Fsearch%3Fq%3Dsecond%2Bgeneration%2Bantihistamine%26t%3Dname%26acs%3Dtrue%26acq%3Dsecond#bak.
[5]. องค์การอาหารและยา. แนวทางการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผลในประเทศ. [เข้าถึงเมื่อ 28 พ.ย. 2565]. เข้าถึงได้จาก: https://www.fda.moph.go.th/sites/drug/Shared%20Documents/RationalDrugUse/RDU05.pdf.
[6]. Cetirizine. In: Lexi-drugs online [database on the Internet]. Hudson (OH): Lexicomp, Inc.; 2022 [updated 23 Nov. 2022; cited 28 Nov. 2022]. Available from: https://online.lexi.com/lco/action/doc/retrieve/docid/multinat_f/6496768?cesid=5gUoJhTxLIQ&searchUrl=%2Flco%2Faction%2Fsearch%3Fq%3DZyrTEC%26t%3Dname%26acs%3Dtrue%26acq%3Dzyr#.
[7]. MIMs Online Thailand. Consinut [Internet]. 2022. [Cited 2022 Nov. 28]. Available from: https://www.mims.com/thailand/drug/info/consinut.
[8]. Pseudoephedrine. In: Lexi-drugs online [database on the Internet]. Hudson (OH): Lexicomp, Inc.; 2022 [updated 22 Nov. 2022; cited 28 Nov. 2022]. Available from: https://online.lexi.com/lco/action/doc/retrieve/docid/multinat_f/4669042?cesid=8HRHrenKVhh&searchUrl=%2Flco%2Faction%2Fsearch%3Fq%3Dpseudoephedrine%26t%3Dname%26acs%3Dtrue%26acq%3Dpseudo#.
[9]. Chlorpheniramine. In: Lexi-drugs online [database on the Internet]. Hudson (OH): Lexicomp, Inc.; 2022 [updated 17 Nov. 2022; cited 28 Nov. 2022]. Available from: https://online.lexi.com/lco/action/doc/retrieve/docid/multinat_f/4669777?cesid=0d64oFGzSu9&searchUrl=%2Flco%2Faction%2Fsearch%3Fq%3Dchlorpheniramine%2Bmaleate%26t%3Dname%26acs%3Dtrue%26acq%3Dchlorp.
[10]. Bromhexine. In: Lexi-drugs online [database on the Internet]. Hudson (OH): Lexicomp, Inc.; 2022 [updated 3 Oct. 2022; cited 28 Nov. 2022]. Available from: https://online.lexi.com/lco/action/doc/retrieve/docid/multinat_f/4670334?cesid=aga9MHUmn2F&searchUrl=%2Flco%2Faction%2Fsearch%3Fq%3Dbromhexine%26t%3Dname%26acs%3Dtrue%26acq%3Dbromhex.
[11]. Picon, Paulo Dornelles et al. Symptomatic treatment of the common cold with a fixed-dose combination of paracetamol, chlorphenamine and phenylephrine: a randomized, placebo-controlled trial. [Cited 2022 Nov. 28]. Available from: https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/24261438/.
[12]. An IM De Sutter, Avadhesh Saraswat, and Mieke L van Driel. Antihistamines for the common cold. 2015 [Cited 2022 Nov. 28]. Available from: https://www.cochranelibrary.com/cdsr/doi/10.1002/14651858.CD009345.pub2/epdf/full.
[13]. Wiest, Eric, and Jeffrey S Jones. Towards evidence-based emergency medicine: best BETs from the Manchester Royal Infirmary. BET 1: Use of non-sedating antihistamines in the common cold. 2011 [Cited 2022 Nov. 28]. Available from: https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/21700747/.

วันที่ตอบ : 02 ธ.ค. 65 - 22:52:35




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110