ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
ยาคุมกำเนิดกับมะเร็งเต้านม

ยาคุมกำเนิดชนิดรับประทานผู้ใช้มีความกังวลว่าจะเกิดมะเร็งเต้านมแม้จะไม่มีนัยสำคัญก็ตามจึงอยากจะฉีดยาคุมกำเนิดDMPAเพราะเข้าใจว่าจะลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านม จริงหรือไม่

[รหัสคำถาม : 439] วันที่รับคำถาม : 07 ธ.ค. 65 - 09:41:42 ถามโดย : บุคลากร วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

โดยทั่วไป ยาคุมกำเนิดชนิดเม็ดสำหรับรับประทานจะประกอบด้วยฮอร์โมน 2 ประเภท คือ เอสโตรเจนและโปรเจสติน เรียกว่า ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม (Combined Oral Contraceptives) ซึ่งมีชนิดและปริมาณฮอร์โมนแตกต่างกันออกไป ผลข้างเคียงที่อาจพบได้ เช่น คลื่นไส้ ตึงคัดหรือเจ็บเต้านม เลือดประจำเดือนออกผิดปกติ ส่วนยาคุมกำเนิดที่ประกอบด้วยโปรเจสตินเท่านั้น เรียกว่ายาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว (Progestin-only oral contraceptive pills) มีผลข้างเคียง เช่น ขาดประจำเดือนหรือเลือดประจำเดือนออกผิดปกติ ปวดศีรษะ ตึงคัดหรือเจ็บเต้านม คลื่นไส้ เวียนศีรษะ [1]
...
ส่วน DMPA (Depot Medroxyprogesterone Acetate) เป็นยาคุมกำเนิดชนิดฉีดที่ประกอบด้วยฮอร์โมนประเภทโปรเจสตินเพียงอย่างเดียว ผลข้างเคียงที่อาจพบได้ เช่น ขาดประจำเดือนหรือมีเลือดประจำเดือนออกผิดปกติ น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น อารมณ์แปรปรวน และปวดศีรษะ [1] ยาคุมกำเนิดชนิดฉีดเหมาะกับผู้ที่ไม่ต้องการตั้งครรภ์ในระยะเวลายาวนาน หรือผู้ที่มีปัญหาในการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด โดยปกติแล้วจะไม่แนะนำให้ใช้ยาฉีดนี้เป็นทางเลือกทางแรกสำหรับผู้ที่ มีอายุต่ำกวา 18 ปี หรือผู้ที่เกิน 45 ปี เพราะจะมีผลต่อความหนาแน่นของกระดูก [2] DMPA มีข้อห้ามใช้ [3,4,5] เช่น
- ผู้ที่แพ้ medroxyprogesterone หรือส่วนประกอบใด ๆ ในสูตรตำรับ
- ผู้ที่กำลังมีภาวะหลอดเลือดอักเสบ (Active thrombophlebitis), มีประวัติหรือกำลังเกิดลิ่มเลือดผิดปกติ(thromboembolic disorders) หรือ ผู้ที่มีโรคหลอดเลือดสมอง (cerebrovascular disease)
- ผู้ที่มีภาวะเลือดออกทางช่องคลอดที่ไม่ทราบสาเหตุหรือยังไม่ได้รับการวินิจฉัย
- ผู้ที่เป็นมะเร็งเต้านม
- ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรืออาจจะตั้งครรภ์
- ผู้ที่เป็นโรคตับรุนแรง (Significant liver disease)
...
สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างการใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฉีดกับความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมนั้น การศึกษาจากหลาย ๆ การศึกษายังให้ข้อมูลที่หลากหลาย เช่น การศึกษาแบบศึกษาย้อนหลัง (case-control study) ในผู้ที่มีประวัติใช้ DMPA ภายใน 5 ปีที่ผ่านมา จำนวน 1,028 ราย โดยเปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่เคยใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนใด ๆ มาก่อน พบว่า การใช้ DMPA เป็นระยะเวลา 12 เดือนขึ้นไปจะเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งเต้านม 2.8 เท่า (95% CI: 1.3–5.9) นอกจากนี้ อายุที่เริ่มใช้ DMPA ครั้งแรกมีผลต่อความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งเต้านมเช่นกัน โดยผู้ที่ใช้ DMPA ครั้งแรกเมื่ออายุ ≥35 ปี มีความเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้น 2.0 เท่า (95% CI: 0.9–4.6) [6] ส่วนการศึกษาแบบการวิเคราะห์อภิมาน (meta-analysis) ซึ่งศึกษาความสัมพันธ์ระหว่าง DMPA กับความเสี่ยงของมะเร็งเต้านม ในผู้หญิงซึ่งส่วนใหญ่มีอายุน้อยกว่า 55 ปี โดยภาพรวม ไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างการใช้ DMPA กับความเสี่ยงของมะเร็งเต้านม (RR = 1.1, 95% CI: 0.97-1.4) กลุ่มตัวอย่างที่เคยใช้ DMPA มานานมากกว่า 5 ปี ไม่พบการเพิ่มขึ้นของความเสี่ยงของมะเร็งเต้านมเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่เคยใช้ยาคุมกำเนิด (RR = 1.0 95% CI: 0.70-1.5) แต่อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างที่เคยใช้ DMPA ภายใน 5 ปีที่ผ่านมา มีความเสี่ยงของมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้น 2.0 เท่า (95% CI, 1.5-2.8) และความเสี่ยงลดลงตามเวลาที่ผ่านไปหลังจากเคยใช้ DMPA ครั้งแรก [7]
...
ส่วนยาคุมกำเนิดชนิดรับประทานนั้น มีการศึกษาแบบการวิเคราะห์อภิมาน (meta-analysis) เช่น การศึกษาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่า การใช้ยาคุมกำเนิดชนิดรับประทานจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านม 1.27 เท่า (95% CI 1.07-1.51) [8] และอีกหนึ่งการศึกษาพบความสัมพันธ์ระหว่างยาคุมกำเนิดชนิดรับประทานกับมะเร็งเต้านมเช่นเดียวกัน โดยมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 1.15 เท่า (95% CI, 1.01-1.31) [9] อย่างไรก็ตาม บางการศึกษาพบว่า ไม่มีความแตกต่างของมะเร็งเต้านมในผู้ที่เคยใช้ยาคุมกำเนิดชนิดรับประทานเทียบกับผู้ที่ไม่เคยใช้ยาคุมกำเนิด (crude OR (cOR), 1.01; 95% CI, 0.95– 1.07) [10]
...
อีกหนึ่งการศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างฮอร์โมนคุมกำเนิดชนิดรับประทานหรือยาคุมกำเนิดชนิดฉีดกับความเสี่ยงในการเกิดมะเร็ง ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมจำนวน 1,664 ราย, มะเร็งปากมดลูกจำนวน 2,182 ราย, มะเร็งรังไข่จำนวน 182 ราย, และมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกจำนวน 182 ราย โดยเปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่เคยใช้ยาคุมกำเนิดแบบฮอร์โมน 1,492 ราย พบว่า ผู้ที่มีประวัติใช้ยาคุมกำเนิดชนิดรับประทานหรือยาคุมกำเนิดชนิดฉีดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีความเสี่ยงของมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้น 1.66 เท่า (95% CI 1.28–2.16) แต่ผู้ที่มีประวัติหยุดใช้ยาคุมกำเนิดมานานกว่า 10 ปี ไม่พบความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งเต้านมเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ไม่เคยใช้ยาคุมกำเนิด (OR 1.11, 0.91-1.36, p=0.3) [11] ส่วนการศึกษาในประชากรไทย พบว่า ไม่มีความแตกต่างของความเสี่ยงของมะเร็งเต้านมเมื่อเทียบผู้ที่ไม่เคยใช้ยาคุมกำเนิด (ยาคุมกำเนิดแบบรับประทาน: HR = 1.35, 95% CI, 0.65–2.78; ยาคุมกำเนิดแบบฉีด: HR = 1.25, 95% CI, 0.56–2.80) รวมทั้งไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างระยะเวลาของการใช้ฮอร์โมนคุมกำเนิดกับมะเร็งเต้านม [12]
...
สำหรับยาคุมแบบฮอร์โมนโปรเจสตินเดี่ยวนั้น มีการศึกษาแบบการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ (systematic review) ประเมินความสัมพันธ์ระหว่างฮอร์โมนโปรเจสตินชนิดเดี่ยวและมะเร็งเต้านม พบว่า ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัด เช่น การศึกษาแบบศึกษาไปข้างหน้า (prospective cohort study) พบว่า ความเสี่ยงของมะเร็งเต้านมในผู้ที่เคยใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว (Progestin-only pill) ไม่มีความแตกต่างกับผู้ที่ไม่เคยใช้ยา (RR= 1.7; 95% CI: 0.8–3.7, RR= 1.6 ; 95% CI: 0.9–2.6 ตามลำดับ) อีกหนึ่งการศึกษาแบบศึกษาไปข้างหน้าพบว่า ความเสี่ยงของมะเร็งเต้านมในผู้ที่เคยใช้ฮอร์โมนโปรเจสตินไม่มีความแตกต่างกับกับผู้ที่ไม่เคยใช้ยาเช่นเดียวกัน (RR= 1.01; 95% CI: 0.93–1.11) แต่อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มที่ยังคงใช้ยาคุมอยู่ (current users) ผู้ที่ใช้ฮอร์โมนโปรเจสตินอย่างต่อเนื่องมากกว่า 4.5 ปีขึ้นไป จะมีความเสี่ยงของมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้น 1.44 เท่า (95% CI: 1.03–2.00) ในขณะที่ไม่พบความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในผู้ที่ใช้ฮอร์โมนโปรเจสตินน้อยกว่า 4.5 ปี (RR= 1.09; 95% CI: 0.92–1.29) และระยะเวลาการใช้ฮอร์โมนโปรเจสตินที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี จะเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งเต้านมขึ้น 1.03 เท่า (95% CI: 1.01, 1.06) เทียบกับผู้ที่ไม่เคยใช้ยาคุม [13]
...
โดยสรุป ผลการศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างยาคุมกำเนิดชนิดรับประทานหรือชนิดฉีดกับมะเร็งเต้านมยังมีข้อมูลที่หลากหลาย โดยพบทั้งการเพิ่มและไม่เพิ่มความเสี่ยงระหว่างมะเร็งเต้านมกับยาคุมกำเนิดชนิดฉีด DMPA หรือยาคุมกำเนิดชนิดรับประทาน

เอกสารอ้างอิง
[1]. Brunsell SC. Contraception. In: South-Paul JE, Matheny SC, Lewis EL. eds. CURRENT Diagnosis & Treatment: Family Medicine, 5e. McGraw Hill; 2020. [cited 24 Nov. 2022]. Available from: https://accessmedicine.mhmedical.com/content.aspx?bookid=2934§ionid=247399247.
[2]. Family Planning NSW. Contraceptive Injection [Internet]. [cited 20 Nov. 2022]. Available from: https://www.fpnsw.org.au/factsheets/individuals/contraception/contraceptive-injection.
[3]. Medroxyprogesterone. In: AHFS Essentials online [database on the Internet]. Hudson (OH): Lexicomp, Inc.; 2022 [updated 28 Mar. 2022; cited 23 Nov. 2022]. Available from: https://online.lexi.com/lco/action/doc/retrieve/docid/essential_ashp/410375.
[4]. Medroxyprogesterone acetate injection [package insert]. Kalamazoo (MI): Pharmacia & Upjohn Pharmaceuticals; 2004.
[5]. Medroxyprogesterone acetate injection [package insert]. Parsippany (NJ): Teva Pharmaceuticals; 2022.
[6]. Li CI, Beaber EF, Tang MT, Porter PL, Daling JR, Malone KE. Effect of depo-medroxyprogesterone acetate on breast cancer risk among women 20 to 44 years of age. Cancer Res. 2012;72(8):2028-2035.
[7]. Skegg DC, Noonan EA, Paul C, Spears GF, Meirik O, Thomas DB. Depot medroxyprogesterone acetate and breast cancer. A pooled analysis of the World Health Organization and New Zealand studies. JAMA. 1995;273(10):799-804.
[8]. Nindrea RD, Aryandono T, Lazuardi L. Breast Cancer Risk From Modifiable and Non-Modifiable Risk Factors among Women in Southeast Asia: A Meta-Analysis. Asian Pac. J. Cancer Prev. 2017;18(12):3201-3206.
[9]. Barańska A, Błaszczuk A, Kanadys W, Malm M, Drop K, Polz-Dacewicz M. Oral Contraceptive Use and Breast Cancer Risk Assessment: A Systematic Review and Meta-Analysis of Case-Control Studies, 2009-2020. Cancers (Basel). 2021;13(22):5654.
[10]. Kanadys W, Barańska A, Malm M, et al. Use of Oral Contraceptives as a Potential Risk Factor for Breast Cancer: A Systematic Review and Meta-Analysis of Case-Control Studies Up to 2010. Int. J. Environ. Res. Public Health. 2021;18(9):4638.
[11]. Urban M, Banks E, Egger S, et al. Injectable and oral contraceptive use and cancers of the breast, cervix, ovary, and endometrium in black South African women: case-control study. PLoS Med. 2012;9(3):e1001182.
[12]. Poosari A, Promthet S, Kamsa-ard S, Suwanrungruang K, Longkul J, Wiangnon S. Hormonal contraceptive use and breast cancer in Thai women. J. Epidemiol. 2014;24(3):216-220.
[13]. Samson M, Porter N, Orekoya O, et al. Progestin and breast cancer risk: a systematic review. Breast Cancer Res. Treat. 2016;155(1):3-12.

วันที่ตอบ : 07 ธ.ค. 65 - 14:19:47




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110