ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
รบกวนถามหน่อยครับ คือ ผมมีอาการเจ็บคอ ไข้ น้ำมูกใส คัดจมูก ไอ เสมหะยังไม่ข้นมาก

รบกวนถามหน่อยครับ คือ ผมมีอาการเจ็บคอ ไข้ น้ำมูกใส คัดจมูก ไอ เสมหะยังไม่ข้นมาก ไปหาหมอ หมอก้อดูคอผม แล้วหมอบอกว่าต้องทานยาฆ่าเชื้อ แต่ครั้งก่อนผมก็มีอาการคล้ายๆกัน แต่หมอบอกว่ายังไม่ต้องทานยาฆ่าเชื้อ ผมจึงงงว่าตกลงแล้วครั้งนี้ผมจำเป็นต้องทานยาฆ่าเชื้อหรือเปล่าครับ

[รหัสคำถาม : 44] วันที่รับคำถาม : 23 ม.ค. 63 - 15:54:32 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

อาการเจ็บคอ ไข้ น้ำมูลใส คัดจมูก ไอและมีเสมหะเป็นอาการเกิดได้จากหลายสาเหตุ สามารถพบได้บ่อยในโรคที่เกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน เช่น โรคหวัด (common cold) และคอหอยอักเสบ (pharyngitis)[1]
โรคหวัด มีสาเหตุจากเชื้อไวรัส สายพันธุ์ที่พบได้บ่อยที่สุดคือไรโนไวรัส (rhinovirus)[2] อาการที่พบ เช่นไข้ ไอ มีน้ำมูกไหล คัดจมูก เจ็บคอ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ โรคนี้ไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษา[2] มีการศึกษาพบว่า การใช้ยาปฏิชีวนะในผู้ป่วยโรคหวัดและภาวะเยื่อจมูกอักเสบเป็นหนอง (purulent rhinitis)ผลการรักษาไม่ต่างจากกลุ่มที่ได้รับยาหลอก[3]
โรคคอหอยอักเสบ (pharyngitis) โดยทั่วไปจะมีอาการเจ็บคอ ปวดมากขึ้นเมื่อต้องกลืน[4] ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ มีเพียง 5-20% เท่านั้นที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียกลุ่มที่เรียกว่า group A beta hemolytic Streptococcus (GABHS)[5] ในกรณีที่ไม่รักษาด้วยยาปฏิชีวนะอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้เช่น โรคไข้รูมาติกเฉียบพลัน (acute rheumatic fever), ภาวะไตอักเสบเฉียบพลัน (acute glomerulonephritis)[7] เป็นต้น สาเหตุอื่นของโรคคอหอยอักเสบอาจเกิดจากภาวะภูมิแพ้อากาศ (allergic rhinitis), กรดไหลย้อน (gastroesophageal reflux disease), การสูบบุหรี่หรือการใช้เสียงมากเกินไป[4]
เกณฑ์ที่ใช้การพิจารณาว่าอาการเจ็บคอที่เป็นอยู่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือไม่ คือ modified centor (Malsaac) criteria ดังนี้[5]
- ไม่มีอาการไอ (1 คะแนน)
- ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอบวมและกดเจ็บ (1 คะแนน)
- มีไข้ (มากกว่าหรือเท่ากับ 38°C) (1 คะแนน)
- มีหนองที่ต่อมทอนซิล (1 คะแนน)
- อายุ โดยหากอยู่ในช่วง 3-14 ปี (1 คะแนน) ช่วง 15-44 ปี (0 คะแนน) มากกว่า 45 ปี (-1 คะแนน)
หากได้คะแนนรวมมากกว่าหรือเท่ากับ 4 คะแนนควรพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะที่ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ยาที่แนะนำให้ใช้เป็นอันดับแรกคือยากลุ่ม penicillins เช่น penicillin V หรือ amoxicillin รับประทานติดต่อกันเป็นเวลา 10 วัน ในกรณีที่แพ้ยากลุ่ม penicillins อาจใช้ยากลุ่ม macrolides เช่น erythromycin หรือยากลุ่ม cephalosporin เช่น cephalexin รับประทานติดต่อกันเป็นเวลา 10 วันแทน[5]
สำหรับประสิทธิภาพของยาปฏิชีวนะในการเจ็บคอที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียพบว่า ผู้ป่วยที่มีผลเพาะเชื้อเป็นบวกยาปฏิชีวนะสามารถบรรเทาอาการเจ็บคอในวันที่ 3 และ 6-8 ของการรักษาได้ดีกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอก แต่ในกรณีผลการเพาะเชื้อเป็นอาการเจ็บคอในวันที่ 6-8 ของการรักษาไม่แตกต่างกับยาหลอก ส่วนกรณีที่ผู้ป่วยติดเชื้อแบคทีเรีย แต่ไม่ได้รับยาปฏิชีวนะพบว่าเกิดภาวะแทรกซ้อนเช่น โรคไข้รูมาติกเฉียบพลันและภาวะต่อมทอนซิลอักเสบภายใน 2 เดือนรวมไปถึงโอกาสเกิดหูชั้นกลางอักเสบภายใน 14 วันมากกว่าผู้ที่ได้รับยาปฏิชีวนะ[6]
จากอาการที่เป็นอยู่ของผู้ถาม (เจ็บคอ ไข้ น้ำมูลใส คัดจมูก ไอและมีเสมหะ) เป็นอาการที่เกิดจากหลายสาเหตุ ซึ่งอาการที่เป็นแต่ละครั้งไม่จำเป็นต้องมีสาเหตุเดียวกัน หากเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อรักษาติดต่อกันตามที่แพทย์สั่งเพื่อป้องการเกิดเชื้อดื้อยา

เอกสารอ้างอิง
1. Frei C, Frei B. Uppe Respiratory Infections. In: DiPiro JT, et al., editors. Pharmacotherapy: A Pathophysiologic Approach. 10th edition, The McGraw-Hill Companies, New York, 2017; p 1709-18.
2. Fashner J, Ericson K, Werner S. Treatment of the Common Cold in Children and Adult. Am Fam Physician. 2012;86(2):153-159. Accessed on 9 Jan 2020. Available at : https://www.aafp.org/afp/2012/0715/p153.html
3. Kenealy T, Arroll B. Antibiotics for the common cold and acute purulent rhinitis. Cochrane Database of Systematic Reviews 2013, Issue 6. Art. No.: CD000247.
4. Chow AW, Doron S. Evaluation of acute pharyngitis in adults. In: Aronson MD, Bond S, editors. UpToDate [Internet]. Waltham (MA): UpToDate Inc; 2020 [cited 2019 Dec 21]. Available from: https://www.uptodate.com/contents/Evaluation-of-pharyngitis-in-adults
5. Choby BA. Diagnosis and Treatment of Streptococal Pharyngitis. Am Fam Physician. 2009;79(5):383-390. Accessed on 7 Jan 2020. Available at : https://www.aafp.org/afp/2012/0715/p383.html
6. Pichichero M. Complications of streptococcal tonsillopharyngitis. In: Bond S, editors. UpToDate [Internet]. Waltham (MA): UpToDate Inc; 2020 [cited 2019 Mar 22]. Available from: https://www.uptodate.com/contents/Complications-of-streptococcal-tonsillopharyngitis
7. Spinks A, Glasziou PP, Mar CB. Antibiotics for sore throat (Review). Cochrane Database of Systematic Reviews 2013, Issue 11. Art. No.: CD000023.
วันที่ตอบ : 23 ม.ค. 63 - 16:10:47




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110