ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
สารสกัดกระเทียมรักษาไขมันในเลือดสูงได้ไหม

คุณแม่เป็นโรคไขมันในเลือดสูงค่ะ ทานยาลดไขมัน simvastatin อยู่ พบข้อมูลว่าสารสกัดกระเทียมสามารถลดระดับไขมันในเลือดได้ อยากอยากทราบว่าต้องทานยังไง มีผลข้างเคียงอะไรบ้าง ได้ผลจริงไหม

[รหัสคำถาม : 441] วันที่รับคำถาม : 10 ธ.ค. 65 - 01:25:08 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

ตามเกณฑ์ของราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย (2545) ภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ คือ มีระดับโคเลสเตอรอลรวมมากกว่า 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ระดับไตรกลีเซอไรด์มากกว่า 150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ระดับแอลดีแอลโคเลสเตอรอลมากกว่า 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร และระดับเอชดีแอลโคเลสเตอรอลน้อยกว่า 40 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร โดยอาจมีความผิดปกติของไขมันในเลือดเพียงชนิดใดชนิดหนึ่งหรือหลายชนิดร่วมกัน ภาวะไขมันในเลือดสูงเป็นสาเหตุของการเกิดภาวะหลอดเลือดแดงตีบแข็ง (atherosclerosis) นำไปสู่การเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ (coronary heart disease) โรคหลอดเลือดสมอง (cerebrovascular disease) และโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลาย (peripheral arterial disease)[1] ผู้ที่มีระดับไขมันในเลือดสูงควรมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย หยุดสูบบุหรี่ และคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ[2]
.
สำหรับการใช้ยาลดระดับไขมันในเลือด ตามแนวทางของสมาคมโรคหลอดเลือดแดงแห่งประเทศไทย (2559) แนะนำว่า ในกรณีที่ไม่เป็นเบาหวานและมีแอลดีแอลโคเลสเตอรอลน้อยกว่า 190 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ควรเริ่มด้วยยากลุ่มสแตตินชนิดที่มีความแรงปานกลาง (moderate intensity statin) เช่น simvastatin 40 มิลลิกรัมต่อวัน หรือ atorvastatin 20 มิลลิกรัมต่อวัน แต่หากใช้ยาต่อเนื่องเป็นเวลา 6 เดือนแล้วระดับแอลดีแอลโคเลสเตอรอลยังไม่ถึงเป้าหมาย อาจเปลี่ยนเป็นกลุ่มสแตตินชนิดที่มีความแรงสูง (high intensity statin) เช่น atorvastatin 40 - 80 มิลลิกรัมต่อวัน หรือ rosuvastatin 20 - 40 มิลลิกรัมต่อวัน ส่วนผู้ที่มีระดับไขมันแอลดีแอลโคเลสเตอรอลสูงจากพันธุกรรมควรเริ่มด้วยยากลุ่มสแตตินชนิดที่มีความแรงสูง (high intensity statin) และหากระดับแอลดีแอลโคเลสเตอรอลยังไม่ถึงเป้าหมายในระยะเวลา 6 เดือนต่อมา ควรเพิ่มยาลดไขมันกลุ่มที่ไม่ใช่สแตติน เช่น ezetimibe หรือ cholestyramine[2]
.
จากตำราอ้างอิงสมุนไพรไทย กระเทียมเป็นสมุนไพรที่มีน้ำมันระเหย (volatile oil) ซึ่งประกอบด้วยสารที่มีกำมะถันเป็นองค์ประกอบหลายชนิด เช่น อัลลิซิน (allicin), อัลลิอิน (alliin), อะโจอีน (ajoene), อัลลิลโพพริลไดซัลไฟด์ (allyl propyl disulfide) ซึ่งสารเหล่านี้มีสรรพคุณขับลม แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ใช้ภายนอกแก้กลากเกลื้อน และพบว่ากระเทียมและผลิตภัณฑ์จากกระเทียมมีฤทธิ์ลดการจับตัวของเกล็ดเลือด เพิ่มการสลายไฟบริน มีฤทธิ์ในการลดไขมันในเลือดและลดความดันโลหิต ลดการเกิดกระบวนการออกซิเดชันของไลโพโปรตีน จึงอาจช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดไขมันอุดตันในหลอดเลือดได้ ดังนั้น จึงมีการใช้กระเทียมเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อช่วยบรรเทาภาวะไขมันในเลือดสูง ป้องกันโรคหลอดเลือดแดงแข็งตัว และช่วยลดความดันโลหิตในผู้ป่วยที่ความดันโลหิตสูง[3]
.
จากการศึกษาผลของการใช้กระเทียมในในผู้ที่มีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูง (>200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร) โดยใช้กระเทียมและผลิตภัณฑ์จากกระเทียมในรูปแบบต่าง ๆ เป็นเวลามากกว่า 2 เดือน พบว่า กระเทียมช่วยลดคอเลสเตอรอลได้ 17± 6 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร และลดระดับแอลดีแอลคอเลสเตอรอลได้ 9 ± 6 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร เมื่อเทียบกับก่อนได้รับกระเทียม โดยมีผลเพิ่มเอชดีแอลคอเลสเตอรอลเล็กน้อย (1.5 ± 1.3 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร) แต่ไม่มีผลต่อระดับไตรกลีเซอไรด์ อาการข้างเคียงที่พบ เช่น มีกลิ่นปากหรือกลิ่นตัวเป็นกลิ่นกระเทียม และอาการไม่พึงประสงค์เกี่ยวกับทางเดินอาหาร เช่น ระคายเคืองทางเดินอาหาร ท้องอืด และเรอ เป็นต้น[4] ส่วนอีกหนึ่งการศึกษาในผู้ที่มีไขมันในเลือดสูง เกี่ยวกับผลของการรับประทานสารสกัดกระเทียมขนาด 500 มิลลิกรัมต่อแคปซูล วันละ 2 ครั้งเป็นระยะเวลา 12 สัปดาห์ พบว่า 1) กลุ่มตัวอย่างแรกที่ใช้สารสกัดกระเทียมจะมีระดับคอเลสเตอรอลลดลงจาก 6.83±0.02 เป็น 6.05±0.01 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร, ไตรกลีเซอไรด์ลดลงจาก 2.86±0.02 เป็น 2.32±0.03 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร, แอลดีแอลโคเลสเตอรอลลดลงจาก 4.76±0.64 เป็น 4.26±0.33 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร และมีระดับเอชดีแอลโคเลสเตอรอลเพิ่มขึ้นจาก 0.77±0.01 เป็น 0.89±0.01 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร พบว่า 2) ในกลุ่มตัวอย่างที่สองที่ใช้ยา atorvastatin 40 มิลลิกรัม จะมีระดับคอเลสเตอรอลรวมลดลงจาก 6.93±0.1 เป็น 5.39±0.03 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร, ไตรกลีเซอไรด์ลดลงจาก 2.91±0.35 เป็น1.99±0.17 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร, แอลดีแอลโคเลสเตอรอลลดลงจาก 4.89±0.21 เป็น 3.28±1.29 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร, และระดับเอชดีแอลโคเลสเตอรอลเพิ่มขึ้นจาก 0.72±0.01 เป็น1.21±0.03 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร 3) ในกลุ่มตัวอย่างที่สามที่ใช้ยา atorvastatin 40 มิลลิกรัมร่วมกับกระเทียม จะมีระดับคอเลสเตอรอลรวมลดลงจาก 6.89±1.06 เป็น 5.23±0.12 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร, ไตรกลีเซอไรด์ลดลงจาก 2.89±0.18 เป็น 1.93±0.12 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร, แอลดีแอลโคเลสเตอรอลลดลงจาก 4.88±2.02 เป็น 3.05±1.43 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร, และระดับเอชดีแอลโคเลสเตอรอลเพิ่มขึ้นจาก 0.70±0.08 เป็น 1.16±0.09 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรในสัปดาห์ที่ 6 และเป็น 1.31±0.14 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรในสัปดาห์ที่ 12[5]
.
อย่างไรก็ตาม การใช้กระเทียมและผลิตภัณฑ์จากกระเทียมมีข้อควรระวังหลายประการ เช่น การรับประทานกระเทียมในปริมาณมาก ๆ จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการมีเลือดออกหลังผ่าตัดได้ง่าย จึงควรระมัดระวังการใช้กระเทียมในผู้ที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือดหรือรับประทานยากันเลือดเป็นลิ่ม (anticoagulant) แอสไพรินหรือยาต้านเกล็ดเลือด (anti-platelet agents) และยาต้านอักเสบกลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ส่วนผู้ที่รับประทานยาไซโคลสปอริน (cyclosporin) หรือยาซาควินาเวียร์ (saquinavir) ไม่ควรรับประทานกระเทียมร่วมด้วย เพราะกระเทียมอาจทำให้ระดับยาในเลือดและประสิทธิผลในการรักษาของยาลดลง[3]
.
จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้น กระเทียมมีผลลดระดับไขมันในเลือดได้[3],[4][5] ส่วนอาการข้างเคียงที่อาจพบได้ เช่น มีกลิ่นปากหรือกลิ่นตัวเป็นกลิ่นกระเทียม ระคายเคืองทางเดินอาหาร ท้องอืด และเรอ เป็นต้น[4] และควรระมัดระวังการใช้ผลิตภัณฑ์จากกระเทียมในผู้ที่กำลังใช้ยาบางชนิดอยู่ ดังนั้น จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้สมุนไพรทุกชนิดรวมทั้งผลิตภัณฑ์จากกระเทียม เพราะอาจส่งผลต่อความปลอดภัยในการใช้ยาและประสิทธิภาพการรักษาได้ ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และรับประทานยาที่แพทย์สั่ง รวมทั้งไปพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ

เอกสารอ้างอิง
[1]. ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย. (2545). แนวทางการดูแลรักษาความผิดปกติของระดับไขมันในเลือด. กรุงเทพฯ: สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย.
[2]. ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย. (2559). แนวทางเวชปฏิบัติการใช้ยารักษาภาวะไขมันผิดปกติ เพื่อป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด. กรุงเทพฯ: สมาคมโรคหลอดเลือดแดงแห่งประเทศไทย.
[3]. สถาบันการแพทย์แผนไทย. (2563). ตำราอ้างอิงสมุนไพรไทย เล่ม 2. นนทบุรี: กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข.
[4]. Ried K, Toben C, Fakler P. Effect of garlic on serum lipids: an updated meta-analysis. Nutr Rev. 2013 May.;71(5):282-99.
[5]. Hussien ZM, Ahmed LT, Hussain QGh. Effect of atorvastatin and garlic on lipid profile in hyperlipidemic patients. DJM.2013;5(1):63–8.

วันที่ตอบ : 07 มี.ค. 66 - 13:47:44




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110