ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
การรับประทานน้ำมันปลาในหญิงมีครรภ์

เคยทราบมาว่าการรับประทานน้ำมันปลาซึ่งมีส่วนผสมของ EPA:DHA ตอนตั้งครรภ์จนถึงเด็กอายุ 4 ขวบ จะช่วยเรื่องความจำและความฉลาดที่มากกว่าเด็กทั่วไป แต่น้ำมันปลาที่วางขายกลับมีคำเตือนว่าหญิงตั้งครรภ์ไม่ควรรับประทาน สรุปแล้วการรับประทานน้ำมันปลาในหญิงตั้งครรภ์สามารถทานได้อย่างปลอดภัยหรือไม่

[รหัสคำถาม : 442] วันที่รับคำถาม : 13 ธ.ค. 65 - 10:06:11 ถามโดย : บุคลากร วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

กรดไขมันจำเป็นซึ่งเป็นกรดไขมันที่มนุษย์ไม่สามารถสร้างเองได้ สามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ กรดอัลฟาไลโนเลนิก(กรดไขมันโอเมก้า-3) และกรดไลนาเลอิก(กรดไขมันโอเมก้า-6) โดยน้ำมันปลามีกรดไขมันโอเมก้า-3 สองชนิดได้แก่ ดีเอชเอ (Docosahexaenoic acid: DHA) และอีพีเอ (Eicosapentaenoic acid: EPA) ซึ่ง EPA และ DHA สามารถพบได้ในปลาทะเลด้วยเช่นกัน[1,2]

จากการศึกษาการใช้กรดไขมันโอเมก้า-3 เสริมระหว่างตั้งครรภ์ โดยเป็นการศึกษารวบรวมหลายงานวิจัยเชิงทดลองและมีกลุ่มควบคุม (randomized controlled trial)จาก 8 งานวิจัยเชิงทดลองและมีกลุ่มควบคุมที่มีการใช้กรดไขมันโอเมก้า-3 เสริมในระหว่างการตั้งครรภ์ (DHA 200–2200 มิลลิกรัมต่อวัน และ EPA 0–1100 มิลลิกรัมต่อวัน เป็นเวลา 20 สัปดาห์) พบว่าทั้ง 8 การศึกษาพบว่า การใช้กรดไขมันโอเมก้า-3 เสริมในระหว่างการตั้งครรภ์ไม่ได้ช่วยด้านการพัฒนาสติปัญญาของทารกและเด็กให้ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม (P > 0.05) นอกจากนี้ยังมีข้อมูลไม่เพียงพอของการใช้กรดไขมันโอเมก้า-3 เสริมในระหว่างการตั้งครรภ์ต่อทารกและเด็กทางด้านพัฒนาการทางภาษา พัฒนาการทางสังคมและอารมณ์ พัฒนาการทางสายตา ร่างกาย หรือลดความเสี่ยงของการเกิดสมาธิสั้น หรือลดความเสี่ยงของการเกิดความวิตกกังวลและซึมเศร้าในเด็ก[3]จากการศึกษาที่มีการรวบรวมจาก 34 งานวิจัยเชิงทดลองและมีกลุ่มควบคุมที่มีการใช้กรดไขมันโอเมก้า-3 เสริมในระหว่างการตั้งครรภ์พบว่า ยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนของผลของการใช้กรดไขมันโอเมก้า-3 ต่อการป้องกันการคลอดก่อนกำหนด ภาวะครรภ์เป็นพิษ ภาวะทารกโตช้าในครรภ์ ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด การเสียชีวิตของทารกในครรภ์ รวมถึงพัฒนาการของเด็กที่ดีขึ้น[4]นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ที่มีกรดไขมันโอเมก้า-3 ที่มีส่วนผสมของวิตามินเออยู่ในปริมาณสูง ไม่แนะนำให้ใช้ในสตรีมีครรภ์ เนื่องจากการรับประทานวิตามินเอมากเกินไปในระหว่างตั้งครรภ์อาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้[2]

สรุป ในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนถึงประโยชน์ของการใช้น้ำมันปลาหรือกรดไขมันโอเมก้า-3 เสริมในระหว่างการตั้งครรภ์ สตรีมีครรภ์สามารถรับประทานปลาทะเล ซึ่งมี DHA ด้วยเช่นกัน[1]

เอกสารอ้างอิง
[1]. Oken E. Fish consumption and marine omega-3 fatty acid supplementation in pregnancy[Internet]. Waltham (MA): UpToDate; 2022 [cited 2022 Nov. 25]. Available from : http://www.uptodate.com.
[2]. Fish oil and omega-3 fatty acids[Internet]. Philadelphia: Elsevier; 2019[cited 2022 Nov. 25]. Available from : https://www.clinicalkey.com.
[3]. Nevins JE, Donovan SM, Snetselaar L, Dewey KG, Novotny R, Stang J, et al. Omega-3 fatty acid dietary supplements consumed during pregnancy and lactation and child neurodevelopment: a systematic review. J. Nutr.2021;151(11):3483-94.
[4]. Saccone G, Saccone I, Berghella V. Omega-3 long-chain polyunsaturated fatty acids and fish oil supplementation during pregnancy : which evidence?. J. Matern Fetal Neonatal Med. 2016;29(15):2389–2397.

วันที่ตอบ : 28 ธ.ค. 65 - 12:31:14




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110