ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
อยากทราบผลข้างเคียงของยาที่มีต่อตับและอวัยวะภายในที่สำคัญจะเป็นอย่างไร

เป็นลมพิษเรื้อรังประมาณ 8 เดือน ทาน Telfast 180 mg มาตลอด ทานหลังมื้อเที่ยง 1 เม็ด ค่ำ ๆ ดื่มแอลกอฮอล์หนัก อยากทราบผลข้างเคียงของยาที่มีต่อตับและอวัยวะภายในที่สำคัญจะเป็นอย่างไร

[รหัสคำถาม : 446] วันที่รับคำถาม : 05 ม.ค. 66 - 17:16:02 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

โรคลมพิษเรื้อรัง (chronic spontaneous urticaria) คือ ลมพิษที่เป็นต่อเนื่องกันมากกว่า 6 สัปดาห์ขึ้นไป ปัจจัยกระตุ้นให้มีอาการ เช่น อากาศเย็น ลมเย็น น้ำเย็น แรงกดทับผิว ความร้อน แสงรวมทั้งอัลตร้าไวโอเลต แรงขีดข่วน แรงสั่นสะเทือน เช่น เครื่องขุดเจาะถนน อุณหภูมิในร่างกายที่เพิ่มสูงขึ้น [1] ส่วนปัจจัยกระตุ้นให้มีอาการกำเริบ เช่น ความร้อนจากฝักบัวน้ำอุ่น สถานที่ที่มีความชื้นสูง การสวมเสื้อผ้าหรือสายรัดที่รัดแน่น การใช้ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ความเครียด อาหารรสเผ็ด หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น โดยลมพิษอาจมีอาการรุนแรงขึ้นหลังจากดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ [2]

การรักษาโรคลมพิษเรื้อรังตามแนวทางของสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย ประกอบด้วย การดูแลทั่วไปเพื่อลดความไวผิวหนัง เช่น ทาครีมหรือโลชั่นที่ไร้น้ำหอมเพื่อให้ผิวชุ่มชื้น การหลีกเลี่ยงการกระตุ้นผิวหนัง และการรักษาด้วยยาแก้แพ้หรือยาต้านฮิสตามีน (antihistamines) โดยแนะนำให้ใช้ยาต้านฮิสตามีนรุ่นที่ 2 (second-generation หรือ non-sedating antihistamines) เช่น cetirizine, levocetirizine, fexofenadine, loratadine [1], [2]

ยา Telfast® ประกอบด้วยตัวยาสำคัญคือ fexofenadine ซึ่งเป็นยาต้านฮิสตามีนรุ่นที่ 2 ขนาดยาโดยทั่วไปคือ รับประทาน 180 มิลลิกรัม วันละครั้ง [1] ยานี้มีระยะเวลาการออกฤทธิ์ในร่างกายนาน อาการไม่พึงประสงค์ที่อาจพบได้ เช่น ผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง (เช่น ปวดหัว ง่วงซึม วิงเวียนศีรษะ) ผลต่อระบบทางเดินอาหาร (เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย อาหารไม่ย่อย) ผลต่อระบบกล้ามเนื้อ (เช่น ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง) [3] เป็นต้น หลังจากเข้าสู่ร่างกาย ยานี้จะถูกแปรรูปที่ตับน้อยมาก [4] และยาจะถูกขับออกทางอุจจาระและปัสสาวะในรูปที่ไม่เปลี่ยนแปลงเป็นหลัก ถึงแม้ว่ายานี้จะมีผลต่อระบบประสาทส่วนกลางน้อยกว่ายาต้านฮิสตามีนรุ่นที่ 1 (เช่น chlorpheniramine, brompheniramine, hydroxyzine, diphenhydramine) แต่ก็อาจทำให้มีอาการง่วงได้ในผู้ป่วยบางราย [3]

ในส่วนของการดื่มแอลกอฮอล์ แอลกอฮอล์จะถูกดูดซึมที่กระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นเข้าสู่กระแสเลือด และถูกแปรรูปโดยเอนไซม์ที่ตับ ได้เป็นสาร acetaldehyde ซึ่งมีความเป็นพิษ ทั้งแอลกอฮอล์และสารแปรรูปของแอลกอฮอล์จะมีผลต่อการทำงานของตับ ซึ่งจะรบกวนการสลายไขมัน และทำให้ระดับของกลูตาไธโอนซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระลดลง ทำให้ตับถูกทำลายจากสารพิษที่ได้จากกระบวนการแปรรูปแอลกอฮอล์ได้ นอกจากนี้ ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน จะทำให้เอนไซม์บางชนิดทำงานมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อการแปรรูปของยาบางชนิดได้ [5]

ถึงแม้ว่ายา fexofenadine จะถูกแปรรูปที่ตับน้อยมาก แต่การดื่มแอลกอฮอล์ร่วมกับการรับประทานยาแก้แพ้ อาจเพิ่มอาการไม่พึงประสงค์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้มีอาการง่วงซึมมากขึ้นได้ [5] และพบว่าการดื่มแอลกอฮอล์ทำให้มีระดับของอิมมูโนโกลบูลินอี (IgE) ในร่างกายซึ่งเป็นแอนติบอดีที่เกี่ยวข้องกับการเกิดอาการแพ้ เพิ่มสูงขึ้น การดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำอาจส่งผลให้ผิวหนังไวต่อการกระตุ้นและทำให้เกิดอาการแพ้ได้ อิมมูโนโกลบูลินอีจะมีระดับลดลงเมื่อหยุดดื่มแอลกอฮอล์ [6]

มีการศึกษาซึ่งเป็นรายงานผู้ป่วย (case report) ที่เป็นโรคลมพิษเรื้อรัง และมีอาการลมพิษกำเริบหลังจากดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ มีรายละเอียดโดยย่อ ดังนี้
รายงานผู้ป่วย 3 ราย ที่มีประวัติโรคลมพิษเรื้อรัง ถูกนำส่งโรงพยาบาลด้วยอาการลมพิษกำเริบ โดยทั้งสามรายไม่ได้ใช้ยาหรือไม่มีประวัติภูมิแพ้ในครอบครัวมาก่อน
• รายที่ 1 เป็นหญิงอายุ 65 ปี มีโรคลมพิษเรื้อรังกำเริบร่วมกับอาการบวมบริเวณคอและทางเดินหายใจหลังจากดื่มแอลกอฮอล์ไม่กี่นาที เมื่อทดสอบการแพ้ทางผิวหนังด้วยกรดอะซิติกความเข้มข้นร้อยละ 5 (สารนี้จะเป็นสารที่ได้จากกระบวนการแปรรูปแอลกอฮอล์ที่ตับ) พบว่าให้ผลบวก และการทดสอบการแพ้ด้วยการรับประทานเอทิลแอลกอฮอล์ความเข้มข้นร้อยละ 4 ปริมาณ 20 มิลลิลิตร พบว่าเกิดอาการผื่นบริเวณหน้า คอ ลำตัว และฝ่ามือ ซึ่งอาการหายไปหลังได้รับการรักษา 30-45 นาที
• รายที่ 2 เป็นหญิงอายุ 62 ปี มีโรคลมพิษเรื้อรังกำเริบหลังจากดื่มแอลกอฮอล์ไม่กี่นาที การทดสอบการแพ้ทางผิวหนังด้วยกรดอะซิติก (ความเข้มข้นร้อยละ 0.96 และ 9.6) ให้ผลบวก การทดสอบการแพ้ด้วยวิธีรับประทานเอทิลแอลกอฮอล์ความเข้มข้นร้อยละ 10 (ปริมาณ 10 มิลลิลิตร) พบอาการบวมบริเวณปาก ลิ้น ผื่นบริเวณใบหน้า ลำคอ และอาการหายใจลำบาก ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยยาต้านฮิสตามีนฉีดเข้าหลอดเลือดดำ และยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์
• รายที่ 3 เป็นหญิงอายุ 22 ปี มีประวัติเป็นลมพิษเรื้อรัง 6 เดือน ถูกนำส่งโรงพยาบาลเนื่องจากมีอาการลมพิษบริเวณใบหน้า และมีอาการท้องเสียหลังจากการดื่มแอลกอฮอล์ การทดสอบการแพ้ทางผิวหนังด้วยกรดอะซิติก (ความเข้มข้นร้อยละ 0.96 และ 9.6) ให้ผลบวก การทดสอบการแพ้โดยวิธีรับประทานเอทิลแอลกอฮอล์ความเข้มข้นร้อยละ 10 (ปริมาณ 10 มิลลิลิตร) พบอาการบวมบริเวณลิ้น ซึ่งสามารถหายได้เองในเวลา 12 ชั่วโมง [7]

โดยสรุป ยา fexofenadine มีผลข้างเคียงต่อระบบประสาทส่วนกลางน้อยกว่ายาต้านฮิสตามีนรุ่นที่ 1 ส่วนอาการข้างเคียงอื่น ๆ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย อาหารไม่ย่อย ปวดกล้ามเนื้อ การดื่มแอลกอฮอล์อาจเพิ่มผลต่อระบบประสาทส่วนกลางทำให้มีอาการง่วงซึมมากขึ้นได้ ผู้ที่เป็นลมพิษเรื้อรังควรหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นต่าง ๆ รวมทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ [2] การดื่มแอลกอฮอล์นอกจากอาจจะเป็นปัจจัยกระตุ้นทำให้มีอาการลมพิษกำเริบในบางรายแล้ว ยังมีผลต่อการทำงานของตับได้

เอกสารอ้างอิง
[1]. สมาคมแพทย์ผิวหนังแหงประเทศไทย สมาคมโรคภูมิแพ้ โรคหืด และวิทยาภูมิคุ้มกันแห่งประเทศไทย ชมรมแพทย์ผิดหนังเด็กแห่งประเทศไทย. 2557. แนวทางการรักษาโรคลมพิษ. สืบค้นเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2565, เข้าถึงได้จาก https://www.allergy.or.th/2016/pdf/Thai_CPG_Urticaria_2557.pdf.
[2]. Uptodate. Chronic urticaria. 2022;[1 screen]. Available at https://www.uptodate.com/
Contents/chronic-spontaneous-urticaria-clinical-manifestations-diagnosis-pathogenesis-and-naturalhistory?search=chronic%20urticaria&source=search_result&selectedTitle=1~118&usage_type=default&display_rank=1. Accessed Nov,16,2022.
[3]. Fexofenadine. In: Specific Lexicomp Online Database [database on the internet]. Hudson (OH): Lexicomp Inc. [update 10 Oct. 2022; cited 16 Nov. 2022]. Available from: http://online.lexi.com.
[4]. American society of health-system pharmacists. 2012. Drug information AHFS. MD : American society of health-system pharmacists, Inc.
[5]. Weathermon R, Crabb DW. Alcohol and medication interactions. Alcohol Res. Health. 1999;23(1):40-54.
[6]. Gonzalez-Quintela A, Vidal C, Gude F. Alcohol, IgE and allergy. Addict Biol. 2004 Sep-Dec;9(3-4):195-204.
[7]. Sticherling M, Brasch J, Brüning H, Christophers E. Urticarial and anaphylactoid reactions following ethanol intake. Br. J. Dermatol. 1995 Mar;132(3):464-7.

วันที่ตอบ : 08 ม.ค. 66 - 18:29:20




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110