ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
ยารับประทานสำหรับอาการภูมิแพ้ที่มีอาการต่อเนื่อง

ยารับประทานสำหรับอาการภูมิแพ้ คือ มีอาการ จาม น้ำมูกใส คันลูกตามากๆ ทุกวัน จะรับประทานยาแก้แพ้ชนิดใดจึงจะดีที่สุด หากทาน telfast, CPM, zyrtec แล้ว แต่ไม่ค่อยดีขึ้น รู้สึกรบกวนชีวิตประจำวัน

[รหัสคำถาม : 447] วันที่รับคำถาม : 05 ม.ค. 66 - 20:19:18 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ (allergic rhinitis) มีอาการแสดง เช่น จาม น้ำมูกใส คัดจมูก คันจมูก ในบางรายอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น คันตา คันหู คันเพดานปาก คันคอ หรือมีอาการหอบหืด การแบ่งประเภทของโรคจะแบ่งตามความถี่ของการมีอาการ หรือแบ่งตามความรุนแรงของโรค คือ 1) มีอาการเป็นช่วง ๆ (intermittent allergic rhinitis) คือ มีอาการน้อยกว่า 4 วันต่อสัปดาห์ หรือมีอาการติดต่อกันน้อยกว่า 4 สัปดาห์ หรือ 2) มีอาการแบบต่อเนื่อง (persistent allergic rhinitis) คือ มีอาการมากกว่า 4 วันต่อสัปดาห์ หรือมีอาการติดต่อกันมากกว่า 4 สัปดาห์ หากแบ่งตามความรุนแรงของโรคโดยพิจารณาจากผลต่อคุณภาพชีวิต แบ่งได้ดังนี้ 1) มีอาการน้อย (mild) คือ นอนหลับได้ตามปกติ ไม่มีผลต่อกิจวัตรประจำวัน ไม่มีปัญหาต่อการทำงานหรือการเรียน และไม่ทำให้รู้สึกรำคาญ 2) มีอาการปานกลางถึงมาก (moderate-severe) คือ มีอาการอย่างน้อย 1 อาการ ได้แก่ ไม่สามารถนอนหลับได้ตามปกติ มีผลต่อกิจวัตรประจำวัน มีปัญหาต่อการทำงานหรือการเรียน และทำให้รู้สึกรำคาญ [1]
.
เพื่อการป้องกันอาการกำเริบ ผู้ที่เป็นโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ควรหลีกเลี่ยงจากสิ่งที่แพ้ เช่น การสัมผัสกับควันบุหรี่ สัตว์เลี้ยง ไรฝุ่น และสารก่อแพ้ต่างๆ ควรใช้ผ้าปูที่นอนและปลอกหมอนกันไรฝุ่น และทำความสะอาดเป็นประจำโดยซักผ้าในน้ำร้อน 55-60 องศาเซลเซียส จะช่วยลดปริมาณสารก่อภูมิแพ้ของไรฝุ่น เป็นต้น [1]
.
แนวทางของสมาคมแพทย์โรคจมูกแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2554 ระบุว่า การรักษาโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้จะพิจารณาตามลักษณะอาการของผู้ป่วย ความถี่ที่เป็น และความรุนแรงของอาการ ยาที่ใช้รักษา เช่น [1]
1. กลุ่มยาต้านฮิสตามีนรุ่นที่ 1 และรุ่นที่ 2 (first- and second-generation histamine H1 antagonist) รูปแบบรับประทาน เช่น chlorpheniramine maleate, cetirizine, fexofenadine ใช้เป็นยาลำดับแรกเมื่อมีอาการจมูกอักเสบภูมิแพ้
2. ยาสเตียรอยด์รูปแบบพ่นจมูก (intranasal corticosteroids) เช่น budesonide, beclomethasone dipropionate, fluticasone propionate เป็นยาเฉพาะที่ หากอาการจมูกอักเสบภูมิแพ้ไม่ดีขึ้น ควรใช้ยากลุ่มนี้ควบคู่กับยาต้านฮิสตามีนรูปแบบรับประทาน
3. กลุ่มยาต้านลิวโคไตรอีน (leukotriene receptor antagonists) เช่น montelukast เป็นยารูปแบบรับประทาน ใช้เมื่ออาการจมูกอักเสบภูมิแพ้ไม่ดีขึ้นหลังจากใช้ยาต้านฮิสตามีน และยาสเตียรอยด์รูปแบบพ่นจมูก
4. กลุ่มยาหดหลอดเลือด (decongestants) ใช้เมื่อมีอาการคัดจมูกร่วมด้วย
.
สำหรับแนวทางของสมาคมแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวของอเมริกา พ.ศ. 2558 ระบุว่า การรักษาโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้จะพิจารณาตามลักษณะอาการของผู้ป่วย ความถี่ที่เป็น และความรุนแรงของอาการ แบ่งได้ดังนี้ [2]
1. กรณีมีอาการน้อยและมีอาการเป็นช่วงๆ (mild intermittent symptoms) ควรใช้ยาต้านฮิสตามีนรุ่นที่ 2 รูปแบบรับประทาน เมื่อมีอาการ
2. กรณีมีอาการปานกลางถึงมากและมีอาการเป็นช่วงๆ (moderate-severe intermittent symptoms) หรือ มีอาการน้อยและมีอาการแบบต่อเนื่อง (mild persistent symptoms) หรือ อาการจมูกอักเสบภูมิแพ้ไม่ดีขึ้นหลังจากใช้ยาต้านฮิสตามีนรุ่นที่ 2 ควรใช้ยาสเตียรอยด์รูปแบบพ่นจมูกซึ่งเป็นยาเฉพาะที่ และหากมีอาการคัดจมูกร่วมด้วย ควรใช้กลุ่มยาหดหลอดเลือด
3. กรณีมีอาการมากและมีอาการแบบต่อเนื่อง (severe persistent symptoms) ควรใช้ยาต้านฮิสตามีนรุ่นที่ 2 ร่วมกับยาสเตียรอยด์รูปแบบพ่นจมูก และยาต้านลิวโคไตรอีน หากมีอาการคัดจมูกร่วมด้วย ควรใช้กลุ่มยาหดหลอดเลือด
.
แนวทางการรักษาโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ของ ARIA พ.ศ. 2563 ระบุว่า การรักษาโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้จะพิจารณาตามความรุนแรงของอาการ เช่น ในกรณีมีอาการน้อยถึงปานกลาง ควรใช้ยาต้านฮิสตามีนรุ่นที่ 2 หรือ ยาสเตียรอยด์รูปแบบพ่นจมูก หรือ ยาสเตียรอยด์รูปแบบพ่นจมูกร่วมกับยาต้านฮิสตามีนรูปแบบพ่นจมูก ส่วนในกรณีที่มีอาการมาก ควรใช้ยายาสเตียรอยด์รูปแบบพ่นจมูก หรือ ยาสเตียรอยด์รูปแบบพ่นจมูกร่วมกับยาต้านฮิสตามีนรูปแบบพ่นจมูก [3]
.
หากใช้ยาดังกล่าวแล้วอาการจมูกอักเสบภูมิแพ้ไม่ดีขึ้น อาจพิจารณาปรับเปลี่ยนการรักษาโดยขึ้นอยู่กับยาชนิดแรกที่ใช้ เช่น 1) หากยาชนิดแรกที่ใช้คือ ยาต้านฮิสตามีนรุ่นที่ 2 จะพิจารณาเปลี่ยนเป็นยาสเตียรอยด์รูปแบบพ่นจมูก หรือ ยาสเตียรอยด์รูปแบบพ่นจมูกร่วมกับยาต้านฮิสตามีนรูปแบบพ่นจมูก 2) หากยาชนิดแรกที่ใช้คือ ยาสเตียรอยด์รูปแบบพ่นจมูก จะพิจารณาเปลี่ยนเป็นยาสเตียรอยด์รูปแบบพ่นจมูกร่วมกับยาต้านฮิสตามีนรูปแบบพ่นจมูก เป็นต้น [3]
.
ทั้ง Telfast, CPM, Zyrtec เป็นยาต้านฮิสตามีนที่จำเพาะกับตัวรับชนิดที่ 1 (histamine H1 antagonist) Telfast มีชื่อสามัญทางยาคือ fexofenadine เป็นยาต้านฮิสตามีนรุ่นที่ 2 มีข้อบ่งใช้บรรเทาอาการภูมิแพ้ที่ทางเดินหายใจส่วนบน เช่น น้ำมูกไหล คันจมูก คันคอ น้ำตาไหลมาก หรือใช้บรรเทาอาการผื่นลมพิษเรื้อรัง [4] CPM คือ chlorpheniramine maleate เป็นยาต้านฮิสตามีนรุ่นที่ 1 มีข้อบ่งใช้สำหรับจมูกอักเสบภูมิแพ้และบรรเทาอาการอื่นๆ ของทางเดินหายใจส่วนบน เช่น น้ำมูกไหล จาม คันจมูก คันคอ คันตา [5] Zyrtec มีชื่อสามัญทางยา คือ cetirizine HCl เป็นยาต้านฮิสตามีนรุ่นที่ 2 มีข้อบ่งใช้สำหรับจมูกอักเสบภูมิแพ้ หรือใช้บรรเทาอาการผื่นลมพิษเรื้อรัง หรือใช้บรรเทาอาการแพ้ชนิดรุนแรง [6] โดยทั่วไป ยาต้านฮิสตามีนรุ่นที่ 1 จะมีอาการข้างเคียงต่อระบบประสาทส่วนกลาง (เช่น ง่วงซึม) มากกว่ายาต้านฮิสตามีนรุ่นที่ 2
.
ตัวอย่างการศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพยาเหล่านี้ เช่น การศึกษาประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยา cetirizine 10 มิลลิกรัม รับประทานวันละครั้ง และยา fexofenadine 120 มิลลิกรัม รับประทานวันละครั้ง เปรียบเทียบกับยาหลอก ในกลุ่มตัวอย่าง 40 รายที่มีอาการจมูกอักเสบภูมิแพ้ตามฤดูกาล (seasonal allergic rhinitis) จากการสัมผัสเกสรดอกหญ้า พบว่า ในวันที่ 1 และวันที่ 2 ของการรักษา ยา cetirizine และ fexofenadine ทำให้อาการทางจมูก (เช่น อาการน้ำมูกไหล คันจมูก คัดจมูก จาม) ดีขึ้นกว่ายาหลอกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และพบว่า ในวันที่ 2 ของการใช้ยา กลุ่มที่ได้รับ cetirizine มีอาการจามดีขึ้นมากกว่ากลุ่มที่ได้รับ fexofenadine อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ [7]
.
โดยสรุป ผู้ที่เป็นโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ การปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสมเป็นสิ่งที่สำคัญ เช่น การหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้เพื่อการป้องกันอาการกำเริบ [1] และล้างจมูกด้วยน้ำเกลือสำหรับล้างจมูก เป็นต้น [2] หากใช้ยาแล้ว อาการที่เป็นอยู่ไม่ดีขึ้น แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินอาการและปรับเปลี่ยนการรักษาให้เหมาะสมต่อไป เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการรักษาและความปลอดภัยในการใช้ยา และไม่ควรปรับเปลี่ยนยาเอง

เอกสารอ้างอิง
[1]. สมาคมแพทย์โรคจมูกแห่งประเทศไทย. แนวทางการพัฒนาการตรวจรักษาโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ในคนไทย (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2554). 2554. สืบค้นเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2565. สืบค้นจาก: http://rcot.org/datafile/_file/_doctor/88b81f499ea324fd1c861b51bbb2fcbd.pdf.
[2]. Sur DK, Plesa ML. Treatment of Allergic Rhinitis. Am. Fam. Physician. 2015 Dec. 1;92(11):985-92.
[3]. Bousquet J, Schünemann HJ, Togias A, et al. Next-generation Allergic Rhinitis and Its Impact on Asthma (ARIA) guidelines for allergic rhinitis based on Grading of Recommendations Assessment, Development and Evaluation (GRADE) and real-world evidence. J. Allergy Clin. Immunol. 2020 Jan.;145(1):70-80.e3.
[4]. Fexofenadine. In: Lexi-drugs online [database on the internet]. Hudson (OH): Lexicomp Inc.: 2022 [updated 24 Nov. 2022; cited 24 Nov. 2022]. Available from: http://online.lexi.com.
[5]. Chlorpheniramine. In: Lexi-drugs online [database on the internet]. Hudson (OH): Lexicomp Inc.: 2022 [updated 17 Nov. 2022; cited 24 Nov. 2022]. Available from: http://online.lexi.com.
[6]. Cetirizine (systemic). In: Lexi-drugs online [database on the internet]. Hudson (OH): Lexicomp Inc.: 2022 [updated 23 Nov. 2022; cited 24 Nov. 2022]. Available from: http://online.lexi.com.
[7]. Horak F, Stübner P, Zieglmayer R, Kavina A, De Vos C, et al. Controlled comparison of the efficacy and safety of cetirizine 10 mg o.d. and fexofenadine 120 mg o.d. in reducing symptoms of seasonal allergic rhinitis. Int. Arch. Allergy Immunol. 2001 May;125(1):73-9.

วันที่ตอบ : 08 ม.ค. 66 - 18:07:10




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110