ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
ผมเป็นภูมิแพ้อากาศอยู่แล้วครับ ช่วงนี้อากาศเปลี่ยนบ่อย อาบน้ำเย็นๆมึดๆสระผม ไม่ส

ผมเป็นภูมิแพ้อากาศอยู่แล้วครับ ช่วงนี้อากาศเปลี่ยนบ่อย อาบน้ำเย็นๆมึดๆสระผม ไม่สบาย เจ็บคอ เสมหะ น้ำมูก เขียวเลยครับ

ไปหาหมอ หมอให้ยา Binozyt 250mg ทานวันละครั้ง ทีละ2เม็ด จำนวน3วัน

แต่ผมใจร้อนกินไป สองวันยังไม่หาย โดยอาการคือ จะมีเสมหะเขียว และอึดอัดจมูกและลำคออยู่ เลยไปหาหมออีก

หมอเลยเปลี่ยนให้ทานยา AMK (Amoxicillin 875 mg+Clavulanic 125mg) ทานวันละ 2 ครั้ง ทีละ1เม็ด จำนวน5วัน

ไอผมใจร้อนไปจริงๆ หมอเขาก็เอายาตัวเก่า(2เม็ดสุดท้ายหรือโด๊สสุดท้าย)คืนไปแล้วด้วย

พอออกจาก รพ.มา รู้สึกว่า อาการใกล้หายแล้ว(ปกติเป็นหนักตอนกลางคืนถึงรุ่งเช้า พอ สั่งน้ำมูกเขียวๆออกหมดก็จะดีขึ้น แต่ผมกลัวว่าถ้ากินโด๊สสุดท้ายไปจะยังไม่หาย เลยไปหาหมออีกรอบ)

สรุปคือ ถ้าผมกินยาตัวใหม่ไปแล้วเนี่ยครับ มันจะทำให้เชื้อดื้อยาอย่างไรมั้ยครับ เพราะทาน Binozyt ไม่ครบ3วัน

และตอนนี้ที่เหมือนจะใกล้หาย(ไม่แน่ใจตัวเองเหมือนกัน เพราะกลางคืนและตอนนอนชอบอึดหัดหายใจไม่ออกมีน้ำมูกเขียวและเสมหะเขียวขัดลำคอ) ถ้าผมใกล้หายจริงๆแล้วทานยาตั้ง 5 วัน มันเหมือนโหดไปสำหรับร่างกายมั้ยครับ เหมือนประมาณว่า หกล้มช้ำนิดหน่อยแต่ไปกินยาคลายเส้น ยาแก้ปวด มากเกินจำเป็น แบบนี้จะเป็นอะไรมั้ยครับ

ส่วนตอนนี้อยากกิน Binozyt โด๊สสุดท้ายก็ไม่ทันแล้วครับ เพราะหมอเอาคืนไปแล้ว และก็เภสัชไม่ขายยาแยกเม็ดด้วย

ตอนนี้ก็เริ่มกิน AMK ใหม่

อยากขอความเห็นคุณเภสัชและหมอว่าเคสอย่างนี้มีอะไรจะแนะนำไหมครับ เพื่อเป็นความรู้แก่ผมและคนอื่นๆที่เข้ามาอ่านด้วยครับ

ปล. ผมหาข้อมูลเกี่ยวกับการเจ็บคอเป็นหวัดมาพอสมควร ส่วนมากจะแนะนำว่า ให้กินน้ำอุ่นๆนอนพักให้เพียงพอ ออกกำลังกาย ทานวิตามินC แต่ผมผู้เป็นภูมิแพ้และหวัดบ่อย ปกติก็ออกกำลังกายเพื่อป้องกันและก็ช่วยได้ระดับหนึ่ง แต่อากาศแบบนี้ หนาวๆเย็นๆ อาบน้ำทีสระผมที ซึ่งร่างกายผมคงไม่ไหวจริงๆ

ดังนั้น ถ้าผมเป็นหวัดเจ็บคอเมื่อไหร่ ยากมากที่จะหายเองครับ เพราะผมทดลองกับตัวเองจริงๆ กินน้ำอุ่นทั้งวัน ออกกำลังกายบ้าง พักผ่อนทั้งวัน บอกเลยว่าผมไม่หายครับ ถ้าผมเป็นคนแข็งแรงปกติทั่วไป บอกเลยว่าน่าจะมีสิทธิ์หายครับ แต่สำหรับผม ไม่ใช่ จริงๆครับ

ขอดักไว้ก่อนนะครับ 5555 เดี๋ยวจะมีมาบอกว่า ไม่ต้องกินไรหรอก พักให้พอ กินน้ำอุ่นๆ

ขอบคุณครับ

[รหัสคำถาม : 45] วันที่รับคำถาม : 23 ม.ค. 63 - 16:29:54 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

อาการเจ็บคอหรือคอหอยอักเสบเฉียบพลัน (acute pharyngitis) เกิดจากหลายสาเหตุรวมทั้งการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย การติดเชื้อไวรัสเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อย[1,2] โดยมีอาการที่พบได้ เช่น เจ็บคอ ไข้ ไอ มีน้ำมูก เยื่อบุตาอักเสบ เป็นต้น[1,2] การรักษาจะรักษาตามอาการ เช่น ใช้ยา paracetamol เพื่อลดไข้หรือบรรเทาปวด ใช้ยากลุ่ม NSAIDs ในการบรรเทาอาการเจ็บคอ[1] ใช้น้ำเกลือล้างจมูก ยาอมที่มียาชาเป็นส่วนประกอบ[2]

ส่วนคอหอยอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรียพบเพียง 5-15%[1,2] โดยแบคทีเรียสาเหตุที่พบบ่อยคือ group A beta-hemolytic Streptococcus (GABHS) หรือ S. pyogenes อาการที่พบได้ เช่น เจ็บคอ ไข้ ต่อมทอนซิลบวมแดงหรือมีจุดหนอง ต่อมน้ำเหลืองโต มีจุดเลือดออกบริเวณเพดานปาก อาจมีไข้ออกผื่นที่เกิดจากเชื้อ streptococcus [1,2] สามารถประเมินได้โดยใช้ centor criteria ซึ่งมีเกณฑ์ดังนี้ 1)ไข้(อุณหภูมิ>38oC) 2)ต่อมทอนซิลมีจุดหนอง 3)ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอโตหรือกดเจ็บ 4)ไม่ไอ ถ้ามีอาการครบทั้ง 4 อาการ มีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย หากมี 2-3 อาการ มีโอกาสติดเชื้อแบคทีเรียปานกลาง และหากมีเพียง 1 อาการ อาการเจ็บคอที่เกิดขึ้นไม่น่าจะเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย[3]

ในกรณีอาการเจ็บคอเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ยาที่แนะนำให้ใช้ในการรักษา ตามแนวทางของของสมาคมโรคติดเชื้อประเทศสหรัฐอเมริกา ปี 2012 (the infectious disease society of america) คือ penicillin V (250 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้งหรือ 500 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้งเป็นเวลา 10 วัน) amoxicillin ( 50 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม วันละครั้ง (ขนาดยาสูงสุด 1000 มิลลิกรัมต่อวัน) หรือ 25 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม วันละ 2 ครั้ง (ขนาดยาสูงสุด 500 มิลลิกรัมต่อครั้ง) เป็นเวลา 10 วัน) หากแพ้ยากลุ่ม penicillins ไม่รุนแรง ยาที่แนะนำให้ใช้ได้แก่ cephalexin หรือ cefadroxil เป็นเวลา 10 วัน แต่หากแพ้ยากลุ่ม penicillins แบบปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรง (anaphylaxis) ยาที่แนะนำให้ใช้ เช่น clindamycin เป็นเวลา 10 วัน azithromycin เป็นเวลา 5 วัน clarithromycin เป็นเวลา 10 วัน [2]

จากคู่มือการดำเนินงานโครงการโรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล (rational drug use hospital manual) ในประเทศไทย แนะนำว่า ยาปฏิชีวนะที่ควรเลือกใช้เป็นลำดับแรก คือ penicillin V เพราะยังไม่พบว่าเชื้อ GABHS ดื้อยากลุ่ม penicillins อาจใช้ amoxicillin (ขนาดยา amoxicillin ที่แนะนำให้ใช้คือ 500 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ) ทั้งนี้ไม่ควรใช้ amoxicillin ขนาด 500 มิลลิกรัม 2 เม็ด วันละ 2 ครั้ง เนื่องจากขนาดยาสูงเกินกว่าขนาดยาที่แนะนำ โดยไม่ได้ประโยชน์เพิ่มขึ้น หากแพ้ยากลุ่ม penicillin ให้ใช้ยา roxithromycin โดยระยะเวลาในการใช้ยาปฏิชีวนะดังกล่าวข้างต้นควรให้นาน 10 วัน[4]เนื่องจากเป็นระยะเวลาที่สามารถกำจัดเชื้อ GABHS ได้สูงที่สุด[2] จากสถานการณ์การดื้อยาในประเทศไทยไม่แนะนำให้ใช้ยากลุ่ม macrolides เป็นยาขนานแรก เพราะเชื้อ GABHS ดื้อยากลุ่มนี้ประมาณร้อยละ 20 และไม่แนะนำให้ใช้ clarithromycin หรือ azithromycin ในการรักษาโรคคอหอยอักเสบเฉียบพลันเพราะเชื้อ GABHS มีโอกาสดื้อยาสองขนานนี้สูงกว่า penicillins และมีความปลอดภัยน้อยกว่าและราคาแพงกว่า roxithromycin นอกจากนี้ยาทั้งสองขนานยังเป็นยาบัญชี ง. ตามบัญชียาหลักแห่งชาติซึ่งควรสำรองไว้ใช้ในกรณีที่จำเป็น[4]

ยา binozyt® มีชื่อสามัญทางยาว่า azithromycin เป็นยาในกลุ่ม macrolides มีข้อบ่งใช้ในการรักษาโรคติดเชื้อที่ไวต่อยานี้ ผลข้างเคียงที่พบได้ (มากกว่า 10%) เช่น ถ่ายเหลว คลื่นไส้อาเจียน และ ท้องเสีย ส่วนยา AMK® ประกอบด้วยยา amoxicillin และ clavulanic เป็นยาในกลุ่ม penicillins มีข้อบ่งใช้ในการรักษาโรคติดเชื้อที่ไวต่อยานี้ ผลข้างเคียงจากการใช้ยาที่พบได้ (มากกว่า 10%) เช่น ท้องเสีย การใช้ยาในระยะยาวอาจทำให้เกิด C.difficile associated diarrhea (CDAD) และ pseudomembranous colitis ได้ [5,6]

การใช้ยาปฏิชีวนะควรใช้เมื่อมีความจำเป็นเท่านั้นและควรใช้ยาติดต่อกันจบครบตามแพทย์สั่ง เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดเชื้อดื้อยา นอกจากนี้การใช้ยาปฏิชีวนะไม่ครบกำหนดอาจส่งผลให้ประสิทธิภาพของยาลดลง โดยทั่วไปอาการเจ็บคอมักเกิดจากการติดเชื้อไวรัสซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะแต่สามารถใช้ยาอื่นๆแทนเพื่อบรรเทาอาการได้

อ้างอิง
1. Frei C, Frei B. Upper Respiratory Tract Infections. In: DiPiro JT, Talbert RL, Yee GC, Matzke GR, Wells BG, Posey LM, editors. Pharmacotherapy: A pathophysiologic approach. 10th ed. New York: McGraw-Hill Education; 2017. p. 1715-8.
2. Shulman ST, Bisno AL, Clegg HW, et al. Clinical Practice Guideline for the Diagnosis and Management of Group A Streptococcal Pharyngitis: 2012 Update by the Infectious Diseases Society of America. Accessed on 13 Jan 2020. Available at: https://watermark.silverchair
.com/cis629.pdf.
3. Lustig LR, Schindler JS. Pharyngitis & Tonsillitis. In: Papadakis MA, McPhee SJ, Rabow MW, editors. Current Medical Diagnosis and Treatment 2020 [internet]. New York, NY: McGraw-Hill; 2020. Accessed on 13 Jan 2020. Availableat:http://accessmedicine.
mhmedical.com/content.aspx
4. คณะอนุกรรมการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล 2558. คู่มือการดำเนินงานโครงการโรงพยาบาล. ส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล(Rational Drug Use Hospital Manual)คณะอนุกรรมการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล. Accessed on 13 Jan 2020. Available at: http://www.fda.moph.go.th/sites/drug/Shared%20Documents
/National-Drug-Policy/06/RDU%20final_220615.pdf.
5. American Pharmacists Association. Drug information handbook.25th ed. Hudson, Ohio: Lexi-Comp; 2016. p.111-5,190-3.
6. McEvoy GK, et al. AHFS drug information. Bethesda: American Society of Health-System Pharmacists, Inc; 2018. p.212-29,294-301


วันที่ตอบ : 23 ม.ค. 63 - 16:34:00




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110