ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
สมุนไพรใบบัวบก

ใบบัวบกสามารถนำมาใช้รักษาแผลเป็นจากสิวโดยเริ่มใช้ตั้งแต่ตอนเป็นสิวอยู่ได้หรือไม่คะ

[รหัสคำถาม : 450] วันที่รับคำถาม : 06 ม.ค. 66 - 12:02:48 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

สิวเป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากการดูแลตนเองของแต่ละบุคคลมีความสัมพันธ์โดยตรงกับฮอร์โมนในร่างกายรวมไปถึงพันธุกรรม มักมีอาการทางคลินิกในช่วงวัยแรกรุ่นและวัยรุ่นเกิดจากมีการกระตุ้นเซลล์ต่อมไขมันที่รูขุมขนบนผิวหนังให้ผลิตน้ำมันออกมาในปริมาณมากกว่าปกติจนทำให้เกิดการสะสมของน้ำมันบนผิวหนัง เกิดการอุดตันของต่อมไขมันและเกิดกระบวนการอักเสบของผิวหนังตามมา ส่งผลให้มีการกระตุ้นการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาวนิวโทรฟิลให้ผลิตสารตัวกลางที่ทำให้เกิดการอักเสบต่างๆ ที่สำคัญคือ สาร cytokines โดยเฉพาะ interleukins ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการสร้างสิวอุดตันขนาดเล็ก (microcomedones) สิวอุดตัน (comedones) ทั้งสิวหัวเปิดและสิวหัวปิด (คอมีโดนขาวและดำ) สิวอักเสบตุ่มนูนแดง (papules) สิวหัวหนอง (pustules) สิวอักเสบขนาดใหญ่ (nodules) และสิวหัวช้าง (cysts) นอกจากนี้สภาพผิวที่มีการเพิ่มขึ้นของต่อมไขมันทำให้มีการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียกลุ่ม Cutibacterium acnes (C. acnes) ได้ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อกลายเป็นสิวอักเสบ[1]

Centella asiatica (ใบบัวบก) มีสารสำคัญที่ออกฤทธิ์คือ asiaticoside, madecassoside, asiatic acid และ madecassic acid สารสกัดจากใบบัวบก (Centella asiatica extract) มีคุณสมบัติสมานแผลและต้านการอักเสบโดยยับยั้งการสร้างสารกระตุ้นการอักเสบ cytokines รวมทั้งกลุ่ม interleukins การศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิผลในการรักษาสิวอักเสบของเจล 5% สารสกัดใบบัวบกกับเจล 1% คลินดามัยซิน (clindamycin) ซึ่งเป็นหนึ่งในยามาตรฐานของการรักษาสิวอักเสบในระดับความรุนแรงน้อยถึงปานกลาง[2] ในอาสาสมัครที่มีอายุ 12-45 ปี ที่มีสิวระดับความรุนแรงน้อยถึงปานกลางจำนวน 30 คน โดยแบ่งซีกใบหน้าเป็นสองข้างและสุ่มเลือกให้ใบหน้าด้านหนึ่งทาเจลสารสกัดจากใบบัวบกและใบหน้าอีกด้านทาเจลคลินดามัยซิน ทาเฉพาะบริเวณที่เป็นสิวอักเสบ 2 เวลาในช่วงเช้าและเย็น เริ่มทาตั้งแต่ตอนที่มีการอักเสบของสิว ติดตามผลการศึกษาโดยประเมินผลจากการนับจำนวนเม็ดสิวและคะแนนระดับความรุนแรงของสิว พบว่า กลุ่มที่ได้รับเจลสารสกัดใบบัวบกมีจำนวนสิวอักเสบและระดับความรุนแรงของสิวน้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับเจลคลินดามัยซินอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเข้าสู่สัปดาห์ที่ 8 และ 12 (p< 0.05) แต่มีความสามารถลดสิวไม่อักเสบได้เทียบเท่ากัน โดยเจลสารสกัดจากใบบัวบก มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย C. acnes ลดการแบ่งตัวของเซลล์ชั้นเคราติน (keratinocytes) และมีฤทธิ์ช่วยสมานแผล

จากการสืบค้นข้อมูลในฐานข้อมูลของเภสัชสนเทศยังไม่พบรายงานการศึกษาทางคลินิกที่ยืนยันประสิทธิภาพในการลดรอยแผลเป็นจากสิวของสารสกัดใบบัวบกโดยตรงพบเพียงรายงานการศึกษาประสิทธิภาพของเจลสารสกัดใบบัวบก 0.05% ในการกระตุ้นการรักษาบาดแผลหลังเลเซอร์และลดภาวะแทรกซ้อนหลังการผลัดผิวด้วยเลเซอร์บนใบหน้าของผู้เข้าร่วมที่มีรอยแผลเป็นจากสิว[3] โดยทาเจลสารสกัดใบบัวบก 4 ครั้ง/วัน พบว่า รอยแผลทั่วไปดีขึ้นในวันที่ 2 , 4 และ 7 หลังการทาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) อย่างไรก็ตามในการทายาติดต่อกันเป็นเวลานานมีข้อควรระวังที่อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองผิวหนังได้
ปัจจุบันในท้องตลาดมีผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากใบบัวบกในปริมาณที่แตกต่างกัน การเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ควรพิจารณาปริมาณสารสกัดใบบัวบกที่มีในผลิตภัณฑ์ว่ามีปริมาณสูงเพียงพอที่จะให้ประสิทธิภาพในการรักษาสิวอักเสบหรือลบรอยแผลสิวได้หรือไม่ นอกจากสารสกัดใบบัวบก ยังมีสารสกัดจากสมุนไพรอื่นที่มีการนำมาใช้เพื่อรักษาสิวอักเสบ สมานหรือลดรอยแผลสิว เช่น ว่านหางจระเข้ (Aloe vera) หอมแดง (Allium cepa) เป็นต้น อย่างไรก็ตามยังไม่มีงานวิจัยที่เปรียบเทียบประสิทธิภาพในการลดการอักเสบและรักษารอยแผลสิวของสารสกัดใบบัวบกกับสารสกัดจากสมุนไพรอื่นๆ ดังกล่าว[1]

เอกสารอ้างอิง
[1]. M. Kanlayavattanakul and N. Lourith. Therapeutic agents and herbs in topical application for acne treatment. International Journal of Cosmetic Science. 2011;33:289–297.doi: 10.1111/j.1468-2494.2011.00647.x.
[2]. ภารดี อินทจันทร์, วิภาเพ็ญ โชคดีสัมฤทธิ์:การศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิผลของเจลสารสกัดใบบัวบก 5% กับเจลคลินดามัยซิน 1% ในการรักษาสิว วารสารการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ 2020;27:1-11.
[3]. W. Damkerngsuntorn et al. The effects of a standardized extract of Centella asiatica on postlaser resurfacing wound healing on the face: A Split-Face, Double-Blind, Randomized, Placebo-Controlled Trial. The Journal of Alternative and Complementary Medicine. 2020;26:529–536. doi: 10.1089/acm.2019.0325.

วันที่ตอบ : 09 ม.ค. 66 - 10:31:31




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110